แล้งจริง ต้องปีหน้า

 แล้งจริง ต้องปีหน้า

สถานการณ์แล้งในเมืองไทย ต้องแก้ปัญหาแบบองค์รวม ไม่ใช่แค่รอฝน



หากจะบอกว่า แล้งปีนี้ อาจไม่มากเท่าแล้งปีหน้า...
นี่คือ ส่วนหนึ่งของการพยากรณ์จากผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ ซึ่งคาดคะเนจากข้อมูลหลายส่วน โดยสิ่งที่เขาตระหนักรู้และย้ำเสมอ ก็คือ ต้องมีการบริหารความเสี่ยงในเรื่องการจัดการน้ำ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม คนไทยก็ต้องเตรียมตัวเตรียมใจ รับกับภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการ ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์พยากรณ์เรื่องน้ำ โดยพยายามใช้ข้อมูลรอบด้านในการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ เพื่อให้เกิดการคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด เพราะปัญหาน้ำครึ่งปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องการจัดการน้ำและการให้ข้อมูลประชาชน ได้สร้างความสับสนไม่ใช่น้อย

จากข้อมูลที่อาจารย์ศึกษาวิเคราะห์หลายมุม เพื่อพยากรณ์น้ำ อาจารย์เสรีบอกว่า "ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ปี2559 จะเริ่มมีปัญหาการใช้น้ำ ถ้าคนไทยไม่ประหยัดน้ำ อาจต้องสูบน้ำกร่อยเข้ามา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังไม่อาจคาดการณ์ได้เต็มร้อย"
แล้วความเสี่ยงในเรื่องการจัดการน้ำ ต้องทำอย่างไร ลองตามอ่าน...

ในความเห็นของอาจารย์ ต้องบริหารความเสี่ยงอย่างไร
ต้องเข้าใจก่อนว่า เมื่อมีภัยแล้งในฤดูฝน พอฝนทิ้งช่วง น้ำที่เป็นต้นทุนที่เรามีอยู่ ก็จะถูกดึงมาใช้ การดึงมาใช้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นเหตุให้เกิดวิกฤติแล้งหนัก ถ้าไม่ดึงน้ำมาใช้ก็ไม่แล้ง กรมอุตุนิยมเคยรายงานว่า ช่วงเวลานั้นฝนจะตก กรมชลฯก็บอกให้ชาวนาปลูกข้าวได้ เมื่อฝนไม่ตก กรมชลฯก็ต้องดึงน้ำมาช่วยเหลือเกษตรกรร้อยเปอร์เซ็นต์ แทนที่จะอาศัยน้ำฝนปกติ โดยทั่วไปการใช้น้ำ จะมีการแบ่งเป็นปริมาณน้ำฝน 70 เปอร์เซ็นต์ และน้ำจากเขื่อน 30 เปอร์เซ็นต์ ปรากฎว่า เราต้องดึงน้ำมาใช้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ปัญหาก็เกิดขึ้น แต่กลายเป็นว่า ประชาชนไม่รู้จะฟังใคร ไม่ว่าฝนจะตกหรือไม่ตก หน้าที่ของรัฐบาลคือ บริหารความเสี่ยง การประเมินเรื่องน้ำ สำคัญมาก อีกอย่างผมคิดว่า หลายหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับการจัดการน้ำ มีปัญหาเรื่องการให้ข้อมูล

ถ้าจะบอกว่า แล้งเพราะการบริหารจัดการน้ำได้ไหม
การคาดการณ์ พยากรณ์ หรือการให้ข้อมูลไม่มีทางที่จะถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก รัฐบาลต้องมีผู้เชี่ยวชาญบริหารความเสี่ยง แต่หน่วยงานรัฐบริหารความเสี่ยงไม่เป็น ซึ่งต่างจากหน่วยงานเอกชนสามารถบริหารจัดการตรงนี้ได้ ผมขอยกตัวอย่างการบริหารความเสี่ยง ถ้าฝนไม่ตกตามที่ประเมินไว้ อาจตกน้อยกว่า 10 20 หรือ 30 40 ...เปอร์เซ็นต์ แล้วจะดำเนินมาตรการอย่างไร ต้องคิดไปเลยว่า ถ้าฝนไม่ตกหรือฝนตก จะมีปริมาณน้ำเหลือให้ใช้อยู่แค่ไหน เพื่อให้คนในพื้นที่ท้ายน้ำได้รู้ว่า ถ้าฝนตก จะระบายน้ำเท่าไหร่ เพราะอาจมีบางพื้นที่น้ำท่วม

เมื่อเกิดปัญหาน้ำแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฝนไม่ตกตามฤดูกาล น้ำในอ่างไม่มี พอถึงฤดูฝน เป็นธรรมดาที่ฝนอาจจะตกหนักในบางพื้นที่ หน่วยงานดังกล่าวต้องประเมินปริมาณน้ำที่จะใช้หน้าแล้งให้ได้ ประชาชนที่อยู่เหนืออ่างไม่มีปัญหาน้ำท่วม แต่ประชาชนท้ายอ่าง จะเจอปัญหาน้ำท่วมบางพื้่นที่ อาทิ พระนครศรีอยุธยา ไม่ใช่เรื่องยากที่จะจัดการ แต่ผมไม่เห็นหน่วยงานที่จะตัดสินใจเรื่องนี้ และทราบมาว่า รัฐได้ตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติแล้ว เมื่อตั้งมาแล้ว การบริหารจัดการ ก็ต้องจัดลำดับความสำคัญของปัญหา

เป็นไปได้ไหม ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญ ?
ขณะนี้่คือ แล้งในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เป็นปัญหาอันดับหนึ่ง แล้วพื้นที่ปลูกข้าวกี่ล้านไร่ของเกษตรกรที่กำลังจะเสียหาย รัฐต้องรีบแก้ไข ก่อนหน้านี้รัฐบอกว่า ห้ามใช้น้ำชลประทาน ทำให้ชาวบ้านเกิดแรงต้าน แต่ละคูคลองที่ปลูกข้าวก็ต้องมีผลผลิต เพราะข้าวตั้งท้องแล้ว เกษตรกรก็ต้องสูบน้ำ จะไปห้ามเขาสูบน้ำไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้เกษตรกรก็ตั้งคำถามว่า น้ำเป็นของใคร

ตอนนี้รัฐก็ไฟเขียวแล้ว ถ้าบอกว่า ไม่ให้ใช้น้ำทางการเกษตร แล้วเอาน้ำมาให้คนกรุงเทพฯใช้ มันไม่ใช่ การใช้น้ำต้องเป็นธรรม รัฐต้องศึกษาว่า จะมีพื้นที่เกษตรที่ไม่ได้ใช้น้ำปริมาณกี่ไร่ และพื้นที่ที่ใช้น้ำปริมาณกี่ไร่ ไม่ต้องมาแย่งน้ำกัน ไม่ใช่เหมารวมว่าต้องเยียวยาทั้งหมด เพราะข้าวเกษตรกรตั้งท้องแล้ว พวกเขาก็จะมีรายได้ไร่ละ 7,500 บาท มากกว่าที่จะเยียวยาไร่ละ 1,000-2,000 บาท แต่ตอนนี้ก็มีการปล่อยน้ำให้เกษตรกรแล้ว

ปัญหาเร่งด่วนที่ต้องทำตอนนี้คือเรื่องใด
รัฐต้องตรวจสอบอย่างละเอียดว่า 1. ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีพื้นที่ไหนที่ปลูกข้าว แล้วต้องให้น้ำ สามารถช่วยเหลือให้เกษตรกรอยู่รอดบนพื้นที่กี่ไร่ และพื้นที่ไหนไม่ได้น้ำ ซึ่งกรณีนี้มีทั้งการแก้ปัญหาระยะสั้น แล้วรัฐจะช่วยเหลือเยียวยายังไง 2. รัฐต้องให้ความมั่นใจว่า น้ำอุปโภคบริโภคที่จะส่งมาให้คนท้ายน้้ำมีเพียงพอไหม ต้องยอมรับว่า หน่วยงานรัฐบริหารจัดการจากปริมาณน้ำฝนตกที่ตกลงมา ไม่ได้บริหารจัดการจากปริมาณน้ำที่มีอยู่ มันเป็นการบริหารที่เปราะบาง รอฝนอย่างเดียว มันไม่ได้ ปกติการพยากรณ์ธรรมชาติว่า ฝนจะตกหรือไม่ตก พยากรณ์จากข้อมูลได้ไม่เกิน 3 วัน จึงกลับมาที่ประเด็นการบริหารความเสี่ยง ต้องทำ 50 เปอร์เซ็นต์ ถ้ากรมอุตุนิยม บอกว่า น้ำจะท่วมบริเวณจุดไหน ก็ต้องบอกกล่าวทำความเข้าใจให้ประชาชนในพื้นที่นั้นรับทราบ

ระยะสั้น รัฐต้องจัดลำดับความสำคัญ ส่วนระยะยาว ถ้าจะจัดการเรื่องน้ำ เกษตรกรและผู้ใช้น้ำต้องปรับตัว ถ้าจะให้เกษตรกรปลูกข้าวแบบเดิม ต้องศึกษาดูว่า พื้นที่นาปี นาปรัง มีปริมาณกี่ล้านไร่ โดยพื้นที่ปลูกข้าวต้องมีผลผลิตเพียงพอต่อผู้บริโภคในประเทศและการส่งออก เกษตรกรเองก็ต้องปรับตัว รัฐก็ต้องสนับสนุนให้ปลูกข้าวพันธุ์ที่ใช้น้ำน้อย ตรงนี้สำคัญกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่และการดึงน้ำจากแหล่งอื่นมาใช้ เราต้องลดปริมาณการใช้น้ำ ทุกคนต้องกลับมาดูตัวเอง

ถ้าจะบอกว่า การให้ข้อมูลในเรื่องการจัดการน้ำไม่ชัดเจนจะได้ไหม
ใช่ เพราะบางพื้นที่เกษตรกรคิดว่า ข้าวที่ปลูกไว้ รอดตายแล้ว จริงๆ แล้วข้าวที่ปลูกและอยู่ใกล้ริมคลองชลประทานทุกเส้นทางรอดตาย คนที่ใช้น้ำต้นคลองจะมีน้ำใช้ แต่ต่ปลายคลองน้ำไปไม่ถึง ซึ่งเรื่องนี้หน่วยงานที่ผมทำงานอยู่ ก็ให้ข้อมูลประชาชน เป็นข้อมูลเปิดเผยอยู่แล้ว แต่อยู่ที่การวิเคราะห์ข้อมูล

ในปีนี้อาจารย์พยากรณ์เรื่องน้ำอย่างไร

อีกสามเดือนข้างหน้า จะมีน้ำเข้ามาประมาณ 1,800-3,600 ล้านลูกบาศก์เมตร จะมีน้ำต้นทุนอยู่ ณ วันที่ 1 พฤศิกายน 2558 น้ำที่เข้ามาน่าจะคล้ายๆ ปีที่แล้ว ซึ่งปริมาณน้ำเท่านี้ ปีหน้าต้องใช้อย่างระมัดระวังมาก เพราะช่วง 6 เดือนน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเดียวก็ใช้ไปปริมาณ 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตร พอถึงหน้าแล้ง ฝนไม่ตก จะบริหารจัดการยาก ซึ่งเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2559 เป็นช่วงที่แล้งจริงๆ โดยฝนจะหมดฤดูกาล 30 ตุลาคม นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนจะไม่มีปริมาณน้ำฝน แม้จะมี ก็ปริมาณน้อย จะแล้งไปถึงเดือนเมษายน 2559 น้ำอาจจะไม่เพียงพอต่อการทำนาปรัง แล้วรัฐจะมีแผนระยะสั้น กลาง และยาว อย่างไร หากเกษตรกรจะไม่ได้ทำนาปรังในปีหน้าอีก รัฐจะสร้างอาชีพอื่นๆ ให้เกษตรกรหรือจะสนับสนุนให้ปลูกพืชกินน้ำน้อยยังไงในช่วงแล้งปีหน้า รัฐต้องคิดแล้ว

แสดงว่า น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคในปีนี้ไม่น่าเป็นห่วง
ใช่ ในปีนี้น้ำสำหรับการอุปโภค บริโภค ไม่น่าเป็นห่วง เป็นธรรมดาของพื้นที่ลุ่มต่ำ ฝนตก น้ำก็ท่วมปกติ ปีนี้ผมไม่กังวลเรื่องน้ำท่วมใหญ่ จะมีน้ำท่วมเป็นจุดๆ ที่เป็นพื้นที่เสี่ยง ปีหน้าไม่แน่ น้ำท่วมใหญ่อาจจะมาก็ได้ ดูแนวโน้มแล้ว อาจต้องระวังตั้งแต่กลางปีหน้า

แต่สำหรับเกษตรกร ทั้งปีนี้และปีหน้า น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ปี2559 จะเริ่มมีปัญหาการใช้น้ำ ถ้าคนไทยไม่ประหยัดน้ำ อาจต้องสูบน้ำกร่อยเข้ามา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเรายังไม่อาจคาดการณ์ได้เต็มร้อย ต้องมีการบริหารความเสี่ยง ผมห่วงสถานการณ์ปีหน้า ผมกังวลว่า ถ้าเกษตรกรไม่ได้ทำสามนาคือ นาปรังปีที่แล้ว นาปีปีนี้ และนาปรัง ปี 59 ถ้าเกษตรกรไม่ได้ทำสามนา เป็นเวลาปีกว่าๆ แล้วเขาจะเอาเงินที่ไหนใช้

ปีหน้าอาจจะมีปัญหาน้ำท่วมใหญ่ ?
ถ้าถามว่าจะเหมือนน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมาไหม บอกไม่ได้เลย ปลายปี 59 ต้องระมัดระวัง คนไทยต้องประหยัดน้ำแล้ว ไม่อย่างนั้นเดือนกุมภาพันธ์ ปีหน้าจะเจอวิกฤติ เพราะปริมาณน้ำน้อย เจอทั้งปัญหาการจัดการและปัญหาธรรมชาติ

ถ้าจะแก้ปัญหาแล้ง ต้องทำอย่างไร
รัฐบาลควรจะมีคณะทำงานที่ไม่ได้เป็นข้าราชการฝ่ายเดียว ควรมีคณะทำงานชุดหนึ่งเพื่อกลั่นกรองมาตรการต่างๆ ที่ฝ่ายข้าราชการเสนอมา แล้วพิจารณาว่า เหมาะสมไหม เหมือนต่างประเทศจะมีผู้เชี่ยวชาญชุดหนึ่งมากลั่นกรอง ประกาศเป็นมติครม.