อาเซียนหนุนไทยแก้ปัญหาสันติวิธี

อาเซียนหนุนไทยแก้ปัญหาสันติวิธี

รมว.ต่างประเทศอาเซียน หนุนไทยแก้ปัญหาสันติวิธี

รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนออกแถลงการณ์ หนุนไทยแก้ปัญหาบนพื้นฐานประชาธิปไตย และหาทางออกวิกฤติการเมืองอย่างสันติ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย "ยิ่งลักษณ์" พ้นสภาพ พร้อมหารือความตึงเครียดในทะเลจีนใต้

ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่จัดขึ้นก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 24 ได้ออกแถลงการณ์ต่อสถานการณ์ทางการเมืองของไทย มีเนื้อหาว่า ขอสนับสนุนการแก้ไขปัญหาในไทยด้วยสันติวิธี โดยเรียกร้องให้ทุกกลุ่มแก้ไขความท้าทายที่เกิดขึ้นด้วยการเจรจาหาทางออก บนพื้นฐานของการเคารพต่อกฎหมายและหลักการในระบอบประชาธิปไตย

แถลงการณ์ ระบุว่า ประเทศสมาชิกอาเซียน ยังคงติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และขอสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อการแก้ไขความท้าทายที่เกิดขึ้นด้วยสันติวิธี ผ่านการเจรจาพูดคุยและบนพื้นฐานของความเคารพต่อกฎหมายและหลักการแห่งระบอบประชาธิปไตย

ในแถลงการณ์ ระบุด้วย ประเทศสมาชิกอาเซียน ขอย้ำจุดยืนเนื้อหาในแถลงการณ์ระดับผู้นำอาเซียนต่อสถานการณ์ทางการเมืองของไทย ที่ได้ออกในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2556 และเน้นย้ำความสำคัญของกระบวนการตามหลักประชาธิปไตย สนับสนุนการประนีประนอม เพื่อนำระบบกฎหมายและความผาสุขกลับคืนมาสู่ประเทศ เพื่อประโยชน์สุขตามเจตนารมณ์โดยรวมของประชาชนคนไทย

นอกจากนี้ แถลงการณ์ยังได้แสดงความมั่นใจต่อความสามารถของไทยที่จะก้าวข้ามความยากลำบากที่กำลังเกิดขึ้นไปได้ในที่สุด โดยประเทศสมาชิกอาเซียน พร้อมจะให้ความช่วยเหลือทุกวิถีทางที่เหมาะสมบนพื้นฐานของกฎบัตรอาเซียนด้วย

หลังจากการประชุมระดับรัฐมนตรีแล้ว ได้มีการประชุมสุดยอดในระดับผู้นำ ซึ่งสำนักข่าวข่าวดีพีเอรายงานว่าสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เสนอให้ที่ประชุมออกแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองในไทย ซึ่งนายพรเทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาลไทยไปเข้าร่วมประชุมอาเซียน ยินดีกับแนวคิดริเริ่มนี้

"เราขอแสดงความซาบซึ้งที่ผู้นำอาเซียนวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์ในไทย โดยเฉพาะสมเด็จฮุน เซน ที่เสนอให้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับกระบวนการทางประชาธิปไตยในไทย" นายพรเทพกล่าว

หารือข้อพิพาททะเลจีนใต้

นอกจากนั้น การประชุมสุดยอดอาเซียนยังเน้นประเด็นหารือเกี่ยวกับข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ โดยการประชุมมีขึ้นไม่กี่วันหลังจากเวียดนามและฟิลิปปินส์เผชิญหน้ากับจีนในน่านน้ำอันเป็นข้อพิพาท จนทำให้นานาชาติเกิดความวิตก

นายกรัฐมนตรีเหงียน ตันดุ่งแห่งเวียดนาม ขอให้อาเซียนประท้วงต่อสิ่งที่เขาระบุว่าเป็น "การละเมิดครั้งร้ายแรง" ของจีนในทะเลจีนใต้ หลังจากความตึงเครียดปะทุขึ้นสืบเนื่องจากการที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งย้ายแท่นขุดเจาะน้ำมันเข้าไปยังพื้นที่ที่รัฐบาลกรุงฮานอยก็อ้างสิทธิเช่นกัน การเคลื่อนไหวดังกล่าวนำไปสู่เหตุการณ์หลายอย่างในน่านน้ำอันเป็นข้อพิพาท โดยเวียดนามกล่าวหาจีนว่าฉีดน้ำและพุ่งเข้าใส่เรือเวียดนาม

"การกระทำดังกล่าวอันตรายอย่างยิ่ง และคุกคามสันติภาพ เสถียรภาพ รวมถึงความมั่นคงและความปลอดภัยทางน้ำโดยตรง" นายเหงียนกล่าว

ก่อนหน้านี้ ในการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ ที่ประชุมได้แสดงความวิตกอย่างมากเกี่ยวกับ "พัฒนาการที่กำลังดำเนินอยู่" โดยในการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศเมื่อวันเสาร์ (10 พ.ค.) ที่ประชุมได้ออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดกลั้นและหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจบั่นทอนสันติภาพและเสถียรภาพในพื้นที่ที่เป็นข้อพิพาท

มีรายงานว่าแถลงการณ์ของอาเซียนสร้างความไม่พอใจแก่รัฐบาลกรุงปักกิ่ง โดยโฆษกกระทรวงต่างประเทศกล่าวว่าข้อพิพาทของจีนในทะเลจีนใต้เป็นข้อพิพาททวิภาคี

ด้านนายมาร์ตี นาทาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ระบุว่าการแสดงอาเซียนแนวคิดร่วมกันของอาเซียนในประเด็นทะเลจีนใต้ ไม่ได้หมายความถึงความไม่เป็นมิตรต่อประเทศใด รวมถึงจีน

เวียดนามชุมนุมต้านจีน

ทั้งนี้ การเผชิญหน้าระหว่างจีนกับเวียดนามในทะเลจีนใต้ จุดกระแสต่อต้านจีนในเวียดนาม โดยเมื่อวานนี้ (11 พ.ค.) มีประชาชนประมาณ 1,000 คนชุมนุมกันครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของเวียดนามเพื่อแสดงความไม่พอใจรัฐบาลกรุงปักกิ่ง ที่กรุงฮานอยและในเมืองใหญ่อีก 2 แห่ง ก่อนหน้านี้เมื่อปลายสัปดาห์นายบัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องให้ทั้งสองประเทศอดกลั้นอย่างถึงที่สุดในประเด็นข้อพิพาททะเลจีนใต้

ผู้สังเกตการณ์มองว่าการตัดสินใจของรัฐบาลกรุงปักกิ่ง ในการย้ายแท่นขุดเจาะ อาจเป็นการตอบโต้ที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามาแห่งสหรัฐ เดินทางเยือนเอเชีย และแสดงการสนับสนุนพันธมิตรของสหรัฐในเอเชียอย่างฟิลิปปินส์กับญี่ปุ่น ซึ่งล้วนมีข้อพิพาททางน้ำกับจีน โดยรัฐบาลกรุงปักกิ่งอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะแทบทั้งหมดในทะเลจีนใต้

ฟิลิปปินส์ ซึ่งขอให้สหประชาชาติตัดสินกรณีข้อกล่าวอ้างของจีนเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ กล่าวว่าคุมตัวลูกเรือชาวประมงจีนไว้ได้ในน่านน้ำอันเป็นข้อพิพาท และประธานาธิบดีเบนิญโญ อคิโนแห่งฟิลิปปินส์ ได้ขอให้ผู้นำอาเซียนรับมือกับการคุกคามที่มากขึ้นจากการที่อ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ พร้อมย้ำว่าสิ่งดังกล่าวกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม จีนต้องการเจรจาโดยตรงกับแต่ละประเทศในระดับทวิภาคีมากกว่า

พม่าเสนอตั้งศูนย์ช่วยเหลือมนุษยธรรม

การรับหน้าที่ประธานการประชุมอาเซียนของพม่าในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่เข้าเป็นสมาชิกมา 17 ปี ขณะที่เมื่อปี 2555 นั้นความน่าเชื่อถือของอาเซียนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเมื่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศไม่มีการออกแถลงการณ์ร่วมเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพราะมีความเห็นแตกต่างกันอย่างมากเกี่ยวกับประเด็นในทะเลจีนใต้ ในครั้งนั้นฟิลิปปินส์ตำหนิกัมพูชา ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของจีน ว่าเป็นต้นเหตุ

ทั้งนี้ ในการเปิดประชุมอาเซียนครั้งนี้ ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง แห่งพม่า เลี่ยงการเอ่ยถึงประเด็นเกี่ยวกับทะเลจีนใต้และเน้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ พร้อมเสนอให้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมระดับภูมิภาค เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรับมือภัยธรรมชาติ และดำเนินการรณรงค์ระดับภูมิภาคเพื่อปลูกป่าชายเลน

ตอนกลางของพม่าได้รับผลกระทบอย่างหนักจากไซโคลนนาร์กิสเมื่อปี 2551 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 138,000 ราย

"ป่าชายเลนไม่เพียงช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น แต่ยังลดผลกระทบจากพายุและน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มแถบชายฝั่งด้วย" ประธานาธิบดีเต็ง เส่งระบุ