พาณิชย์ขานรับคสช.
พาณิชย์ขานรับ คสช. เรียกผู้ผลิตสินค้า 250 รายการหารือวันนี้ ตรึงราคาสินค้าจำเป็น 6 เดือน ด้านเอกชนพร้อมร่วมมือ ยันไม่ปรับราคา
กระทรวงพาณิชย์สั่งตรึงราคาสินค้าจำเป็น 250 รายการ หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งให้หามาตรการดูแลค่าครองชีพ จากก่อนหน้านี้ ได้เร่งจ่ายเงินเงินจำนำข้าวและเร่งจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558
ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ คณะทำงานโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. มอบนโยบายกับกระทรวงพาณิชย์ว่าให้จัดทำมาตรการตรึงราคาสินค้าในส่วนที่มีความจำเป็น เพื่อเป็นมาตรการทางเศรษฐกิจที่จะดูแลปากท้องให้กับประชาชน โดยกรมการค้าภายในจะได้จัดทำนโยบายมาเสนอต่อคสช.อีกครั้งโดยเร็วที่สุด
ขณะที่การใช้วัตถุดิบเพื่อการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์ต่างๆ พล.อ.ประยุทธ์ เห็นว่าควรมีการสนับสนุนให้ใช้วัตถุดิบในประเทศให้มากที่สุด ขณะที่การใช้งบประมาณเพื่อพัฒนาการเกษตรได้ให้นโยบายแก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ไปดูความเป็นไปได้ของการจัดตั้งศูนย์เมล็ดพันธุ์ ในพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศเพื่อเป็นมาตรการในการช่วยเหลือให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรให้ต่ำลง
สำหรับโครงการที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ หัวหน้า คสช.ได้ให้นโยบายว่าให้เอาปัญหาเป็นตัวตั้งและให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมกันดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน รวมทั้งการจัดการปัญหาอื่นๆ ที่จะต้องมีการวางแผนระยะยาว เช่นเรื่องการวางแผนรักษาป่าไม้ การจัดการขยะ เป็นต้น
“หัวหน้า คสช.กล่าวในที่ประชุมว่าที่ผ่านมาได้รับฟังปัญหาจากหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ที่ติดขัดในเรื่องต่างๆ รวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งขณะนี้ปัญหาต่างๆ ที่อยู่ด้านบนของท่านถูกปลดล็อกแล้ว ดังนั้น ขอให้หัวหน้าส่วนราชการ และปลัดกระทรวงทำงานเต็มที่ ให้ดูแลผู้บังคับบัญชาให้ดี อะไรที่เป็นประโยชน์กับประเทศก็เสนอขึ้นมาเพื่อที่จะได้อนุมัติส่วนอะไรที่มีปัญหาก็จะได้รีบแก้ไข” ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าว
พาณิชย์ถกผู้ประกอบตรึงราคา 6 เดือน
นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในวันนี้ (6 มิ.ย.) จะหารือกับผู้ประกอบการสินค้าที่อยู่ในบัญชีดูแลของกระทรวงพาณิชย์ 205 รายการ มาหารือเพื่อขอความร่วมมือตรึงราคาสินค้าตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นระยะเวลา 6 เดือน หรือเริ่มตั้งแต่เดือนมิ.ย.-พ.ย. 2557 เพื่อดูแลภาวะค่าครองชีพให้กับประชาชน รวมถึงจะหารือกับผู้ประกอบการห้างค้าปลีก (โมเดิร์นเทรด) เพื่อขอความร่วมมือตรึงราคาอาหารปรุงสำเร็จ (จานด่วน) ที่จำหน่ายภายในห้างค้าปลีกให้ขายตามราคาแนะนำที่กระทรวงกำหนด
“วันนี้จะคุยกับผู้ประกอบการอย่างเป็นทางการอีกครั้ง เกี่ยวกับการขอความร่วมมือตรึงราคาสินค้า 6 เดือน ตามนโยบายของคสช. ซึ่งกระทรวงฯก็ได้หารือกับผู้ประกอบการบางส่วนแล้วก็ยินดีให้ความร่วมมือ” นางศรีรัตน์ กล่าว
เร่งจัดมหกรรมธงฟ้าราคาถูก10-20%
สำหรับมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับประชาชน จะเร่งดำเนินการจัดมหกรรมธงฟ้า เพื่อนำสินค้าราคาถูกกว่าท้องตลาด 10-20% มาจำหน่ายให้กับประชาชน โดยไม่จำเป็นต้องขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม เพราะกระทรวงฯยังมีงบประมาณเดิมของปี 2557 เหลืออยู่ที่จะนำมาจัดมหกรรมธงฟ้าทั้งประเทศ โดยงานมหกรรมธงฟ้างานแรกจะเริ่มจัดปลายเดือนมิ.ย.นี้ ที่ไบเทค บางนา และในเดือนส.ค.จัดที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี
นอกจากเรื่องการจัดมหกรรมธงฟ้าเพื่อช่วยค่าครองชีพประชาชนแล้ว ยังได้สั่งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งดำเนินการโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าปลีกดั้งเดิม (โชห่วย) เพื่อใช้เป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้าให้กับประชาชน โดยจะต้นลดต้นทุนด้านการจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการโชห่วย ด้วยการตัดขั้นตอนของพ่อค้าคนกลางออก เบื้องต้นอาจจะประสานผู้ผลิตสินค้านำสินค้ามาส่งตรงถึงโชห่วย
ด้านมาตรการแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะกำลังหารือกับหน่วยงานและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการหาข้อสรุป เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำ
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งอีกว่า ได้มีการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในช่วงก่อนการรัฐประหารว่า ตลาดภายในประเทศหดตัว และไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว กำลังซื้อประชาชนลดลงโดยเฉพาะในชนบท นักธุรกิจไม่มั่นใจต่อเศรษฐกิจ ชะลอการลงทุนส่งผลต่อการจ้างงาน ราคาสินค้า ค่าครองชีพสูงขึ้นจากเงินเฟ้อเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 5.62% สูงสุดในรอบ 14 เดือน
ผู้ประกอบการพร้อมตรึงราคาสินค้า
นสพ.บุญเพ็ง สันติวัฒนธรรม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารรับทราบและพร้อมให้ความร่วมมือกับทางคสช.ในการตรึงราคาสินค้าและอาหาร เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากค่าครองชีพ โดยระหว่างนี้ผู้ประกอบการไม่ได้ปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป ส่วนอาหารสดเห็นว่ายังบริหารจัดการต้นทุนได้
นอกจากนี้ ต้นทุนอาหารสัตว์ ที่มีผู้ประกอบการรายใหญ่ 5-6 ราย ผลิตอยู่ในขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณปรับราคาสินค้าขึ้นแต่อย่างใด ทำให้กลุ่มผู้เลี้ยงสุกร ไก่ ยังไม่มีความจำเป็นต้นปรับราคาสินค้า
“ผมเพิ่งคุยไปกับนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เขาบอกว่ายังไม่ขึ้นราคา เพราะยังไม่มีความจำเป็นในช่วงนี้”
นางสาวรุจิรพร ตั้งประพันธ์วงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท มาลีสามพราน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ยังไม่มีแผนปรับขึ้นราคาสินค้า และพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐตรึงราคาสินค้าไปจนถึงเดือนต.ค. นี้
นอกจากนี้ยังเห็นว่าการปรับราคาในช่วงนี้ยังทำได้ยาก เพราะกำลังซื้อผู้บริโภคไม่เอื้อ หากปรับราคาก็จะกระทบต่อยอดขาย
สหพัฒน์-ยูนิลีเวอร์ เบรกราคาสินค้า
นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า เครือสหพัฒน์ยังไม่มีนโยบายปรับราคาสินค้า โดยจะพยายามหาวิธีดูแลต้นทุนและบริหารจัดการด้านต่างๆ เช่น ปรับแพ็คเกจจิ้งให้เหมาะสม อย่างไรก็ตาม หากแบกรับภาระต้นทุนไม่ได้ ก็พิจารณาปรับขึ้นราคาสินค้าอย่างมีเหตุและผล
"นโยบายเราไม่ขึ้นราคา เพราะจะทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน แต่จะหาวิธีการอื่นเพื่อลดต้นทุนแทน"
เช่นเดียวกับ นายอภิชาติ ธรรมมโนมัย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) ในเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า ยังไม่มีแผนจะปรับขึ้นราคาสินค้า แม้ต้นทุนวัตถุดิบจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะวัตถุดิบด้านการเกษตร แต่ยืนยันว่ายังสามารถแบกรับภาระต้นทุนไหวถึงสิ้นปี
ด้าน นายสาโรจน์ อินทพันธุ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายรัฐกิจและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า ยินดีจะให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยในวันนี้ (6 มิ.ย.) จะเข้าไปหารือกับกระทรวงพาณิชย์ถึงความร่วมมือดังกล่าว