Regulator ต้องเป็น Regulator : กับดักแนวคิด NGO ที่บั่นทอนการพัฒนาประเทศ
![Regulator ต้องเป็น Regulator : กับดักแนวคิด NGO ที่บั่นทอนการพัฒนาประเทศ](https://image.bangkokbiznews.com/uploads/images/md/2025/02/xK5z9Rg8bzhZN1IURWPj.webp?x-image-process=style/LG)
"ดร.เสรี"นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร เขียนบทความเรื่อง "Regulator ต้องเป็น Regulator : กับดักแนวคิด NGO ที่บั่นทอนการพัฒนาประเทศ"ชี้บทบาทของผู้กำกับกฎกติกาที่เหมาะสมควรทำอย่างไร
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร เขียนบทความเรื่อง "Regulator ต้องเป็น Regulator : กับดักแนวคิด NGO ที่บั่นทอนการพัฒนาประเทศ" ว่าในโลกธุรกิจและเศรษฐกิจที่ซับซ้อน Regulator คือหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลผู้ประกอบการ ถือว่าเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างสมดุลระหว่างการแข่งขันทางธุรกิจ การคุ้มครองผู้บริโภค และการขับเคลื่อนนวัตกรรมทางเศรษฐกิจ หน่วยงานเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม ควบคู่ไปกับการสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดของแต่ละอุตสาหกรรม และปกป้องประโยชน์ของประชาชน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันปรากฏการณ์ที่น่ากังวลคือ Regulator บางแห่งไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักการที่ควรเป็น แต่กลับแสดงบทบาทเสมือน NGO บางกลุ่มที่มุ่งเน้นการต่อต้านและคัดค้านนวัตกรรมการดำเนินธุรกิจมากกว่าส่งเสริมการพัฒนาการดำเนินธุรกิจในระบบการแข่งขัน ผลที่เกิดขึ้นคืออุตสาหกรรมที่ถูกคัดค้านต่อต้านหยุดชะงักไม่อาจพัฒนาได้ตามบริบทของพลวัตการเปลี่ยนแปลง นักลงทุนไม่กล้าขยายธุรกิจ และสุดท้ายเศรษฐกิจของประเทศเสียโอกาสในการเติบโต
บทบาทที่แท้จริงของ Regulator ทว่าบทบาทที่แท้จริงของ Regulator มีหน้าที่กำกับดูแลเพื่อส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยต้องสร้างกฎเกณฑ์ที่เปิดโอกาสให้ทุกธุรกิจสามารถแข่งขันได้อย่างเสมอภาค ไม่ใช่จำกัดการเติบโตของธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง หรือปิดกั้นการลงทุนโดยไม่มีเหตุผลที่เหมาะสม ในขณะเดียวกันยังต้องสร้างมาตรฐานที่สมเหตุสมผลด้วยการออกกฎระเบียบที่ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ข้อมูลทางเศรษฐกิจ และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในระดับสากล ไม่ใช่เพียงการตอบสนองต่อแรงกดดันจากกระแสสังคมหรือการต่อต้านของ NGO บางกลุ่มที่มีทัศนะที่เป็นลบกับการพัฒนาธุรกิจในบางอุตสาหกรรม
นอกจากนั้นแล้ว Regulator ยังต้องปกป้องสิทธิของผู้บริโภค แต่ต้องไม่ทำให้ภาคธุรกิจแบกรับภาระที่ไม่จำเป็นหรือถูกจำกัดศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการให้บริการที่ดีขึ้น ที่สำคัญ Regulator ต้องตระหนักว่ากฎระเบียบที่เข้มงวดเกินกว่าที่ควรจะเป็นตามหลักธรรมาภิบาล อาจทำให้ประเทศเสียโอกาสในการพัฒนา ในทางกลับกัน นโยบายที่เปิดกว้างและยืดหยุ่นสามารถช่วยดึงดูดการลงทุนและขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์และการให้บริการได้
เมื่อ Regulator เล่นบท NGO เมื่อมาดูบทบาทของ NGO บางกลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันอุดมการณ์เฉพาะด้าน เน้นการปกป้องสิทธิ์เฉพาะกลุ่ม โดยใช้ข้อมูลและการรณรงค์เคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงตามแนวคิดโดยเฉพาะ เมื่อ Regulator เล่นบทเหมือนประหนึ่งเป็น NGO ทำให้การพัฒนานวัตกรรมของบางธุรกิจได้รับความเสียหายที่จะเห็นได้จากการออกกฎเกณฑ์ที่จำกัดการขยายตัวของอุตสาหกรรม เช่น การกำหนดข้อบังคับที่ล้าสมัย หรือการบังคับใช้กฎระเบียบโดยไม่พิจารณาผลกระทบในระยะยาว
การมองประเด็นต่างๆไม่ครบทุกมิติ ไม่ใช้ความคิดแบบบูรณาการหลายองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง เช่น บางประเทศที่มีการควบคุมภาคโทรคมนาคมอย่างเข้มงวดเกินไป ทำให้ต้นทุนของผู้ให้บริการสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าบริการแพงขึ้นและประชาชนไม่ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ ๆ และยังอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนในภาพรวม และจะส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติที่อาจสนใจลงทุนในประเทศนั้นๆ มองว่าประเทศที่มีกฎระเบียบที่ไม่แน่นอนและเข้มงวดเกินความพอดีเป็นความเสี่ยง ส่งผลให้มีการย้ายเงินทุนไปลงทุนในประเทศอื่น
ลักษณะนี้มีตัวอย่างให้เห็นในอินเดียที่เคยมีปัญหาด้านนโยบายกำกับดูแลในภาคโทรคมนาคม ซึ่งส่งผลให้บริษัทต่างชาติถอนการลงทุนออกไปและเลือกลงทุนในตลาดที่ Regulator มีบทบาทของการกำกับดูแลการแข่งขันในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างเหมาะสม เพราะจะทำให้ธุรกิจในอุตสาหกรรมนั้น ๆ มีเสถียรภาพกว่า นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ Regulator บางแห่งพยายามควบคุมราคาหรือจำกัดการแข่งขันโดยไม่คำนึงถึงกลไกตลาด ทำให้เกิดผลเสียต่อผู้บริโภคในระยะยาว บางประเทศในยุโรปที่มีกฎระเบียบที่เข้มงวดเรื่องราคาพลังงาน ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนพลังงานและต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ดังนั้น Regulator จะต้องหาจุดสมดุลในระหว่างการออกกฎระเบียบในการกำกับดูแลการแข่งขันที่เป็นธรรมของอุตสาหกรรมต่าง ๆ กับการสร้างโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมของอุตสาหกรรม
ตัวอย่างประเทศที่มี Regulator ที่มีประสิทธิภาพ
ถ้าเราลองไปดูตัวอย่างประเทศที่มี Regulator ที่มีประสิทธิภาพและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ สหรัฐอเมริกา มีหน่วยงาน Federal Communications Commission (FCC) เป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมของสหรัฐฯ ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการแข่งขันและการพัฒนานวัตกรรมให้เกิดสิ่งใหม่ที่ดีกว่า เช่น การเปิดตลาด 5G ให้กับผู้ให้บริการหลายรายแข่งขันกันอย่างเสรี ทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี 5G หรือถ้ามองประเทศใกล้ตัวเราอย่างสิงคโปร์ มีหน่วยงาน Infocomm Media Development Authority (IMDA) ใช้แนวทางกำกับดูแลที่เรียกว่า “Regulation with Innovation” เป็นการกำกับดูแลที่ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการเติบโตของอุตสาหกรรม เช่น การสนับสนุนสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี และการให้ใบอนุญาตแบบยืดหยุ่นเพื่อเร่งการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ จะเห็นว่าการกำกับดูแลที่สมดุลและมีประสิทธิภาพนั้น Regulator ต้องมีแนวทางปฏิบัติที่เป็นสากล วางบทบาทเป็นกลาง โปร่งใส ปราศจากแรงกดดันทางการเมืองหรืออุดมการณ์ใด ทำหน้าที่ออกกฎระเบียบที่มีพื้นฐานจากข้อมูล ไม่ใช่ดำเนินการไปตามกระแสทางสังคม แต่ต้องวางแนวทางที่สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ ธุรกิจ และประชาชน เพื่อลดข้อขัดแย้ง และนำไปสู่การสร้างแนวทางที่สมดุลระหว่างการกำกับดูแลและการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ
ดังนั้นหากจะทำให้ประเทศไทยขับเคลื่อนไปได้ทันในโลกยุคนี้ Regulator ต้องวางบทบาทให้ถูกต้องตามหลักสากล ไม่เล่นบทบาทผิดพลาดทำงานเหมือน NGO บางกลุ่มที่เน้นการรักษาสิทธิ์ของคนเฉพาะกลุ่ม โดยขาดการคิดเชิงระบบที่จะต้องมองประเด็นต่างๆให้ครบมิติ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อประเทศในระยะยาว เพราะการกำกับดูแลที่ดีต้องสร้างสมดุลระหว่างการคุ้มครองผู้บริโภค การส่งเสริมการแข่งขัน และสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรม Regulator บางสำนักลองทบทวนตัวเองดูว่า ขณะนี้ทำหน้าที่เป็น Regulator ตามหลักการของสากลหรือทำหน้าที่เหมือน NGO บางกลุ่มที่เน้นการรักษาสิทธิ์เฉพาะกลุ่มจนกลายเป็นการขัดขวางโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมของอุตสาหกรรมต่างๆที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนที่เป็นผู้บริโภค และเป็นธรรมกับผู้ประกอบการ