'ปธ.สถาบันสร้างชาติ' แนะ 'รัฐบาล' เพิ่มโควตาคนจน ในโครงการบ้านเพื่อคนไทย

'ปธ.สถาบันสร้างชาติ' แนะ 'รัฐบาล' เพิ่มโควตาคนจน ในโครงการบ้านเพื่อคนไทย

"เกรียงศักดิ์" แนะ "บ้านเพื่อคนไทย" ต้องพัฒนาครบวงจร หนุนให้โควตาคนจนได้สิทธิมีบ้าน เสริมระบบคัดกรองโปร่งใส พร้อมมมองควรออกแบบเพื่อความยั่งยืน

นายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์  ประธานสถาบันการสร้างชาติ และนักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา กล่าวถึง นโยบายบ้านเพื่อคนไทย ว่า เป็นความพยายามที่ดีของรัฐบาลต่อการสร้างโอกาสเข้าถึงที่อยู่อาศัยของคนที่ยังไม่มีบ้าน เป็นการใช้ประโยชน์จากที่ดินรัฐ และกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่โครงการจะบรรลุวัตถุประสงค์ และคุ้มค่าได้ ต้องปรับปรุงรายละเอียด เพื่อให้โครงการล้มเหลว ทั้งนี้โครงการดังกล่าว กลุ่มเป้าหมายไม่ใช่คนยากจนหรือผู้มีรายได้น้อย เพราะเน้นตอบสนองกลุ่มคนวัยทำงานที่ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย และมีรายได้ไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อเดือนซึ่งเป็นรายได้ค่อนข้างสูง ขณะที่การสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ถึง 1 แสนยูนิต อาจทำให้เกิดซัพพลายบ้านล้นตลาด และแย่งกลุ่มลูกค้าบางเซ็กเมนต์ในตลาดอสังหาริม ทรัพย์ ซึ่งเป้าหมายการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจไม่บรรลุผลมากนัก แต่เป็นเพียงการย้ายการซื้อบ้านจากโครงการของเอกชนมาสู่โครงการรัฐแทน
 
“ผมเสนอว่า การใช้ประโยชน์จากที่ดินของรัฐเป็นแนวคิดที่ดี แต่การจะดำเนินการอย่างไร รัฐบาลควรมีการประเมินเปรียบเทียบทางเลือกต่าง ๆ ของการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างรอบคอบและคุ้มค่าที่สุด เพราะการดำเนินโครงการนี้หมายความว่า จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้นานถึง 99 ปี ทั้งนี้รัฐควรพิจารณายุทธศาสตร์ภาพรวมของที่ดินรัฐและเอกชนทั้งประเทศว่า ที่ดินบริเวณไหนควรใช้ประโยชน์อย่างไร จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด มีการบูรณาการการใช้ประโยชน์พื้นที่ต่าง ๆ อย่างสอดประสานกันและคำนึงถึงทิศทางการเติบโตของเมืองอย่างรอบคอบ ไม่ใช่พิจารณาแบบแยกส่วนหรือเฉพาะหน้า” นายเกรียงศักดิ์กล่าว

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลควรวางแผนให้เกิดการพัฒนาย่านเศรษฐกิจใหม่ เนื่องจากที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง โดยเฉพาะ กม.11 รัฐควรวางแผนการพัฒนาให้เกิดประโยชน์หลายด้าน ทั้งการสร้างที่อยู่อาศัย การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะที่ครอบคลุม ทั้งการศึกษาเรียนรู้ การดูแลสุขสภาพ การพักผ่อนหย่อนใจ การจับจ่ายใช้สอย การปฏิสัมพันธ์ของคน เพื่อลดต้นทุนการอยู่อาศัยและเดินทางของคนรายได้น้อย และทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อพื้นที่รอบข้างอย่างกว้างขวาง  

"เงื่อนไขการคัดกรองคนที่จะได้รับสิทธิการเข้ามาอาศัยในโครงการนี้ ควรมีการแบ่งโควตาให้กับคนกลุ่มรายได้ต่าง ๆ เพราะการกำหนดเกณฑ์รายได้ไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อเดือน อาจทำให้คนรายได้สูงมีโอกาสได้รับสิทธิมากกว่ากลุ่มคนรายได้น้อย การสร้างระบบคัดกรองที่โปร่งใส และสร้างทางเลือกในการเข้าถึงที่อยู่อาศัย เช่น การขยายเวลาในการผ่อนบ้านเพื่อให้ค่าผ่อนบ้านต่อเดือนลดลง การเพิ่มทางเลือกในการเช่าซื้อแบบได้กรรมสิทธิ์ และการป้องกันการจองบ้านราคาถูก เพื่อนำไปขายต่อเพื่อเก็งกำไร" นายเกรียงศักดิ์ กล่าว

ประธานสถาบันการสร้างชาติ กล่าวด้วยว่าโครงการดังกล่าวควรนำแนวคิดชุมชนยั่งยืนด้วยตัวเอง หรือ SSC: Self-Sustained Communityไปใช้ในชุมชนด้วย เช่น การออกแบบให้มีแหล่งผลิตอาหารในชุมชน หรือสวนครัวของชุมชน เพื่อเป็นแหล่งอาหารในชุมชนในยามวิกฤต และช่วยลดค่าครองชีพในยามปกติ ทั้งนี้ตนขอชมเชยรัฐบาลที่คิดมาได้ดีพอสมควร แต่หากเป็นไปได้ ขอให้เพิ่มทางเลือกในการใช้เงินที่จะช่วยประชาชนทุกกลุ่มให้ทั่วถึง และเกิดประโยชน์อย่างครบวงจร.