จี้ยกเครื่องสิ่งแวดล้อมหัวหิน

จี้ยกเครื่องสิ่งแวดล้อมหัวหิน

(รายงาน) จี้ยกเครื่องสิ่งแวดล้อมหัวหิน "ชายหาดหาย-ขยะล้น" ฉุดท่องเที่ยว

แม้ว่าการท่องเที่ยวไทยจะมี “จุดแข็ง” ด้านแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายและสวยงามได้เปรียบคู่แข่ง แต่สิ่งที่เป็นปัญหาควบคู่มาต่อเนื่อง คือ การจัดการแหล่งท่องเที่ยว ที่มักจะส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงกรณีของชายหาดทะเลชะอำ-หัวหิน ที่ปัจจุบันไม่เหลือพื้นที่ชายหาด เพราะปัญหาการถูกกัดเซาะซึ่งเกิดจากสิ่งปลูกสร้างที่ขัดต่อธรรมชาติของท้องทะเลเกิดขึ้นมา

ปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และกรรมการผู้จัดการโรงแรมเดอะรีเจ้นท์ ชะอำ กล่าวว่า พื้นที่ชะอำและหัวหิน ทำรายได้ด้านท่องเที่ยวเป็นอันดับ 4 ของประเทศ แต่วันนี้เริ่มสูญเสียความน่าสนใจในฐานะจุดหมายท่องเที่ยวทางทะเล เพราะแนวริมทะเลกว่า 16 กม. แทบไม่มีชายหาดเหลืออยู่ เนื่องจากการระดมสร้างเขื่อน, สะพานปลา หรือท่าเทียบเรือก่อนหน้านี้ ที่อาจไม่มีการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม จึงมีผลด้านการขัดขวางทิศทางของน้ำทะเลไม่ให้เกิดการซัดเข้า-ออกตามที่ควรจะเป็น และส่งผลทำให้ชายหาดที่เคยมีอยู่หายไป

ดังนั้น ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงได้เข้าหารือกับกรมเจ้าท่า เพื่อนำเสนอปัญหาและขอความชัดเจนเรื่องทิศทางในการแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะปัจจุบันเห็นได้ชัดว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาก็เริ่มตระหนักถึงปัญหานี้ และอาจตัดสินใจ “ไม่เดินทางมาซ้ำ” หากธรรมชาติในพื้นที่ยังไม่กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม

เช่นเดียวกับ อัญชลิกา กิจคณากร ประธานกรรมการ อลีนตา รีสอร์ท ปราณบุรี ที่เปิดเผยว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว และทำให้รีสอร์ทไม่ต่ำกว่า 10 แห่งที่ชายหาดหัวหินได้รับผลกระทบ เนื่องจากการสร้างเขื่อนและตัดถนนเส้นใหม่ริมชายหาด มีผลทำให้ทิศทางกระแสน้ำเปลี่ยน และยังส่งผลต่อเนื่องกับสังคมสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ทั้งในส่วนของชุมชนชาวประมงที่ไม่มีชายหาดเทียบเรือ เพราะติดพื้นที่เขื่อนกั้น

และการสร้างถนนขึ้นมายังเป็นเส้นทางที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพราะไม่ได้เชื่อมต่อกับถนนสายใดเป็นพิเศษ ทำให้ไม่เกิดประโยชน์ในแง่การคมนาคมที่แท้จริง อีกทั้งบริเวณดังกล่าวมีถนนสายหลักอยู่แล้ว เมื่อไม่มีเกิดการใช้งานต่อเนื่อง จึงมีปัญหาด้านการดูแลรักษาความสะอาดและการดูแลให้อยู่ในสภาพดี กลายเป็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ต่อเนื่องอีก เพราะขยะที่ถูกสะสมบนถนนที่สร้างขึ้นมาใหม่ก็จะถูกซัดลอยลงไปในทะเลสร้างมลพิษอีกทาง

“เป็นห่วงเรื่องสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ อ.หัวหิน ที่เริ่มส่งผลกระทบในวงกว้าง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเศรษฐกิจท่องเที่ยว แต่ยังเป็นปัญหาต่อชุมชน และมีผลต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมตามมา ขณะนี้พบว่ามีรีสอร์ทหลายแห่งในบริเวณนั้นที่ไม่มีหน้าชายหาดอีกแล้ว ส่งผลโดยตรงทำให้ลูกค้าต่างชาติที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเริ่มลดน้อยลงไปด้วย”

อัญชลิกา กล่าวว่า ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าดูแลแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน เพราะเชื่อว่าในส่วนองค์กรปกครองท้องถิ่นมีงบประมาณที่เพียงพออยู่แล้ว แต่การก่อสร้างโครงการใดๆ ควรคำนึงต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงอาจพิจารณาหารือกับผู้ประกอบการในพื้นที่ก่อนจะดำเนินโครงการสาธารณะใดๆ ว่าจะมีประโยชน์ในแง่ความต้องการใช้งานจริงหรือไม่

ทั้งนี้ ปมปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมถือว่ายังเป็นปัจจัยลบที่ซ้ำเติมต่อเนื่องจากเศรษฐกิจท่องเที่ยวในปีนี้ ที่มีแนวโน้มอยู่ในภาวะ “ชะลอตัว” ยาวตลอดปีนี้แน่นอนแล้ว เป็นผลโดยตรงจากการเมืองที่ยืดเยื้อก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคงอยู่ภายใต้ “กฎอัยการศึก” ที่มีผลโดยตรงการตัดสินใจของนักท่องเที่ยว ทำให้ธุรกิจโรงแรมต้องทำใจว่าอาจจะต้อง “ตั้งต้นใหม่” รอฟื้นตลาดอีกครั้งในปีหน้าเมื่อไทยไม่มีกฎอัยการศึกแล้ว

“อัตราเข้าพักเฉลี่ยที่ดีที่สุดในปีนี้อาจจะอยู่ที่ราว 70-80% เท่านั้น ขณะที่ราคาห้องพักเฉลี่ยของโรงแรมทั่วประเทศก็มีแนวโน้มลดลงไม่ต่ำกว่า 10-15% เพราะทุกแห่งต้องดึงลูกค้าเข้ามาเสริมรายได้เพื่อให้พนักงานยังคงมีงานทำต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าผลกระทบครั้งนี้จะหนักกว่าช่วงปัญหาการเมืองที่ผ่านมา โดยเฉพาะผลกระทบจากตลาดยุโรป ที่คุ้นเคยกับปัญหาการเมืองในไทยในช่วงที่มีประท้วง เพราะถือเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่เกิดขึ้นทั่วไป แต่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะไม่พร้อมเสี่ยงเข้ามาหากมีกฎอัยการศึก” อัญชลิกา กล่าว