อัตลักษณ์หัตถกรรมไทย
'ดร.การดี' วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรม พร้อมทั้ง "คำตอบ" ให้รู้ว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จคืออะไร
* การดี เลียวไพโรจน์
Assistant Professor Karndee Leopairote, Ph.D.
Operations Management Department
Thammasat Business School
Facebook / Twitter: karndee
www.karndee.com
คงไม่สายเกินไปที่จะบอกว่าสวัสดีปีใหม่นะคะ ช่วงเทศกาลปีใหม่ เป็นเทศกาลแจกและรับของขวัญของใครหลายคนทั้งที่ถูกใจและจำใจรับไปปนๆกัน ใครที่เคยได้ของขวัญที่ผู้ให้บอกว่าเป็นงานหัตถกรรมชิ้นเลิศ ที่จะทิ้งก็เกรงใจคนให้ ครั้นจะเก็บไว้ ก็ไม่รู้จะเอาไปซุกที่ส่วนไหนของบ้านดี ดิฉันคิดว่า คุณไม่ใช่คนเดียวที่คิดเช่นนี้ค่ะ
อุตสาหกรรมงานฝีมือและหัตถกรรมของไทยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มเฉลี่ยราว 3 แสนล้านต่อปี ทำให้เกิดมูลค่าการจ้างงานราว 4.9 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.97 ของการจ้างงงานทั้งประเทศ ตลาดที่สำคัญยังเป็นตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดในอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่ซื้อเพื่อใช้ส่วนตัวและซื้อเพื่อใช้ตกแต่งสถานที่ อย่างไรก็ตามการบริโภคภายในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ
ขึ้นชื่อว่างานฝีมือและหัตถกรรม ส่วนใหญ่จะเป็นงานทำมือที่พยายามยัดเยียด “วัฒนธรรม” ของตัว มากกว่าคุณค่าของการใช้สอย ซึ่งในปัจจุบันเราจะเห็นว่าผู้ประกอบการงานฝีมือและหัตถกรรมที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ ไม่ได้ต้องการยัดเยียดวัฒนธรรมพื้นถิ่นหรืออัตลักษณ์ของตัวเท่านั้น แต่พยายามสร้างความสมดุลกับความต้องการของตลาดและประโยชน์การใช้สอย
ดิฉันได้มีโอกาสลงพื้นที่วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมงานฝีมือและหัตถกรรม พบว่าแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการนั้น สามารถแบ่งที่มาของแนวคิดได้ 2 องค์ประกอบ คือ องค์ประกอบที่ 1 การพัฒนาผลิตภัณฑ์บนพื้นฐานของการใช้มรดกทางวัฒนธรรม (Cultural Asset) และองค์ประกอบที่ 2 การพัฒนาผลิตภัณฑ์บนพื้นฐานของการใช้ข้อมูลความต้องการจากกลุ่มผู้บริโภค (Market Oriented)
จากองค์ประกอบเหล่านี้ สามารถจำแนกกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมงานฝีมือและหัตถกรรมได้เป็น 3 กลุ่มด้วยกัน ซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีปัจจัยแห่งความสำเร็จที่แตกต่างกัน
กลุ่มที่ 1 Cultural Intensive Product (CIP) หมายถึง กลุ่มผู้ประกอบการที่เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์บนพื้นฐานของการใช้มรดกทางวัฒนธรรม ปัจจัยแห่งความสำเร็จสำหรับของผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ประกอบไปด้วย ความสามารถในระบุและการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายที่ชัดเจน การบริหารจัดการด้านทรัพย์สินทางปัญญา และการจัดการทักษะและฝีมือแรงงาน ผู้ประกอบการงานฝีมือและหัตถกรรมในบ้านเราส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มนี้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะปัจจัยแห่งความสำเร็จด้านการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคแบบ Niche คือจุดอ่อนที่สำคัญของผู้ประกอบการเหล่านี้และเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกมาจนถึงทุกวันนี้
กลุ่มที่ 2 Culture & Market Integrated Product (CMIP) คือ ผู้ประกอบการที่ผสมผสานแนวคิดของการใช้พื้นฐานมรดกทางวัฒนธรรมร่วมกับข้อมูลความต้องการจากผู้บริโภค เช่น ศิลาดล ชามตราไก่ธนบดี ปัจจัยแห่งความสำเร็จสำหรับผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ประกอบไปด้วย การพัฒนาศักยภาพด้านการออกแบบ การวิจัยและพัฒนาเพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และการพัฒนาศักยภาพด้านการสื่อสารการตลาด (Marketing Communication)
กลุ่มที่ 3 Market Oriented Product (MOP) คือ กลุ่มผู้ประกอบการที่ใช้ข้อมูลความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นหลัก ซึ่งไม่จำเป็นที่ต้องมีลักษณะจำเพาะ อย่างเช่น NARAYA และ PATRA ปัจจัยแห่งความสำเร็จสำหรับผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ประกอบไปด้วย การบริหารกระบวนการผลิตเพิ่มประสิทธิภาพและการจัดการต้นทุน การบริหารช่องทางการจัดจำหน่ายและการกระจายสินค้า และการพัฒนาศักยภาพด้านการออกแบบ
ความต่างของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดียวกัน นำมาซึ่งความต้องการในการวางกลยุทธ์และแนวทางสนับสนุนของภาครัฐที่แตกต่างกัน ทั้งสามกลุ่มนี้ ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มใดเหนือกว่า แต่เป็นแนวทางในการวิเคราะห์ตัวเองในการเร่งพัฒนาปัจจัยแห่งความสำเร็จเหล่านั้นให้ถูกจุด