เห็ดหลินจือยับยั้งมะเร็งแต่'ต้องห้าม'
กังขากันมานานกับ เห็ดหลินจือกับการยับยั้งเซลล์มะเร็ง แม้ว่าผลการศึกษาจะออกมาในเชิงบวก แต่แพทย์ด้านเคมีบำบัดติดเบรกว่าไม่ควรใช้ขณะรักษา
กังขากันมานานกับ เห็ดหลินจือกับการยับยั้งเซลล์มะเร็ง แม้ว่าผลการศึกษาจะออกมาในเชิงบวก แต่แพทย์ด้านเคมีบำบัดติดเบรกว่าไม่ควรใช้ขณะรักษาด้วยยาเคมีบำบัด
นพ.สมชัย นิจพานิช อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับ 11 ภาคีดำเนินการศึกษาวิจัยเห็ดหลินจือและสปอร์เห็ดหลินจือในประเทศไทยที่มีผลต่อการต้านมะเร็ง
ผลการศึกษา พบว่าเห็ดหลินจือมีสารสำคัญเป็นสารกลุ่มโพลีแซ็กคาไรด์ มีฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกัน ช่วยให้จิตสงบ เป็นยาระบายอ่อนๆ และสารกลุ่มไทรเทอร์ปีน เป็นสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง พบมากในส่วนสปอร์ และสปอร์ที่กะเทาะผนังหุ้มมีสารสำคัญและฤทธิ์ทางยาดีกว่าสปอร์ที่ไม่กะเทาะผนังหุ้มหลายเท่า ทั้งยังพบว่าสารสกัดดอกเห็ดและสปอร์มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี ไม่เป็นพิษต่อเซลล์ปกติที่ไม่ใช่มะเร็ง
ส่วนการศึกษาฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งของสารสกัดเห็ดหลินจือและสปอร์เห็ดหลินจือในหลอดทดลองทำให้เซลล์มะเร็งตายได้นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอผลการวิจัยทางคลินิกในผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คาดว่าผลการวิจัยจะเสร็จสิ้นเร็วๆ นี้
นพ.สมชัย กล่าวอีกว่า สำหรับการใช้เห็ดหลินจือกับผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทย เน้นด้านการส่งเสริมสุขภาพเป็นหลัก เช่น การใช้เห็ดหลินจือต้มดื่มแทนน้ำ ประชาชนสามารถทำได้เอง โดยวิธีต้มง่ายๆ ใช้ดอกเห็ดหลินจือฝานบางๆประมาณ 2-3 ชิ้น ต้มในน้ำเดือดนาน 10-15 นาที ใช้ดื่มแทนน้ำได้ตลอดเวลา ให้มีรสขมบ้างเล็กน้อย สรรพคุณช่วยให้สดชื่น เสริมภูมิต้านทาน ไม่เกิดอันตรายต่อสุขภาพ
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เห็ดหลินจือที่ผลิตภายในประเทศ และที่นำเข้าจากต่างประเทศ ในรูปแบบต่างๆ รวมถึงระบบขายตรง ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เห็ดหลินจือ ผู้บริโภคควรมีหลักการในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากแหล่งการผลิตและการแปรรูปที่ได้มาตรฐาน เช่น มีฉลากกำกับและบอกถึงส่วนประกอบและปริมาณของผลิตภัณฑ์ รูปแบบของบรรจุภัณฑ์ที่บรรจุสามารถกันความชื้นได้ดี ผ่านการรับรองและการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งสามารถดูข้อมูล ยาเห็ดหลินจือและสปอร์เห็ดหลินจือที่ผ่านการขึ้นทะเบียนกับอย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th
นพ.ภัทรพงศ์ พรโสภณ นายแพทย์ชำนาญการกลุ่มงานเคมีบำบัด สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อในเรื่องของโรคมะเร็งที่ไม่ถูกต้อง เช่น บางคนเชื่อว่าการรับประทานผักเยอะๆ จะไม่ทำให้เซลล์มะเร็งโต ถือว่าเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะหากไม่รับประทานเนื้อสัตว์เลยอาจจะทำให้เกิดโรคโลหิตจางขึ้นมาด้วย
ขณะเดียวกันการรับประทานเนื้อสัตว์ก็ควรระวัง โดยไม่รับประทานเนื้อสัตว์ประเภทปิ้งย่างจนดำเกรียม เพราะไขมันในสัตว์ที่ถูกไหม้จนเกรียมจะทำให้เกิดสารก่อมมะเร็งได้ และยิ่งรับประทานซ้ำบ่อยครั้ง โอกาสเสี่ยงต่อโรคก็จะสูงตามไปด้วย
"การใช้สมุนไพรรักษามะเร็ง หากผู้ป่วยรายใดจะใช้ อยากขอแนะนำให้ศึกษาอย่างละเอียด รวมถึงดูว่ามีงานวิจัยรองรับด้วยหรือไม่ เพราะสมุนไพรบางชนิดแม้ว่าจะมีสรรพคุณในการเพิ่มภูมิต้านทานโรค เช่น เห็ดหลินจือ หญ้าปักกิ่ง แต่เมื่อมีการนำไปใช้ร่วมกับการรักษาทางเคมีอาจจะส่งผลเสียต่อผู้ป่วยได้ โดยจะทำให้จำนวนเม็ดเลือดขาวในผู้ป่วยต่ำ และไม่สามารถให้ยาในการรักษา" นพ.ภัทรพงศ์กล่าว
เช่นเดียวกับยาสมุนไพรอื่นๆ ที่มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งและเพิ่มภูมิต้านทานโรค ยังไปลดทอนประสิทธิภาพของยาเคมี ทำให้การรักษาไม่ได้ผลเท่าที่ควรจะเป็น รวมทั้งสมุนไพรรางจืดที่มีสรรพคุณล้างพิษหรือของเสียตกค้างในร่างกาย แพทย์ไม่แนะนำให้ใช้กับผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษา
นอกจากนี้ สมุนไพรกับมะเร็งมีการโฆษณาชวนเชื่อในรูปแบบต่างๆ ซึ่งคนขายมักจะนำเสนอความจริงเพียงครึ่งเดียว ส่วนความจริงที่เหลือ ผู้บริโภคจะต้องพิจารณาไตร่ตรองและตั้งข้อสังเกตด้วยตัวเอง ยกตัวอย่าง การอ้างอิงผลการวิจัยที่มักจะนำเสนอยาวหลายหน้าด้วยภาษาอังกฤษ มีการรับรองจากหน่วยงานน่าเชื่อถือมากมาย
"แต่มีจุดสังเกตเดียวคือ อย.ของไทยรับรองหรือไม่ ถ้า "ไม่" ก็จบ เชื่อถือไม่ได้ หรือในรายงานการวิจัยต้องดูว่า ศึกษากับอะไร ในคนกี่คน ที่ผ่านมาส่วนใหญ่มักจะศึกษาในหนูและกระต่ายเท่านั้น ไม่มีผลการศึกษาที่ทำในคน ฉะนั้น ก่อนจะซื้อกินจะต้องถามหรือดูให้ละเอียด เพราะชีวิตเป็นสิ่งมีค่าที่สุด" คุณหมอให้แง่คิดทิ้งท้าย