เลือดใหม่ รุ่น 3 “ซอโสตถิกุล” ขับเคลื่อนนันยางสู่องค์กรร้อยปี

เลือดใหม่ รุ่น 3 “ซอโสตถิกุล”
ขับเคลื่อนนันยางสู่องค์กรร้อยปี

ตระกูล“ซอโสตถิกุล”ผลัดใบเปลี่ยนเจนเนอเรชั่นขับเคลื่อนธุรกิจในเครือซีคอนกรุ๊ปมาแล้ว2รุ่น ปัจจุบันถือเป็นช่วงแห่งการผ่องถ่ายภารกิจให้แก่รุ่น 3

นันยางถือเป็นธุรกิจเก่าแก่ที่สุดของตระกูล แต่สร้างรายได้อันดับ 3 รองจากซีคอนสแควร์ และไทยชูรส โดยมีธุรกิจอสังหาฯ ทำรายได้รั้งท้าย ในการแถลงข่าวฉลองครบ 60 ปี ของนันยาง “ธวัชชัย และ ศิรินทร ซอโสตถิกุล” สองพี่น้องในเจนเนอเรชั่น 2 หัวเรือใหญ่ของกลุ่มนันยาง มานั่งคุมกึ่งให้กำลังใจทายาท “ก้าว- ชัยพัชร์ ซอโสตถิกุล” รองกรรมการผู้จัดการ บจก.นันยางอุตสาหกรรม และ “จั๊ก - จักรพล จันทวิมล” ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บจก.นันยางมาร์เก็ตติ้ง เจนฯ 3 เลือดใหม่ไฟแรงที่ต้องรับไม้สานต่อธุรกิจ

ธวัชชัย ซอโสตถิกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท นันยางอุตสาหรรม จำกัด เล่าว่า ตระกูลซอโสตถิกุลได้เริ่มผ่องถ่ายธุรกิจให้ทายาทรุ่น 3 มาระยะหนึ่งแล้ว โดยส่งลูกชายคนโต (ก้าว ชัยพัชร์) มาทำงานได้ 6 ปี บทบาทที่ได้รับในช่วงแรก "ก้าว" ต้องทำงานทุกอย่าง เรียนรู้ทุกแผนกไม่ต่างจากพนักงานทั่วไป ที่ต้องสั่งสมประสบการณ์ก่อนที่จะเติบใหญ่ในเก้าอี้บริหาร


ไม่เพียงส่งไม้ต่อให้ทายาท ธวัชชัยบอกว่า การเติบโตในอนาคตจำเป็นต้องเปิดทางให้คน “นอกตระกูล” ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเสริมทัพ โดยปัจจุบันนันยางมีพนักงานอยู่ราว 1,000 คน มีทีมผู้บริหารร่วม 100 คน ช่วยขยายอาณาจักรธุรกิจรองเท้านันยาง รับการลงทุนใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่มีแผนที่จะสร้างโรงงานแห่งใหม่เพื่อผลิตรองเท้าลำลองส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศเพิ่มจากที่กรุยทางในพม่า กัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย และจีน ล่วงหน้าไปแล้ว


“ตอนนี้ปรับโครงสร้างโดยเริ่มนำคนนอกมาช่วยบริหาร รองรับการแข่งขันที่สูงขึ้น เมื่อก่อนเรามีคู่แข่งรายเดียวคือบาจา ซึ่งทำตลาดมาก่อนเราเป็นสิบปี ขณะที่การบริหารธุรกิจในเครือซีคอน จะแบ่งกันไป เช่น ลูกคุณกอบชัย ซอโสตถิกุล(ตะติยะ ซอโสตถิกุล)จะดูห้างศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ นันยางก็มีลูกชายผมและหลานมาช่วยบริหาร โดยมีผมและน้องสาวดูแลในฐานะเจนเนอเรชั่นที่ 2 ซึ่งขณะนี้มีกันอยู่ 3 คน”


ก่อนที่ "จั๊ก จักรพล" ทายาทรุ่น3 จะขยายความว่า คนรุ่นที่ 1 ถือว่าเป็นผู้ปลุกปั้นรองเท้านันยาง ซีคอนสร้างบ้าน และธุรกิจไทยชูรส พอเจนเนอเรชั่นที่ 2 มีอยู่ 9 คน อาทิ เพียรศักดิ์ กอบชัย ธวัชชัย ศิรินทร เกริกชัย ซอโสตถิกุล ก็ขยายอาณาจักรซีคอนสแควร์, ซีคอนโฮม ไทยชูรสก็เข้าไปถือหุ้น 100% ตอกย้ำการขยายอาณาจักรอย่างมั่นคง ไม่แตกไลน์ธุรกิจมากนัก พอถึงเจนเนอเรชั่นที่ 3 ก็ขยายซีคอนบางแค ลุยธุรกิจโรงแรมที่ภูเก็ต สานต่อนันยาง ฯลฯ


“ซอโสตถิกุลรุ่น 3 มีกันอยู่ 24 คน มีครึ่งหนึ่งที่กลับมาทำธุรกิจครอบครัว ที่เหลือก็ทำงานข้างนอก เป็นหมอและคุณครูบ้าง ส่วนนันยางบริหารกันอยู่ 4 คน อยู่ฝ่ายการผลิต 2 คน และการตลาดอีก 2 คน” จั๊ก เล่าให้ฟังด้วยมาดกวนๆ พร้อมกับบอกด้วยว่า สำหรับเขาการบริหารธุรกิจครอบครัวถือเป็น"ความท้าทายปนความสนุก" และทุกหน่วยธุรกิจแม้จะแยกส่วนกันชัดเจน แต่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้โอวาทของผู้ใหญ่


นอกจากนี้ การเปลี่ยนทัพบริหารมาถึง 3 รุ่น เป็นธรรมดาที่โครงสร้างการบริหารจะถูกยกระดับสู่การบริหารงานสมัยใหม่มากขึ้น ที่ผ่านมาจึงดึงคนนอกอย่าง "ธีระวัฒน์ ลิยมาสวัสดิ์" ผู้จัดการทั่วไป บจก.นันยางมาร์เก็ตติ้ง ผสมผสานระหว่างความเป็นครอบครัว กับความเป็นมืออาชีพ เพื่อให้องค์กรมีความทันสมัยมากขึ้น ที่สำคัญเป็นการบังคับให้ผู้บริหารที่เป็น "ลูกหลาน" ต้องพิสูจน์ตัวเอง ทำงานแข่งขันกับมืออาชีพที่เข้ามาทำงานอย่างเข้มข้น


แม้วันนี้เจนฯ 2 จะยังไม่ส่งไม้ต่อทั้งหมด โดยเริ่มปูทางให้ทายาทรุ่น 3 เข้ามาทำงานแบบคู่ขนาน แต่ทุกคนจะต้องปฏิบัติตามกฎหรือเรียกว่า "สภาครอบครัว" หรือ"ธรรมนูญครอบครัว" ก่อนมาทำงาน


โดยจั๊กขยายความในเรื่องสภาครอบครัวให้ฟังว่า..“ซอโสตถิกุล จะต้องทำงานกับบริษัทข้างนอกที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับเป็นเวลา 3-5 ปี ก่อนจะกลับมาทำธุรกิจที่บ้าน แต่ละอย่างจะมีกฎเกณฑ์ต่างๆ อย่างผมทำงานที่เอสซีจี กลุ่มธุรกิจกระดาษ ดูแลฝ่ายขายมา 5 ปี เพื่อบ่มเพาะให้เราทำงานแบบมืออาชีพ”


ความที่เครือซีคอนมีธุรกิจหลายด้าน ทายาททุกคนยังมีโอกาสที่จะสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปจับธุรกิจอื่นๆ เพราะการแบ่งธุรกิจที่นี่ยังยึดกฎเหล็ก คือจะไม่ให้สายตรงในครอบครัวเดียวกันมาอยู่ในบริษัทหลักมากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ เช่น 2 คน ที่ต้องทำแบบนี้ก็เพื่อทำให้การคุมธุรกิจกระจายกันไปตามความเหมาะสม


กลยุทธ์การบริหารงานของนักธุรกิจหนุ่มรุ่นใหม่อย่างจั๊ก ยังต้องการเดินไปให้ไกลที่สุด โดยมีผู้ใหญ่คอยฉุด


“ผู้ใหญ่เปิดโอกาสให้เราเสนอมุมมองต่างๆ ทำได้เต็มที่ หากอะไรที่มากไปก็จะฉุดทำให้เราก้าวช้าลง ดังนั้นการขยายธุรกิจของเราจึงต้องขยายอย่างมั่นคงจริงๆ ดีนะมันทำให้เราได้ก้าว ถ้าไม่มีคนคอยฉุดเราอาจจะก้าวพลาด” สอดคล้องกับปรัชญาขององค์กรที่ขยายธุรกิจอย่างมั่นคง ความเสี่ยงต่ำ


ขณะที่ความตั้งใจสูงสุดในฐานะทายาทรุ่น 3 จั๊กบอกว่า ต้องการครองตลาดให้ได้แบบนี้วันนี้ (เบอร์1 ตลาดรองเท้าผ้าใบสำหรับนักเรียน) และคาดหวังว่าจะขับเคลื่อนนันยางสู่องค์กรร้อยปี บอกเล่าเรื่องราวของแบรนด์ไม่ต่างจากแบรนด์ระดับโลกอย่างโคคาโคล่า ตลอดจนการคงไว้ซึ่งความ Fresh ของแบรนด์สินค้าอยู่ตลอดเวลา


ด้านพี่ใหญ่ “ก้าว ชัยพัชร์” เล่าถึงบทบาทการทำงานของเจนฯ 3 ที่ต้องขับเคลื่อนธุรกิจบนการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นว่า ในฐานะผู้คุมสายพานการผลิตต้องบริหารต้นทุนให้ต่ำ เพื่อให้ฝ่ายการตลาดสามารถขายสินค้าและแข่งขันกับแบรนด์อื่นได้ ขณะเดียวกันเมื่อตลาดต้องขยายตัวทั้งในและต่างประเทศ โรงงานก็ต้องรองรับคำสั่งซื้อให้ได้ ชนิดที่เรียกว่า

"สั่งปุ๊บผลิตได้ปั๊บ" เพราะถ้าช้าคู่แข่งอาจแย่งตลาดไป การทำงานทุกอย่างจึงต้องกระชับ ฉับไว แต่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานอนุรักษ์นิยม ระมัดระวังในการใช้เงิน

“วันนี้ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นความท้าทายสำหรับผม เพราะจะทำอย่างไรให้ต้นทุนต่ำที่สุด จะได้ไม่ต้องขึ้นราคาสินค้าบ่อยๆ หรือผลักภาระให้ผู้บริโภค เป็นพันธกิจที่โรงงานจะต้องมีส่วนในการบริหารต้นทุนการผลิต เพื่อให้ผู้บริโภคกระทบน้อยสุด แต่ก็ต้องยึดมั่นในคุณภาพรองเท้า ซึ่งเป็นเคล็ดลับความสำเร็จของเจนฯ 2 ที่ครองใจลูกค้า จนเป็นผู้นำตลาดมาถึง 6 ทศวรรษ" เขาบอกและว่า

การรักษาคุณภาพรองเท้า เหมือนง่าย แต่หลายยี่ห้อที่ไม่รักษาคุณภาพสินค้าตัวเอง เมื่อเจอคู่แข่งมาตี หรือพอลูกค้าไปใช้สินค้าอื่นก็อยู่ไม่ได้ จึงต้องถูกปลูกฝังเรื่องคุณภาพจากรุ่นสู่รุ่น เจนฯ 1 เจนฯ 2 และปลูกถ่ายมายังรุ่น 3 ก็ยังให้ยึดหลักคิดนี้เพื่อผ่องถ่ายสู่เจนฯ 4 เจนฯ 5 และต่อๆไป


ก้าว ยังบอกว่า เขาจะมุ่งเสริมจุดแข็งให้กับองค์กรลบข้อด้อยที่มี โดยเฉพาะในเรื่องของ "เทคโนโลยีการผลิต" ที่จะต้องศึกษาระบบการผลิตสินค้าใหม่ๆเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ ตลอดจนการบริหารสต๊อกให้เป็นเลิศ ต่อยอดสิ่งที่เจนฯ 2 วางรากฐานมาดี สังเกตจากแบรนด์สินค้าของนันยางเป็นแบรนด์ที่ลูกค้ามีความภักดีสูงมาก


อะไรเป็นเป้าหมายที่หนุ่มก้าวอยากเห็นในฐานะทัพหน้านันยาง เขาบอกว่า ไม่ต้องการหยุดอยู่กับที่ อยากเติบโตไปข้างหน้าทั้งองคาพยพ ไม่ว่าจะเป็นการออกสินค้าใหม่ ขยายฐานผู้บริโภคให้เพิ่มขึ้น ลดต้นทุนการผลิตเพื่อให้มีกำไรสูงขึ้น ที่สำคัญคือการรักษาธุรกิจครอบครัวไว้


“รุ่นของผมอยากเติบโตต่อไปทั้งกำไร ผลผลิต สินค้าใหม่ ทำทุกด้านให้มันโตยิ่งขึ้นไป แรกเริ่มเราผลิตรองเท้าไม่กี่ร้อยคู่ ปัจจุบันมากกว่า 5 หมื่นคู่ จึงต้องการเพิ่มให้มากขึ้น ไม่หยุดอยู่กับที่ อะไรที่เติบโตได้ เจนเนอเรชั่นที่ 2 และ3 พร้อมผนึกพลังเดินหน้า"


การสานต่อภารกิจขับเคลื่อนธุรกิจครอบครัวของ 2 หนุ่ม ทายาทรุ่น 3 แห่งตระกูล “ซอโสตถิกุล” ยังดำรงไว้ซึ่งการเติบโตอย่างมั่นคง ไม่ผลีผลาม เพื่อมุ่งสู่เป้าดียวกันคือการผลักดันองค์กรให้เติบใหญ่ ยั่งยืนสู่องค์กรร้อยปี