นักวิทย์จิ๋ว รักบ้านเกิด

นักวิทย์จิ๋ว รักบ้านเกิด

เด็กๆต้องเรียนวิทย์กันอยู่แล้ว แต่จะให้ดีพวกเขาต้องนำสิ่งที่รู้มาใช้กับชีวิตและท้องถิ่นได้ เพียงแค่รู้จักสังเกตสิ่งรอบตัว

เด็กๆต้องเรียนวิทย์กันอยู่แล้ว แต่จะให้ดีพวกเขาต้องนำสิ่งที่รู้มาใช้กับชีวิตและท้องถิ่นได้ เพียงแค่รู้จักสังเกตสิ่งรอบตัวแล้วประดิษฐ์ของใช้ให้คนในครอบครัว

นักวิทย์น้อยทรูปีที่ 18 จัดขึ้นโดยกลุ่มทรู ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาไทย (สวทศ.) ประกาศผลเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 4-6 ที่นำภูมิปัญญาแสนล้ำค่าและวิถีเกษตรกรรม มาช่วยเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้กับวิทยาศาสตร์ไทย และนั่นทำให้เราพบกับความมหัศจรรย์ของนักวิทย์ตัวจิ๋ว เมื่อพวกเขาเรียนรู้ที่จะประยุกต์สิ่งต่างๆในชุมชน เข้าสู่โครงการทดลองวิทยาศาสตร์ของพวกเขาเอง

วิทย์ ดึงดูดเด็ก

เด็กๆหลายประเทศโหวตว่าวิทยาศาสตร์ เป็นหนึ่งในวิชาที่ถูกจัดอันดับว่าเรียน "สนุก" ที่สุดในโลก เพราะกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆของวิชานี้ ทำให้พวกเขาเพลิดเพลินไปกับการใช้จินตนาการไร้ขีดจำกัด รู้จักตั้งสมมติฐาน และทดลองปั้นความคิดนั้นให้เป็นรูปเป็นร่างได้จริงๆ

ถึงอย่างนั้น เด็กๆก็ควรต้อง "อยากรู้อยากเห็น" ด้วยตัวของเขาเองจริงๆ ไม่ใช่ผู้ใหญ่ชี้นำหรือจัดแจงให้ เพราะมันจะทำให้พวกเขา "กระหายความจริง" และสนุกกับการค้นคว้าจริงๆ

ดร. ปทัต นาถจำนง รองผู้อำนวยการด้าน Network Service Center บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินโครงการนักวิทย์น้อยทรู เผยว่า พวกเด็กๆจะต้องอธิบายวิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างคล่องแคล่วและบอกเล่าตามกระบวนการวิทยาศาสตร์ให้ครบถ้วน

"เราอยากให้พวกเขาเข้าใจวิทยาศาสตร์จริงๆ เพราะสิ่งประดิษฐ์นั้น สามารถลอกเลียนแบบกันได้ง่ายๆ หรือถ้าปิ๊งไอเดียขึ้นมาเองแล้วถูกครูชักจูงหรือสนับสนุนให้ทำเลยนั้น เด็กๆก็จะไม่ได้เรียนรู้ทุกขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะความอยากรู้อยากเห็น ซึ่งเป็นพื้นฐาน เราไม่ได้คาดหวังว่าผลงานของเด็กๆจะต้องโดดเด่นหรือเป็นสิ่งใหม่ แต่เราอยากให้พวกเขารู้จริง เมื่อถูกถาม พวกเขาจะต้องสามารถตอบคำถามได้อย่างแม่นยำตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเราจะดูจากสิ่งที่เด็กๆอธิบายออกมา ไม่ว่าจะเป็นความฉะฉาน ชัดเจนในการพูดจาเพื่อสื่อว่าพวกเขาลงมือทำโครงงานด้วยตนเอง"

ปัญหาในครัว = ความสนุกหนูๆ

ว่ากันว่า ปัญหาสร้างสิ่งประดิษฐ์ขึ้นในโลก เห็นท่าว่าจะจริง เมื่อเราพบกับผลงานของนักเรียนโรงเรียนบ้านปะโค จังหวัดอุดรธานี พวกน้องๆ นำเสนอเครื่องมือจัดการกับปัญหาปากท้อง

อย่างเช่น ก้นมวย (อุปกรณ์นึ่งข้าว) ประหยัดพลังงาน รักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม นับเป็นตัวอย่างของการใช้ "ภูมิปัญญาครัวไทย" มาประยุกต์ใช้ได้อย่างน่าทึ่ง

เจ้าของตำแหน่งเหรียญทองแดงประเภททดลอง ประกอบด้วยเด็กหญิงพนิดา ดีสินธุ์ เด็กหญิงฐาปนี ภูมิลา และเด็กหญิงสิริกาญจน์ ประเสริฐสังข์ นักเรียนชั้น ป.6 สมาชิกทั้ง 3 คนอยากรู้ว่า ก้นมวย (อุปกรณ์นึ่งข้าว) แบบใดจะทำให้ข้าวสุกเร็วและประหยัดพลังงานได้มากกว่ากัน

สามสาวน้อยเลยทดลองนำเครื่องจักสานที่มีรูปแบบต่างกันมาเทียบกันเพื่อหาว่า ลายจักสานแบบใดและหม้อนึ่งขนาดเท่าใดจะทำให้พวกเธอได้กินข้าวเร็วกว่ากัน แล้วก็พบว่าแบบของก้นมวยที่สามารถนึ่งข้าวเหนียวให้สุกเร็วที่สุดคือไม้ไผ่ลายไขว้ขนาดเล็ก กับ หม้อนึ่งขนาดใหญ่นึ่งข้าวเหนียวสุกเร็วกว่าเดิม จาก 10 นาทีให้ลดลงเหลือ 8 นาที

"การทดลองนี้ทำให้พวกหนูรู้จักการสังเกตสิ่งรอบตัวว่ามีประโยชน์ว่าสามารถนำไปใช้ในทางอื่นได้อีกมาก และยังเอาวิชาความรู้ด้านหัตถกรรมมาใช้ด้วย"

ส่วนผู้ชนะโครงการเหรียญทองประเภทสิ่งประดิษฐ์ก็โดดเด่นเหนือใคร เพราะพวกเขาใช้ "ความสงสัย" มาสร้างสรรค์ ขวดดักจับและการใช้สารล่อแมลงวันทองแบบพอเพียง

มันเป็นโครงงานที่มีกลิ่นอาย "เกษตรกรรมไทย" อย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งเด็กๆอาศัยการสังเกต ตั้งคำถามและนำสิ่งของใกล้ตัว อย่างขวดพลาสติกมาดัดแปลงให้เป็นอุปกรณ์ดักจับแมลงวันทอง ศัตรูพืชตัวร้ายในไร่มะม่วงของผู้ปกครองพวกเขาเอง

เด็กหญิงสะวันนา ฮอง เด็กหญิงบวรรัตน์ ศรีลาชัย และเด็กชายวัชรพล แข้คำ นักเรียนชั้นป. 5 โรงเรียนท่าข้ามพิทยาคม จังหวัดชลบุรี พร้อมใจกันเล่าให้ฟังว่า ที่บ้านของพวกเขาปลูกมะม่วง แล้วก็สังเกตเวลาออกลูก เห็นว่ามันร่วงก่อนกำหนด เพราะเจ้าแมลงวันทองมากัดกินช่อมะม่วง เลยอยากรู้ว่าจะจัดการกับศัตรูพืชนี้อย่างไร

"พวกหนูจึงประดิษฐ์ขวดดักจับแมลงวันทอง เพื่อที่จะศึกษาลักษณะของขวด สีของขวด รวมถึงสารที่มีผลต่อการดักจับแมลงวันทอง เราทั้งสามคนก็ไปปรึกษาครูและค้นคว้าตำราและข้อมูลในอินเทอร์เน็ตเลยรู้ว่าส่วนใหญ่ใช้ขวดพลาสติกกลมใสชิ้นเดียว และเติมสารเมทิลเอทานอลเข้าไปดักล่อ จึงอยากทดลองใหม่ นำขวดพลาสติกมาประกอบในลักษณะต่างๆ แล้วพบว่าแบบแนวตั้งสองชั้นห่อด้วยกระดาษแก้วสีเหลือง แล้วใส่ใบกะเพราแดง สามารถดักแมลงวันทองมากที่สุด ไม่เพียงแต่จะรู้ผลลัพธ์ แต่มันก็ทำให้เรารู้จักสังเกตว่าช่วงชีวิตแมลงวันทอง ตั้งแต่ผสมพันธุ์ วางไข่ ฟักตัวนั้นมีผลต่อการดักจับว่าช่วงไหนจึงจะดีที่สุด มันทำให้เรารู้ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบเลยทีเดียว แถมวิธีการนี้ยังเอาไปทดลองดักจับแมลงอื่นๆได้ด้วย" ตัวแทนกลุ่ม กล่าว

อย่าปล่อยให้ลูกๆสนุกอยู่แค่ในโรงเรียน อยากให้พ่อแม่ลองนำวิธีการนี้ไปปรับ และสนับสนุนให้ใช้ทักษะวิทยาศาสตร์กันทั้งบ้านไปด้วยเลย