ฟิลเลอร์จมูกโด่งแถม 'ตาบอด'
แพทย์ผิวหนังห่วงใยผู้ที่รับการฉีดฟิลเลอร์เพื่อเสริมความงาม หลังพบภาวะแทรกซ้อนในบางคนที่รุนแรงถึงตามองไม่เห็นเฉียบพลันและแขนขาอ่อนแรง
สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยเปิดเผยรายงานด่วนว่า มีผู้ป่วยไปรับบริการฉีดสารเติมเต็มหรือฟิลเลอร์เพื่อเสริมจมูกแล้วเกิดอาการตามองไม่เห็นเฉียบพลัน และมี 1 คนที่แขนขาอ่อนแรง จึงเตือนผู้ที่ไปรับบริการควรไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน เนื่องจากการฉีดสารเติมเต็มมีทั้งข้อดีในเรื่องของความงาม และข้อเสียเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนไม่พึงประสงค์
ก่อนอื่นทำความรู้จักก่อนว่า สารเติมเต็มมีหลายชนิดแบ่งออกเป็นหลายรูปแบบ ได้แก่
1.แบบชั่วคราว อายุใช้งาน 4-6 เดือน ปลอดภัยสูง สลายตัวได้เองตามธรรมชาติ
2. แบบกึ่งถาวร อายุใช้งานประมาณ 2 ปี ปลอดภัยปานกลาง
และ 3.แบบถาวร เช่น ซิลิโคน หรือ พาราฟิน หลังฉีดแล้วจะอยู่ในผิวตลอดไป ไม่สลายตามธรรมชาติ มักพบผลข้างเคียงระยะยาว ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ แพทยสภาประกาศห้ามใช้ฟิลเลอร์ชนิดถาวรอย่างเด็ดขาดไปแล้ว
สารเติมเต็มหรือฟิลเลอร์สำหรับรักษาปัญหาผิวพรรณนั้น ทางการแพทย์ใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อแก้ไขปัญหาริ้วรอยของผิวอันเนื่องมาจากวัย เช่น ริ้วรอยบริเวณหน้าผาก หางตาและร่องแก้ม โดยการฉีดฟิลเลอร์เติมเต็มใยคอลลาเจนที่หายไป ทำให้ริ้วรอยบริเวณดังกล่าวตื้นขึ้น สภาพผิวดูดีขึ้น
การแก้ไขปัญหาแผลเป็นชนิดผิวบุ๋ม เช่น การเกิดแผลบุ๋มจากสิวอักเสบ สามารถใช้ฟิลเลอร์เติมเต็มทำให้แผลบุ๋มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม แผลบุ๋มนั้นต้องไม่มีพังผืดในบริเวณใต้แผลบุ๋ม มิฉะนั้น ผลการรักษาจะไม่ดีเท่าที่ควร และการใช้ฟิลเลอร์ฉีดเพื่อเสริมเนื้อเยื่อผิวหนังให้มีลักษณะนูนเต็มขึ้นกว่าเดิม (Augmentation) เช่น เสริมจมูก เสริมคาง ริมฝีปาก หรือฉีดเพื่อทำให้รูปทรงของหน้าดูอวบอิ่มกว่าเดิม
สำหรับผลข้างเคียงที่ทำให้ตาบอดหรือแขนขาอ่อนแรง เกิดจากการที่ฉีดสารเข้าไปในเส้นเลือดที่ต่อเนื่องไปเลี้ยงลูกตา อาจพลาดไปโดนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงบริเวณดวงตา ทำให้เกิดอาการเส้นเลือดตีบตันจนตาบอดถาวร เนื่องจากดวงตาสามารถทนภาวะขาดเลือดได้แค่ 90 นาทีเท่านั้น ต่างจากผิวหนังที่ทนได้ 6 ชั่วโมง
การฉีดเสริมจมูกด้วยฟิลเลอร์ ที่เป็นที่นิยมเพราะคนส่วนใหญ่เห็นว่าทำง่ายเหมือนฉีดยาไม่บอบช้ำเหมือนการผ่าตัด ใช้เวลาไม่กี่นาที สามารถกลับไปทำงานได้ทันที ทำให้มีการฉีดเสริมจมูกกันอย่างแพร่หลายจึงพบว่ามีผู้ป่วยตาบอดจากการฉีดเสริมจมูกมากกว่าการฉีดที่บริเวณอื่นชัดเจน แสดงให้เห็นว่าบริเวณจมูกเป็นบริเวณที่เสี่ยงอันตราย เนื่องจากมีแขนงหลอดเลือดจำนวนมาก ที่บริเวณจมูกที่เชื่อมต่อกับระบบหลอดเลือดของประสาทตาและสมองโดยตรง จึงขอให้หลีกเลี่ยงการเสริมจมูกด้วยวิธีนี้ เนื่องจากไม่คุ้มค่าความเสี่ยงตาบอดเพื่อแลกกับการทำให้จมูกโด่งเพียงชั่วคราว
แม้แต่ฟิลเลอร์ที่ อ.ย. รับรองก็อาจเกิดตาบอดได้เช่นกัน เพราะอาการตาบอดไม่ได้เกิดจากคุณภาพของสารที่ฉีด แต่เกิดจากกระบวนการฉีดที่มีการรั่วไหลของฟิลเลอร์เข้าไปอุดตันหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงประสาทตา ทำให้ตาบอดถาวรตลอดชีวิต ฉะนั้น พล.ต.นพ.กฤษฎา ดวงอุไร นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังฯ ขอความร่วมมือกับแพทย์และผู้ที่อยากเสริมจมูก ควรทำด้วยวิธีอื่นที่ปลอดภัยมากกว่าการฉีดฟิลเลอร์ เนื่องจากอาจเกิดอันตรายที่รุนแรงและสารเหล่านี้มีราคาแพงและอยู่ได้ไม่ถาวร
------
อันตรายการฉีดฟิลเลอร์เกิดจาก 3 ปัจจัย
1. ผู้ทำการฉีดต้องมีความรู้ความชำนาญสูง และต้องเป็นแพทย์เท่านั้น ถึงแม้ผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมและมีประสบการณ์สูงสุดก็อาจเกิดผลข้างเคียงได้
2. สารที่ใช้แม้จะผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา ก็สามารถเกิดผลข้างเคียงได้ หรือแม้แต่การดูดไขมันของตัวเองมาฉีดก็เกิดอันตรายได้เช่นกัน
3. ตัวผู้รับการฉีดแต่ละคนมีกายวิภาคต่างกัน ตำแหน่งของเส้นเลือดเส้นประสาทอาจมีความแตกต่างจากคนอื่นได้ โดยเฉพาะที่ได้รับการผ่าตัด การฉีด การร้อยไหม จะมีพังผืดทำให้เกิดอันตรายง่ายขึ้นอีก
หากมีข้อสงสัยติดต่อสอบถามที่สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย โทร.0 2716 6857 เว็บไซต์ www.dst.or.th