STARTUP เทรนด์ร้อน..!! ธุรกิจเกิดใหม่

STARTUP เทรนด์ร้อน..!! ธุรกิจเกิดใหม่

'สตาร์ทอัพ'โมเดลแจ้งเกิด ธุรกิจพันธุ์เล็กจากทุนใหญ่ กระแสร้อนที่ลามจากยุโรป-สหรัฐฯ มายัง"อาเซียน"ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่อยากเป็นนายตัวเอง

จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในไทย มีถึงประมาณ 73 ล้านเลขหมาย (ปี 2555) ฐานผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงถึง 25 ล้านคน ขณะที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือมีมากถึง 20 ล้านคน !

"กรุงเทพฯ" กลายเป็นเมืองหลวงของ Facebook ที่มีจำนวนผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก (11.8 ล้านคน) ประเทศไทยมีผู้ใช้งาน Application ที่ชื่อ Line มากเป็นอันดับ 2 ของโลก (15 ล้านคน) สนามบินสุวรรณภูมิ ได้รับการจัดอันดับเป็น The World’s Most Instagram Popular Destination 2012 ขณะที่ประเทศไทยยังติดอันดับ 15 ประเทศแรกในโลกสำหรับตลาดของ Mobile Application และเป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้!

นี่คือแรงผลักสำคัญ ดันให้ "ธุรกิจเกิดใหม่" หรือ สตาร์ทอัพ (Startup) ในกลุ่มดิจิทัลของไทย ที่ “หอมหวานสุดๆ”

โดยมีกลุ่มทุนไทย-เทศ เป็นแหล่งทุนสำคัญ ในการ "สานฝัน" ปั้นธุรกิจให้กับเหล่าสตาร์ทอัพเหล่านี้

“ปรีดา ยังสุขสถาพร” ผู้อำนวยการสถาบันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ฉายภาพบรรยากาศธุรกิจสตาร์ทอัพในไทย ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา

“เมื่อก่อนวงการสตาร์ทอัพบ้านเรายังเล็กมาก ไม่ค่อยโต เพราะหนึ่งเลยนักลงทุนยังไม่ค่อยมอง และสอง คนมาทำก็ยังน้อย อย่างกิจกรรมที่จัดสำหรับกลุ่มสตาร์ทอัพ แทบไม่มีเลย แต่ปีที่แล้วจนมาปีนี้มีอีเวนท์สตาร์ทอัพเกิดขึ้นเยอะมาก เรียกว่าโตเป็น 2-3 เท่า เป็นเทรนด์ที่ร้อนแรงจริงๆ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียน” เขาสำทับ

กับธรรมชาติของธุรกิจที่เริ่มง่าย ต้นทุนต่ำ อาศัยความคิดเป็นหลัก สามารถเริ่มได้จากคนคนเดียว แถมยังโตเร็ว (High Growth) และสร้างมูลค่าได้มาก เลยยิ่งปลุกความสนใจจากทั้ง “คนทำ” และ “แหล่งทุน” ให้โดดเข้าใส่
บวกกับอานิสงส์จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกซบ จนเกิดการย้ายฐานของแหล่งเงินจากกลุ่มนักลงทุนกระเป๋าหนักจากทั่วโลก มาสู่ขุมทรัพย์ผืนใหม่

แน่นอนว่านาทีนี้คงไม่มีที่ไหนหอมหวานเท่า “อาเซียน” !!

“เขาไปมาหลายที่นะ เริ่มที่สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย จนมาเวียดนาม ของไทยนี่เข้ามาทีหลังด้วยซ้ำ ซึ่งกลุ่มสตาร์ทอัพในภูมิภาคเติบโตสูงมาก ผมว่าเงินที่ไหลมาเป็นระดับหลายหมื่นล้านบาท เอาเฉพาะกองทุนที่มีอยู่ในไทยเวลานี้ก็ไม่น่าจะต่ำกว่าหมื่นล้านบาทแล้วที่ลงทุนในสตาร์ทอัพ”

ข้อมูลจากการรวบรวมของสถาบันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มนักลงทุนในประเทศไทยที่เป็น "นักสานฝัน" ของเหล่าสตาร์ทอัพ อย่าง Ardent Capital มีทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท InVent แหล่งเงินทุนจาก SingTel (สิงคโปร์ เทเลคอม) ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์รายใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ ผ่านทาง AIS ซึ่งเป็น Corporate VC รวมถึง M8VC และ The VC Group ซึ่งมีทุนใกล้เคียงกันที่ประมาณ 80 ล้านบาท และยังมีนักลงทุนอิสระ (Angel Investors) อีกไม่น้อยกว่า 10 ราย ที่พร้อมลงเงินกับธุรกิจสตาร์ทอัพในไทย

ขณะที่บริษัทเทเลคอมยักษ์ใหญ่ทั้ง 3 เจ้าของบ้านเรา ก็เข้ามาจับกลุ่มสตาร์ทอัพ เริ่มจาก AIS ที่ทำโครงการ AIS The Startup เป็นเจ้าแรก ตามมาด้วย dtac ทำโครงการ dtac Accelerate รายล่าสุดก็ TRUE กับโครงการ TRUE Incube ช่วยกันปลุกปั้นเมล็ดพันธุ์สตาร์ทอัพในประเทศไทย

เวลาเดียวกับการจัดกิจกรรมแข่งขันสร้างผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในประเทศ ตั้งแต่ Echelon, DevFest, Startup Weekend และ AngelHack ซึ่งล้วนแต่เป็นกิจกรรมระดับโลก เพื่อให้กลุ่มสตาร์ทอัพในไทย ได้ขายไอเดียให้กับนักลงทุน ซึ่งพบว่า มีทั้งผู้สนใจในธุรกิจสตาร์ทอัพ และกลุ่มนักลงทุนทั่วโลก ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

“ตอนนี้สตาร์ทอัพบ้านเรากำลังบูมอย่างมาก ที่ยุโรปก็บูม แต่สู้ภูมิภาคเราไม่ได้ เขามีปัญหาเพราะค่าตัวแพง คิดดูว่าให้เงินหนึ่งล้านบาทที่นี่ กับหนึ่งล้านบาทที่ยุโรปคุณค่ามันต่างกัน หนึ่งล้านบาทที่นี่อาจจะให้รีเทิร์นกลับมาเร็วกว่า ขณะที่เขามองต่อไปอีกว่า ที่โน่นแม้ทำธุรกิจเกิด แต่คนไม่มีตังค์ เพราะเศรษฐกิจไม่ดี ฉะนั้นรีเทิร์นก็จะไม่ดีตามไปด้วย แต่ภูมิภาคเราคนมีตังค์ พร้อมที่จะซื้อ พร้อมที่จะจ่าย ถ้าลองไปอีเวนท์ของสตาร์ทอัพ จะรู้เลยว่าฝรั่งเยอะมาก และหน้าไม่เคยซ้ำเลย มันหอมหวานมากๆ”

ธุรกิจสดใสขนาดนี้ แล้วสตาร์ทอัพบ้านเราอยู่ในสถานการณ์ไหน เขาขยายภาพว่า ปัจจุบันน่าจะมีธุรกิจสตาร์ทอัพในไทยไม่ต่ำกว่า 500 ราย โดยมีศูนย์กลาง (Hub) อยู่ที่กรุงเทพ (80%) เชียงใหม่ (10%) และภูเก็ต (5%) โดย Thai Startup ส่วนใหญ่อยู่ในระยะเริ่มต้น (early stage) และมีความหลากหลายของธุรกิจสูง เรียกว่าตั้งแต่กลุ่ม Hardware, Software, Web, Mobile Application, Lifestyle Business และ B2B เหล่านี้

ส่วนอุตสาหกรรมที่ฮอตสุดๆ สำหรับกลุ่มสตาร์ทอัพ ก็ต้อง ธุรกิจบันเทิง ท่องเที่ยว สุขภาพ การศึกษา อสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มยานยนต์ เหล่านี้ เป็นต้น

ลองวิเคราะห์ถึงลักษณะสตาร์ทอัพในประเทศไทย เขาบอกว่า มักเกิดขึ้นจากแนวคิดหรือไอเดียของคนเพียงคนเดียว หรือมีการรวมกลุ่มกันระหว่าง 3-5 คน โดยมักเป็นการรวมตัวกันของ นักการตลาด (Marketing) นักออกแบบ (Designer) และนักพัฒนาเทคโนโลยี (Developer) โดยทั่วไปไม่นิยมจดทะเบียนเป็นบริษัท จนกว่าจะมีการออกผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ชัดเจน หรือมี business model ที่ชัดเจน ขณะที่กลุ่มสตาร์ทอัพมักเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุระหว่าง 25 - 30 ปี และเน้นที่การพัฒนา Tech Startup หรือธุรกิจที่ตั้งบนฐานการพัฒนา application บนสมาร์ทโฟน หรือ website ที่ให้บริการเฉพาะ

หนึ่งสัญญาณดีๆ คือ การเกิดขึ้นของ Co-working Space พื้นที่ทำงานของคนรุ่นใหม่ และเป็นศูนย์กลางสำคัญให้กลุ่มสตาร์ทอัพได้มีเวทีพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งมีการเปิดขึ้นเยอะมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทั้งสัญชาติไทยและต่างชาติ อย่าง HUBBA Coworking Space , LaunchPad , Klique Desk , The Sync, Work Buddy ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในกรุงเทพ ส่วน Pun Space อยู่ที่ เชียงใหม่ และ MergeSpace ที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน เป็นต้น

“Co-working Space เป็นการช่วยลดต้นทุนให้กับกลุ่มสตาร์ทอัพในการเริ่มต้น เพราะสามารถมาใช้เป็นที่ทำงานและยังได้มาเจอคนที่หลากหลาย ที่มีความต้องการแบบเดียวกัน มีความมุ่งมั่นแบบเดียวกัน ซึ่งเมื่อมาเจอกัน ก็จะเกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ขณะที่เจ้าของพื้นยังมีการจัดกิจกรรมตลอดเวลา ก็ยิ่งดึงดูดผู้คนให้เข้ามา จนกลายเป็นคอมมูนิตี้ของกลุ่มสตาร์ทอัพเกิดขึ้น”

และนี่เองที่จะทำให้ธุรกิจเกิดใหม่ ไม่ตกเทรนด์ ตกกระแส แม้แต่ข่าวสารการจัดกิจกรรมตามที่ต่างๆ ก็สามารถล่วงรู้ได้เท่าทัน จากการนำพาตัวเองเข้าสู่ชุมชนของคนสตาร์ทอัพเหล่านี้

มีสตาร์ทอัพเกิดขึ้นในไทย และหลายรายที่ประสบความสำเร็จ จนกลายเป็น “ไอดอล” ให้กับน้องๆ ในวันนี้ เอาแค่ในรอบปี 2013 มีสตาร์ทอัพสัญชาติไทย ได้รับทุนอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน สะท้อนภาพความร้อนแรงของวงการสตาร์ทอัพปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

อย่าง “Ookbee” อีบุ๊คสัญชาติไทย ที่ระดมทุนได้ถึง 2 ล้านดอลลาร์ จาก อินทัช (INTOUCH) เมื่อปลายปี 2555
“ShopSpot” แอพพลิเคชันที่ตั้งตัวเป็นศูนย์กลางของคนที่อยากขายของและซื้อของ ซึ่งสามารถทำทุกอย่างได้ผ่านสมาร์ทโฟน สามารถระดมทุนได้ประมาณ 630,000 ดอลลาร์ จาก Jungle Ventures ผ่าน Technology Incubator Scheme (TIS) ของ National Research Foundation, Singapore และ SingTel Innov8

“Builk” ผู้ให้บริการเครื่องมือบริหารธุรกิจก่อสร้างออนไลน์ ที่สามารถระดมทุนได้ 400,000 ดอลลาร์ จาก Project Planning Service PLC

“Wongnai Media” แอพพลิเคชันรีวิวร้านอาหาร ชุมชนของคนรักการกิน ที่ระดมทุนระดับ Series A funding (เงินทุนตั้งแต่ 1 ล้านดอลลาร์) จาก Recruit Strategic Partners, Inc

“Noonswoon” กามเทพไอที ที่พัฒนาแอพพลิเคชันเพื่อการหาคู่สมาร์ทโฟน ก็ได้รับเงินทุน Seed Round จาก Golden Gate Ventures จำนวน 400,000 ดอลลาร์

“Computerlogy” ระบบบริหารการจัดการโซเชียลมีเดีย ได้รับการสนับสนุนและเข้าร่วมลงทุนในโครงการอินเวนท์ (InVent) ของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ อินทัช (INTOUCH) อย่างเป็นทางการในระดับ Series A วงเงิน 29 ล้านบาท
----------------------------------

สตาร์ทอัพแบบไหน ที่กลุ่มทุน 'กดไลค์'

"ปรีดา ยังสุขสถาพร” ผู้อำนวยการสถาบันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ บอกว่าสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ จะต้องมี “Passion” มีความอดทนมุ่งมั่น ต้องมี Business Model ที่ดี ต้องเข้าใจตลาดและมองตลาดให้ออก มีโอกาสเติบโตให้เห็น รวมถึงต้องมีทีมที่ดีด้วย

“ถ้าของดี แต่ไม่มีโอกาสโต มันไม่เกิด เพราะนักลงทุนมองเรื่องการคืนทุน ฉะนั้นต้องมองตลาดให้ออก ตลาดนั้นต้องเติบโตเร็ว และคนต้องรับรู้ ซึ่งกลุ่มสตาร์ทอัพไม่จำเป็นต้องเป็นนักเทคโนโลยีนะ ขอแค่มีไอเดียที่ดี และมีทีม ถึงที่สุดมันเริ่มจากคนคนเดียวก็จริง แต่ทำไประยะหนึ่งธุรกิจจะทำคนเดียวไม่ได้ แบกรับไม่ไหวหรอก อย่างน้อยก็ต้องมีคนดูแลเรื่องงานออกแบบ มีนักการตลาดที่คิดเรื่องรูปแบบการหาเงิน และนักพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งทีมที่ดี คือ หัวใจ”

สำหรับคนที่อยากเข้ามา เขาบอกว่า ขอให้เข้าร่วมกิจกรรมสตาร์ทอัพ นำพาตัวเองไปในชุมชนของกลุ่มสตาร์ทอัพ อย่านั่งคิดนั่งทำคนเดียว โดยไม่สุงสิงกับคนอื่น เพราะจะทำให้ขาดโอกาสอย่างมากที่จะ “แจ้งเกิด” ในเวทีนี้

“ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อุ๊คบี ธุรกิจผู้ให้บริการอีบุ๊ค ที่กำลังประสบความสำเร็จทั้งในไทยและอาเซียน ด้วยแนวคิดธุรกิจ “ทำหนังสือของประเทศนั้นให้คนในประเทศนั้นอ่าน” และหวังเป็นผู้ให้บริการอีบุ๊ค ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนให้ได้ ซึ่งเพิ่งระดมทุนได้ถึง 2 ล้านดอลลาร์ จากอินทัช ในปลายปี 2555 ที่ผ่านมา และกลายเป็นต้นแบบของธุรกิจสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จและทำกำไรได้ในเวลารวดเร็ว

“ตอนนี้เมืองไทยมีกระแสสตาร์ทอัพเยอะมาก เด็กๆ อยากทำบริษัทไอที มีการสัมมนา นัดเจอ กินกาแฟกัน แล้วมีมาพรีเซนต์ มาพิชไอเดียกัน ซึ่ง อุ๊คบี หลังๆ เราก็มีโอกาสไปพูดให้น้องๆ ฟังบ้าง ไปแชร์ประสบการณ์ที่พบเจอมาจากต่างประเทศ”

เขาฝากข้อแนะนำสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพที่อยากให้นักลงทุนสนใจ คือ บริษัทต้องดี มีแนวโน้มที่ธุรกิจจะเติบโต ขณะที่ผู้บริหาร ก็ต้องมีวิสัยทัศน์ เวลาไปพูดคุยก็ต้องให้วิสัยทัศน์นั้น “ไปด้วยกันได้” กับหน่วยงานและนักลงทุน

“ต้อง วิน วิน พูดง่ายๆ คือเขาลงทุนมา ก็ต้องการได้ผลตอบแทน แต่ผลแทนอาจไม่ได้อยู่ในรูปเงินเสมอไป แต่อาจอยู่ในรูปการเกื้อหนุนทางธุรกิจ หรือว่าบางคนอาจมีความสุขจากการได้ช่วยสตาร์ทอัพก็ได้ ก็ขึ้นอยู่กับว่า นักลงทุนที่เข้ามาเขาต้องการอะไร ถ้าตัวบริษัทไปได้ และวิสัยทัศน์ของคนที่จะไปร่วมกันมันไปได้ ธุรกิจก็โตได้เช่นกัน ผมมองว่าโอกาสเปิดกว้างมากสำหรับกลุ่มสตาร์ทอัพ มีช่องทางให้ทำเงิน และเป็นธุรกิจที่เติบโตเร็วมาก ขอเพียงแค่เห็นโอกาส”

แม้จะเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโต และมีตัวอย่างของคนที่ประสบความสำเร็จให้เห็น แต่ตามสถิติแล้วธุรกิจสตาร์ทอัพที่แจ้งเกิดได้จะมีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ส่วนอีกร้อยละ 90-95 ของธุรกิจ จะ “ล้มเหลว” ไม่ต่างจากธุรกิจเกิดใหม่ทั่วๆ ไป

“สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล” ผู้อำนวยการสถาบัน พัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ ISMED หน่วยงานพัฒนาธุรกิจเกิดใหม่ของเมืองไทยที่ไม่ใช่เฉพาะธุรกิจไอที บอกเราว่า ธุรกิจสตาร์ทอัพยังคงมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามความสนใจของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่อยากเป็นเจ้าของกิจการมากกว่าลูกจ้าง แต่การจะทำสตาร์ทอัพให้แจ้งเกิด ไม่ใช่มีแค่ใจ “อยากทำ” หรือ “คิดต่าง” แล้วจะประสบความสำเร็จ เพราะยุคนี้ปัจจัยแค่นั้นไม่เพียงพอเสียแล้ว

“แค่คิดแตกต่างเริ่มไม่พอแล้ว แต่ต้องคิดใหม่ด้วย คือ คิดสิ่งที่คนอื่นไม่เคยนึกถึงมาก่อน อย่าไปทำตามความเคยชินว่า เปิดร้านดอกไม้ ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านกาแฟ ที่มันง่ายเกินไป แบบนั้นผมมองว่าไม่ยั่งยืน แต่ต้องกล้าคิดแตกต่าง คิดใหม่ และเข้าสู่โลกใหม่ด้วยเทคโนโลยี ที่สำคัญคือ ต้องสร้างทีมให้มีส่วนร่วม"

เขาบอกว่า คนรุ่นใหม่อาจเชี่ยวชาญเทคโนโลยี แต่ยังขาดประสบการณ์ และการตัดสินใจที่เฉียบคม จึงจะต้องอาศัย "ระบบพี่เลี้ยง" ที่จะคอยเป็นที่ปรึกษาไปลดความเสี่ยงในธุรกิจเกิดใหม่ของคนกลุ่มนี้

ขณะที่ “ผศ.ดร. เอกชัย อภิศักดิ์กุล” คณบดีคณะบริหารธุรกิจ ม.หอการค้าไทย บอกว่า การสร้างสังคมสตาร์ทอัพให้เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น ต้องเริ่มจากสนับสนุนให้คนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ รัฐบาลเองก็ต้องเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนด้วย รวมถึงต้องสร้างทัศนคติใหม่ในสังคม คือการ “ไม่กลัวความล้มเหลว” เพราะธุรกิจเกิดใหม่มีโอกาส “เจ๊ง” มากกว่ารอด

ถ้าเปลี่ยน Mindset ตรงนี้ได้ โอกาสเติบใหญ่ของธุรกิจสตาร์ทอัพในไทย ก็จะยังไปได้ “สวย”
------------------------------------------

"ทุนทั่วโลก" แห่รุก Startup อาเซียน


500 Startups ประมาณการว่า ในปี 2556 นี้ Startup ทั่วโลก มีการระดมทุนแบบ Seed Funding รวมกันแล้วราว 1,700 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 51,000 ล้านบาท) และมีการลงทุนระดับ Series A อีกราว 700 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 21,000 ล้านบาท)

หน่วยงานดังกล่าว ยังบอกด้วยว่า นักลงทุนจากทั่วโลก วงเงินนับแสนล้านบาท มีแนวโน้มจะโยกเงินลงทุนเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น หลังเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจทั้งในยุโรปและอเมริกา ส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนของกลุ่ม VC (Venture Capital) ที่สนใจลงทุนในธุรกิจเกิดใหม่ (Startup) เบนเข็มสู่ภูมิภาคอาเซียน ปลุกให้ตลาดสตาร์ทอัพขยับโตขึ้นอย่างน่าจับตา

เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่นักวิเคราะห์มองว่า..น่าจะมีเงินลงทุนในสตาร์ทอัพไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท!

โดยกลุ่มทุนต่างชาติที่เห็นการเคลื่อนตัวเข้ามาลงทุนในธุรกิจ Startup ในช่วงที่ผ่านมาคือ "ทุนญี่ปุ่น" แม้ว่าหากเทียบเม็ดเงินลงทุนรวม "ทุนสิงคโปร์" จะยังคงเป็นทุนหลักที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้

.....................

“Jazz pay”
ธุรกิจแจ้งเกิดจากเวที Startup Weekend

“Jazz pay” คือ ธุรกิจการทำธุรกรรมบนโลกไซเบอร์โดยไม่ต้องใช้เครดิต ผลผลิตจาก เวที Startup Weekend Bangkok: from Zero to Hero นี่คือการแข่งขันสร้างผู้ประกอบการ โดยใช้เวลา 54 ชั่วโมง ที่ผู้แข่งขันต้องคิดค้นไอเดีย สร้างทีม คิดแผนธุรกิจ พร้อมลงมือผลิตให้เป็นธุรกิจจริง ก่อนนำเสนอให้กับคณะกรรมการและนักลงทุน ซึ่งมีการจัดการแข่งขันไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยโดยการนำของ สถาบันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

นี่คือการร่วมทีมของคนแปลกหน้า ที่ลงตัว และแข็งแกร่ง เริ่มจาก “คาร์ลอส แอร์เรร่า” ชาวโคลัมเบีย ที่ทำงานด้าน Lead of Developer “พอล ฮาเบอร์เรอร์” ชาวแคนนาดา ที่ทำงานด้าน Payment และ Management “ขจรพงศ์ ปรัชญางค์ปรีชา” ที่มาจากสายงาน Business Consultant และเป็น Business Entrepreneur “ฬุศรัณย์ ศิลป์ศรีกุล” ชายหนุ่มผู้มีความฝันและเริ่มทำ Startup เล็กๆ ของตัวเอง และ “ฤทธิ์พล วงศ์ทวีสินค้า” นักแสวงหาโอกาส ที่มีประสบการณ์ด้าน Digital Creative และ Digital Marketing

“เพื่อนที่ชื่อ คาร์ลอส เขามีไอเดียเกี่ยวกับระบบ Payment ซึ่งผมมองว่าน่าสนใจเพราะว่าต้องอาศัยคนที่มีสเปียลลิสต์ด้านนี้ ต้องรู้อะไรเยอะ เป็นบลูโอเชียนในธุรกิจสตาร์ทอัพ”

เขาสะท้อนความคิด ก่อนเลือกเข้าร่วมเป็นหนึ่งในทีม ที่ออกจะนอกสายตาผู้แข่งขันวันนั้น เพราะส่วนใหญ่จะมุ่งไปทางกลุ่มท่องเที่ยวที่ดูสดใสกว่า แต่เขาและทีมกลับมองว่านี่ต่างหากคือโอกาสของการทำธุรกรรมบนโลกไซเบอร์โดยไม่ต้องใช้เครดิต เพื่อลดปัญหาการใช้เครดิตการ์ดบนโลกออนไลน์ ซึ่งยังมีโอกาสสูงมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ยังมีการใช้บัตรเครดิตรการ์ดที่ต่ำมาก คือ อยู่ที่ 10-15% ของประชากรทั้งหมด จึงมีคนอีกเยอะมากที่ธุรกิจพวกนี้ “เข้าไม่ถึง” ซึ่งทั้งหมดก็ล้วนเป็นโอกาสของธุรกิจน้องใหม่อย่างพวกเขา

“เมื่อตัดสินใจที่จะเข้าร่วมทีม เราก็ต้องรีบปรับตัวและสร้างความเชื่อมั่นให้กับแต่ละคนในทีมให้ได้เร็วที่สุด ซึ่ง
JazzPay มีทีมที่ดีมาก แต่ละคนในทีมล้วนมาจากสายงานที่แตกต่างกันออกไป และเป็นที่ต้องการของตัวธุรกิจพอดี ในวันแรกเราคุยกันให้ได้มากที่สุด และวางแผนสำหรับวันถัดไป เผื่อจะให้มีความชัดเจนของกำหนดการต่างๆ ซึ่งการมีทีมที่ค่อนข้างพร้อม คือ เหตุผลที่ทำให้เราคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 มาได้”

หลังรับรางวัล ธุรกิจจากไอเดียไม่ได้สูญหายไปไหน แต่เป็นการเริ่มต้นก่อร่างธุรกิจจริงของพวกเขา โดยวันนี้อยู่ระหว่างการทดลองใช้งานและตรวจสอบระบบความปลอดภัย เพื่อนำผลลัพธ์มาประเมินก่อนตัดสินใจกันในทีมว่า จะไปในทิศทางไหนต่อไปได้

“คิดว่าจะพยายามทำให้มันเกิดขึ้นจริงให้ได้ แต่ก็ไม่ได้ตั้งเป้าว่า จะต้องสำเร็จได้ไกลแค่ไหน ก็แค่ล้มเหลวให้ได้ช้าที่สุด ล้มเหลวก็ไม่เป็นไร สร้างโอกาสขึ้นใหม่ และผมจะยังคงมุ่งไปในธุรกิจ Payment นี่แหล่ะ เพราคิดว่าระบบ Payment ในภูมิภาคนี้ยังไปได้อีกไกล”

สำหรับคนที่อยากเริ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ แต่อาจไม่คุ้นเคยเรื่องเทคโนโลยี คนมีประสบการณ์มาก่อน บอกว่า นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะมองว่า สตาร์ทอัพ เกิดจากการที่แต่ละคน มีอะไรติดขัดในชีวิต แล้วก็เอาจุดเล็กๆ จุดนั้น มาแก้ปัญหา ซึ่งนั่นก็เกิดเป็นสตาร์ทอัพได้แล้ว ขอแค่กล้าออกไปแสวงหาโอกาส และสร้างโอกาสขึ้นมา โดยไม่ทำเพียงแค่นั่งรอโชคชขะตา แน่นอนว่า จะล้มเหลวก็ไม่เป็นไร ขอแค่ไม่ยอมแพ้ไปก่อนเท่านั้น

“งาน Startup Weekend เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถช่วยให้เราสร้างธุรกิจขึ้นมาได้ง่ายมากกว่าการเริ่มต้นอะไรด้วยตัวเองคนเดียว และยังมีทีม Coach ที่คอยช่วยคิด วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของธุรกิจ ทำให้เราเรียนรู้อะไรได้เร็วมากๆ แต่ทุกอย่างจะต้องเริ่มต้นจาก Mindset ของตัวเอง ผมมีความเชื่อว่า โอกาสไม่ได้เข้ามาหาเราหรอก แต่เราเองนั้นแหละที่เป็นคนสร้างโอกาสเอง อยู่ที่เราพร้อมจะเสี่ยงคว้าโอกาสนั้นๆ รึเปล่าเท่านั้น”

ฤทธิ์พล วงศ์ทวีสินค้า คนหนุ่มวัย 23 ปี สะท้อนความคิด และย้ำว่า ในช่วงชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยนี่แหล่ะ เหมาะที่สุดที่จะสร้างธุรกิจของตัวเอง เพราะมีทั้งเวลา และอัตราการรองรับความเสี่ยงที่ต่ำ แถมยังมีเวลาลองผิดลองถูกได้อีกเยอะ

ขอแค่ใจกล้า ลองกระโดดเข้ามาคว้าโอกาสให้กับตัวเองเท่านั้น