สะพานเก่า เล่าเรื่อง

สะพานเก่า เล่าเรื่อง

เคยสงสัยบ้างไหมว่า ชื่อสะพานช้างโรงสี แต่ทำไมถึงมีรูปปั้นสุนัข ? ชื่อสะพานมหาดไทยอุทิศ แต่ใครๆ กลับเรียกกันว่าสะพานร้องไห้ ?

สะพานอรไทย สะพานชมัยมรุเชษฐ เป็นชื่อของใครในประวัติศาสตร์ ?
อากาศกำลังเย็นสบายเหมาะแก่การออกกำลังกายและความคิด กรุงเทพวันอาทิตย์ ชวนคุณเดินกินลม ชมสะพานเก่า เล่าความหลังครั้งอดีตไปด้วยกัน

สะพานอรไทย
เป็นสะพานข้ามคลองเปรมประชากร ส่วนที่บรรจบกับคลองผดุงกรุงเกษม บริเวณมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของทำเนียบรัฐบาล ชื่อของสะพานอรไทย ตกเป็นข่าวดังในหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ในเหตุการณ์การปะทะดุเดือดระหว่างผู้ชุมนุมเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อวันที่ 2-3 ธันวาคม ที่ผ่านมา
อรไทย เป็นนามของผู้ใด ? และมีที่มาอย่างไร
ตามประวัติกล่าวว่าสะพานอรไทย ตั้งขึ้นตามพระนามของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญา พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาบัว ธิดาของเจ้าพระยานครศรี ธรรมราช (น้อย ณ นคร)

สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก หากเคลื่อนย้ายแท่งแบริเออร์คอนกรีตที่บดบังอยู่จะพบกับเหล็กดัดและราวสะพานลวดลายงดงาม รวมทั้งประติมากรรมปูนปั้นที่ประดับตกแต่งอยู่บริเวณเสาและโคมไฟ ล้วนเป็นศิลปกรรมแบบยุโรปที่ได้รับความนิยมในแผ่นดินของพระพุทธเจ้าหลวงทั้งสิ้น
สถานที่สำคัญเกี่ยวเนื่องกับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญา ยังมีพระตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแด่พระขนิษฐา ในพระที่นั่งวิมาเมฆ
ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญา ปัจจุบันจัดแสดงพระภูษาในราชสำนักในสมัยรัชกาลที่ 5 และผ้าไหมจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ใครที่สนใจใคร่ศึกษาผ้าโบราณ อาทิเช่น ผ้ายกไหมเซี่ยงไฮ้ ผ้าอัดลัต ผ้ายกทอง ไม่น่าพลาดการเข้าเยี่ยมชม

ชมัยมรุเชษฐ
สะพานข้ามคลองเปรมประชากร หน้าทำเนียบรัฐบาล แยกพาณิชยการ อีกสถานที่หนึ่งที่เกิดการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งมีการยิงแก๊สน้ำตาอย่างต่อเนื่อง
ชมัยมรุเชษฐ มีความหมายถึง สะพานที่สร้างให้พี่ชายผู้วายชนม์สองพระองค์ สร้างขึ้นในปีพ.ศ.2444 โดย สมเด็จพระปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงราชสิรินธร พระราชธิดาลำดับที่ 43 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ตามข้อความที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 4 พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก119 ความว่า
" สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ทรงบริจาคทรัพย์สร้างตะพาน
ด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ได้ทรงเจริญพระชนมพรรษา มาเท่าพระชนมพรรษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฏราชกุมาร ในวันที่ 26 ตุลาคม รัตนโกสินทรศก 119 และจะเท่าพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงษวโรไทย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ ในวันที่ 25 เมษายน รัตนโกสินทรศก 120 จึงได้ทรงพระศรัทธาบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นจำนวนเงิน 6,780 บาท บำเพ็ญพระกุศลสร้างตะพาน เพื่อให้เป็นสาธารณประโยชน์ ทรงอุทิศส่วนกุศลถวายพระเชษฐภาตาทั้งสองพระองค์
...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหฤทัยยินดีและทรงอนุโมทนาในส่วนพระกุศลนี้ และได้พระราชทานนามว่า ตะพานชมัยมรุเชษฐ
"
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบยุโรป แม้ว่าจะมีการบูรณะซ่อมแซมภายหลังไปมาก หากลวดลายของวงโค้งประดับกรอบชื่อสะพาน ที่สอดคล้องรับกับลวดลายของเหล็กดัดบริเวณราวสะพานก็ยังคงความงามที่อ่อนช้อยสวยงามจนวันนี้

ช้างโรงสีแต่ไม่มีช้าง
ลวดหนามที่นำมาเป็นปราการป้องกันผู้ชุมนุมคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ยังคงอยู่เชิงสะพานช้างโรงสีทั้งฝั่งกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย
เห็นรูปปูนปั้นหน้าสุนัขที่อยู่ติดกับลวดหนามผูกโบสีชมพูและฟ้า ทั้งที่มีตัวหนังสือเขียนว่าสะพานช้างโรงสี ทำให้อยากค้นหาถึงที่มาว่าเป็นเช่นไร
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นบ้านเมืองยังต้องทำศึกเพื่อความปึกแผ่นมั่นคงของราชอาณาจักร "ช้าง" เป็นสัตว์สำคัญที่ใช้เป็นพาหนะในการยาตราการศึกสงคราม ดังนั้นจำเป็นต้องมีสะพานที่แข็งแรงมั่นคงสามารถรับน้ำหนักของช้างที่จะเดินข้ามคูเมืองได้ แต่เดิมมีสะพานสำหรับช้างอยู่ 3 สะพานได้แก่

สะพานช้างวังหน้า (ที่ลาดเชิงสะพานปิ่นเกล้า)

สะพานช้างปากคลอง (สะพานเจริญรัช)

สะพานช้างตรงถนนบำรุงเมือง ที่เรียกขานกันว่าสะพานช้างโรงสี เพราะสมัยนั้นบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของโรงสีข้าวฉางหลวงสำหรับพระนคร
ลักษณะของสะพานเดิมเป็นไม้ซุงขนาดใหญ่ มีการปรับเปลี่ยนซ่อมแซมหลายครั้ง กระทั่งปีพ.ศ.2453 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย โปรดให้บูรณะสะพานใหม่ให้เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก

หัวมุมปลายสะพานประดับรูปปูนปั้นหัวสุนัขระบุศักราช 129 หมายถึงปีที่ซ่อมสะพานซึ่งตรงกับปีจอ อันเป็นนักษัตรปีประสูติของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เริ่มต้นจากช้าง มาลงเอยที่สุนัขด้วยประการฉะนี้

ทำไมสะพานถึงร้องไห้
เหตุที่เรียกขานกันว่าสะพานร้องไห้ เพราะว่ามีประติมากรรมปูนปั้นประดับสะพานเป็นรูปสตรีและเด็กพากันร้องไห้ อยู่ในอาการเศร้าโศก เดินทีเชื่อกันว่าเป็นสะพานที่สร้างขึ้นแสดงถึงความโศกเศร้าของพสกนิกรในการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ข้อสังเกตของ ศิริชัย นฤมิตรเรขการ ที่เขียนไว้ในหนังสือ สะพานเก่ากรุงเทพฯ กล่าวว่าเมื่อดูจากป้ายจารึก และปีพ.ศ.2467 ที่สร้างนั้นห่างจากปีสวรรคตไปแล้วถึง 15 ปี
แท้ที่จริงแล้วสะพานนี้ สร้างขึ้นจากเงินบริจาคของเหล่าข้าราชการกระทรวงมหาดไทย เพื่อแสดงความอาลัยในโอกาสที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพ้นจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จึงมีชื่อเรียกขานอย่างเป็นทางการว่า สะพานมหาดไทยอุทิศ
ความงดงามของสะพานร้องไห้ นอกเหนือจากประติมากรรมปูนปั้นรูปมงคลที่สะท้อนอารมณ์ได้อย่างเหมือนจริงแล้ว ยังมีประติมากรรมนูนรูปราชสีห์สัญลักษณ์ของกระทรวงมหาดไทย ลูกกรงสะพานรูปพวงหรีด และราวสะพานทำเป็นรูปพวงมาลัย ซึ่งเต็มไปด้วยความหมายและความงามทางศิลปะที่ผสานกันอย่างกลมกลืน
สะพานร้องไห้ เป็นสะพานเล็กๆ ตั้งอยู่ใกล้กับสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ข้ามคลองมหานาค และเป็นหนึ่งในสะพานเก่ากรุงเทพฯที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ ในปีพ.ศ.2518

ผ่านฟ้าลีลาศ
เป็นอีกหนึ่งสะพานที่มีความสวยงามมาก ใครที่เคยขับรถผ่านขอแนะนำให้ลองมาเดินชมสักครั้ง มาแล้วเดินต่อไปชมสะพานร้องไห้ที่สวยงามคนและแบบใกล้ๆ กันด้วย
แม้ว่าไม่ปรากฏปีที่สร้าง หากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้สร้างใหม่แทนสะพานเดิมเพื่อให้มีขนาดใหญ่ สวยงาม รับกับถนนราชดำเนิน ออกแบบโดยช่างชาวยุโรป
ปลายสะพานทั้งสองด้านตกแต่งด้วยเสาหินอ่อนแกะสลักประดับด้วยเครื่องสำริด ราวสะพานเป็นเหล็กหล่อเป็นรูปดอกทานตะวัน ที่เสาสะพานตรงกลางมีรูปเรือยุโรปโบราณประดับอยู่ เหนือขึ้นเป็นมีลายเฟื่องอุบะประดับคู่กับหัวสัตว์ทำขึ้นอย่างประณีตสวยงาม
เป็นสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่แสดงให้เห็นถึงรูปแบบการผสมผสานระหว่างศิลปะไทยกับตะวันตกได้อย่างแนบเนียน
ยังมีสะพานข้ามคูเมืองเดิม หรือ คลองหลอดในปัจจุบันที่มีสถาปัตยกรรมงดงามให้เราได้ชื่นชมและศึกษาอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นสะพานปีกุน หรือสะพานหมู สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ถวายสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ครั้งพระชนมายุครบ 50 พรรษา สะพานหก หรือ สะพานยกได้ สร้างตามแบบสะพานเมืองวิลันดา ประเทศเนเธอร์แลนด์ สะพานอุบลรัตน์ สะพานเจริญศรี 34 เป็นต้น

สถานที่ทุกแห่งล้วนมีที่มาชวนค้นหา ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองอย่าสนใจหรือว่าผ่านเลยไป
เอกสารอ้างอิง : หนังสือ สะพานเก่ากรุงเทพฯ ผู้เขียน ศิริชัย นฤมิตรเรขการ , ศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ และวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพ ประเสริฐ เทพศรี