อานันท์ นาคคง ว่าด้วยวัฒนธรรมนกหวีด
ไล่เรียงความเป็นไปของนกหวีด การเดินทางของสิ่งประดิษฐ์นี้ กับการสำแดงบทบาทในสังคมไทยปัจจุบัน
ในฐานะคนสอนหนังสือที่สนใจในเนื้อหาด้านมานุษยวิทยาดนตรี วันก่อน อานันท์ นาคคง พานักศึกษาลงสำรวจพื้นที่การชุมนุมของมวลมหาประชาชนตามเวทีต่างๆ เพื่อสังเกตการณ์ เก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อนำไปวิเคราะห์มองหาความหมายของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ผ่านมิติของเสียงและบริบททางวัฒนธรรม
ด้วยเหตุที่คลุกคลีอยู่กับสุ้มเสียงต่างๆ มายาวนาน มีปูมหลังประสบการณ์ทางด้านนี้โดยตรง อานันท์ นาคคง จึงพยายามอธิบายวัฒนธรรมนกหวีด ผ่านมุมมองของเขา ซึ่งปรากฏอยู่ในบทสัมภาษณ์เบื้องล่างนี้แล้ว
อย่างน้อยๆ นี่คืออานุภาพเสียงของนกหวีด ที่ยังมีเรื่องราวอื่นๆ อะไรอีกมากมาย เกินกว่าที่หลายคนจะคาดคิด
กรณีลงพื้นที่การชุมนุมครั้งล่าสุด คุณมุ่งสำรวจอะไร
ผมมีอยู่ 3 ภารกิจในความสนใจส่วนตัว กับสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของ sound & society เสียงที่มีมิติกับเรื่องความแปลกแปลงระหว่างเวลาและสถานที่ก็สนใจ ไม่จำเป็นต้องม็อบ ผมไปไหนก็ไปเก็บเสียงอยู่แล้ว
สองคือด้วยความเป็นนักวิชาการทางด้านมานุษยวิทยาดนตรี ซึ่งเราจะทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ของมนุษย์ในมิติของเสียง นอกจากเรื่องของดนตรีเสียงอื่นๆ ทำให้เราได้เห็นความดำรงอยู่ ความเปลี่ยนแปลง หรือสิ่งที่มันเป็นปรากฏการณ์อะไรบางอย่างของมนุษย์แต่ละสังคม เพราะฉะนั้นดนตรีก็ต้องมี issue อะไรบางอย่าง เป็นตัวอย่างสำหรับการศึกษา การสืบค้น
แล้วก็ในภาคการศึกษา เรามีเคสของ fieldwork study ซึ่งบางปีก็จะไปเข้าป่าเข้าดงกัน บางปีไปในพื้นที่ที่เป็นประเพณีพิธีกรรม พอมาเทอมนี้ประจวบเหมาะกับในเมืองของเรา มีกิจกรรมการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ สิทธิอะไรบางอย่างทางการเมือง แล้วเห็นว่ามีดนตรีหลากหลายอยู่ในนั้น รวมไปถึงเสียงที่ไม่คิดว่ามันจะมีอานุภาพมาก คือเสียงของนกหวีด เลยตั้งประเด็นว่าเราไปทำ fieldwork นกหวีดกันโดยการศึกษาแบบมีส่วนร่วม เข้าไปอยู่ในสถานที่จริง เข้าไปนั่งฟังปรากฏการณ์ของการต่อรองกันระหว่างตัวผู้นำ จะเรียกว่าแกนนำ หรืออะไรก็แล้วแต่ กับผู้ที่อยู่รายรอบ บรรดากองเชียร์ ผู้ชุมนุม ผู้สนับสนุน ขบวนมหาประชานกหวีด ว่าเขามีปฏิสัมพันธ์อะไรกัน ส่วนดนตรีอื่นๆ ก็แล้วแต่ว่า ไปดูเวทีไหนก็เจอบทบาทของกลุ่มไหนทำอะไร
ดูเหมือนจะเป็นงานน่าสนุกของนักมานุษยวิทยาดนตรี ?
ไม่รู้ว่าสนุกหรือเปล่า แต่มันก็เป็นความหลากหลาย แต่ถ้ามาดูในแง่ของความสุข ความพึงพอใจ จริงๆ เราแลกกับความหดหู่หลายเรื่อง กับสิ่งที่มันเป็นนิยามของดนตรี หรือแม้แต่เจ้าตัวนกหวีดเองก็ตาม ครั้งหนึ่งมันเคยเป็นเครื่องมือในการส่งสัญญาณ แต่ตอนนี้มันมาเป็นเหมือนอาวุธทางการเมือง แล้วก็เลยเถิดไปในด้านการเป็นแฟชั่น ซึ่งตอนหลังผมรู้สึกสนใจแฟชั่นนกหวีดมากกว่าการเป่านกหวีด เพราะว่าแต่แรกๆ มันมีความหมายมากในเรื่องของเสียง ในเรื่องของท่าที การโต้ตอบกันระหว่างแกนนำกับมวลมหาประชานกหวีด อยู่ไปอยู่มา มันกลายเป็นว่าเป็นแฟชั่นที่ต้องมี ต้องแต่ง แล้วห้อยคอ มันเดินทางไปสู่ชีวิตประจำวัน แล้วก็ไลฟ์สไตล์ที่ผูกติดกับโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ค และอินสตาแกรม เลยรู้สึกว่าตอนนี้เราอยู่กับเสียงที่เราไม่ได้ยิน แต่มันกลายเป็นการแชริ่ง แล้วกลายมาเป็นไลฟ์สไตล์ใหม่ของคนกลุ่มหนึ่ง ผมมองว่าเขาคือคนชายขอบ แต่ต้องมีเขานะ เพราะว่ามันสร้างอะไรบางอย่างที่เป็นสีสัน ที่ไม่อาจจะมีพลังการเมืองได้จริง แต่เขาถูกใช้ให้มาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนทางด้านการเมือง
แล้วก็ผมมองอีกด้านหนึ่งคือ บรรดาดีไซเนอร์ที่มีส่วนร่วม ทำให้นกหวีดทำเป็นสินค้า ดีไซเนอร์พวกนี้ก็มหัศจรรย์มาก เพราะตอนหลังก็ไปลองค้นไปดู ผมเจออะไรเยอะแยะไปหมด เช่นเรื่องของรูปร่างนกหวีดมันมีรูปร่างอะไร มีสีสันอะไร ทำมาจากวัสดุอะไร ผมไปดูในเรื่องของราคา แล้วมีบางอันที่เป็นนกหวีดลิมิเต็ด ไปถึงขนาดท่านที่มีอำนาจเหนือขึ้นไป ท่านก็มีนกหวีดทองคำขึ้นมา ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวที่น่าคิดเยอะ
นกหวีดเดิม คือนกหวีดมาตรฐาน แต่ตอนนี้เริ่มมีการจัดแบ่งระดับ ?
มันเริ่มมีรูปร่างหน้าตาที่เปลี่ยนแปลง มีวิธีนำเสนอที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ มันกลายเป็นหนึ่งในอุปกรณ์การแสดงความเป็นผู้มีส่วนร่วมทางการเมือง แต่การมีส่วนร่วมทางการเมืองมันถูก blur out ด้วยแฟชั่นอื่นๆ ที่เข้ามาประกอบ ผมเคยสนใจธงชาติมากๆ เลยนะ จากการที่ธงชาติเป็น identity ของคนในสังคม กับการที่ธงชาติต่อมามันกลายไปเป็นโบว์ เป็นแว่นตา เป็นหมวก เป็นเสื้อยืด อะไรต่างๆ นานา ซึ่งทุกอย่างมันมีราคา มันมีค่าใช้จ่าย
ทุกคนยอมซื้อในราคาที่แพงกว่าต้นทุนด้วยซ้ำไป ?
นั่นล่ะครับ ส่วนหนึ่งอาจจะมี gimmick ว่า เราจะเอาเงินส่วนนี้เพื่อไปสนับสนุนการชุมนุม แต่เราก็รู้ว่าโลกของธุรกิจมันไม่ซื่อสัตย์อย่างนั้นหรอก แล้วการที่มีอุตสาหกรรมอย่างนี้เกิดขึ้น พอมันเลยเวลาช่วงนี้ไปแล้วเนี่ย ธงชาติเหล่านี้จะไปอยู่ที่ไหน ผมเขียนเฟซบุ๊คเล่นๆ ว่าผมอยากมีพิพิธภัณฑ์นกหวีดและธงชาติที่ใช้อยู่ในสถานการณ์นี้ แล้วก็การบอกเล่าเรื่องราวของนกหวีด แน่นอนว่าย้อนกลับมาที่่ภารกิจที่ทำอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหนก็ตาม ผมจะมีเครื่องบันทึกเสียงเล็กๆ ติดมือไปด้วย เพื่อที่จะบันทึกเสียง แม้จะรู้ว่าเสียงเหล่านี้ไม่ใช่เสียงที่ดีต่อสุขภาพของเครื่องบันทึก
ตกลงคุณเป็นห่วงสุขภาพเครื่องบันทึก หรือหูของตัวเอง ?
แน่นอน สุขภาพหูของตนเองก็เป็นอยู่แล้วล่ะ แต่ผมฟังดนตรีที่เสียงสลับซับซ้อนมากกว่านี้มาตลอดชีวิตอยู่แล้ว แต่ว่าเรื่องของเครื่องบันทึกที่ไปทำงานอยู่กับมวลมหาประชานกหวีด มันไม่ได้มีแค่นกหวีด มันมีวูวูเซล่า มันมีอื่นๆ ต่างๆ นานาเข้ามา มันเจอสิ่งต่างๆ เหล่านี้ บางวันมันก็เกือบจะถูกทำลาย ด้วยเพราะคุณพี่การ์ดไม่ค่อยจะแฮปปี้นักว่า คุณมาทำอะไร เราต้องอธิบายมากมายว่า ผมมาบันทึกเพราะอยากจะศึกษา จริงๆ วิชาการมันช่วยอะไรไม่ได้เลยกับบางสถานการณ์ กับไอ้ความไม่ถูกอกถูกใจ แต่มันก็รอดมาได้
จริงๆ ประสบการณ์หลังจากที่มันมีระบบความปลอดภัย คุณไว้วางใจคนมีแฟชั่น แต่คุณไม่ไว้วางใจคนมีเครื่องบันทึกแบบนี้ ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดอยู่เหมือนกัน ผมเลือกที่จะไม่แต่งตัวนกหวีดเลย ไม่มีธงชาติอยู่ที่ตัว ผมไปแบบนี้แหละ มีเครื่องบันทึกเสียงติดตัว มีกล้องเล็กๆ ตัวหนึ่ง ซึ่งพร้อมที่จะกดอะไรก็ได้อยู่เรื่อยๆ มีไอแพดที่จะเผื่อบันทึกด่วน แล้วเขียนอะไรสนุกๆ แชร์ในเฟซบุ๊ค แล้วก็มีสมุดบันทึกเล็กๆ มันก็ดูแล้วไม่ใช่ประชาชนส่วนใหญ่ของมวลมหาประชานกหวีด แต่ว่าผมก็เห็นอะไรบางอย่างว่า ถ้าไม่มีตรงนี้ เราก็เก็บอะไรมาไม่ได้เต็มที่ บางอย่างผมก็บันทึกในระหว่างนั้นว่าผมเห็นอะไร
ผมเขียนได้ 7 กลุ่มใหญ่นะ นกหวีดมันมี layer ของมัน เอางี้ครับ คำว่า whistle ที่เราแปลว่านกหวีด ในภาษาของดนตรีจริงๆ มันไม่ใช่แค่ตัว whistle ที่เราเห็นเท่านั้น whistle เป็น verb ในการส่งเสียงออกจากลมหายใจ ให้มันมีเสียงที่แตกต่างไปจาก consonant ต่างๆ ของภาษาปากภาษามนุษย์ มันสามารถใช้ในการส่งภาษาบางอย่างได้ ไม่ว่าเราอยากจะเรียกคน อยากสร้างความสนใจ หรือแม้กระทั่งจีบสาว whistle ก็ช่วย (ทำเสียงผิวปาก) หรือแม้กระทั่งสร้างดนตรีจากมันได้
เสร็จแล้วเราก็หาท่อหาสิ่งที่มันเป็นเครื่องช่วย facilitate ให้ whistle นี้มีเสียงที่ยาวขึ้น ตัวโน้ตที่ชัดเจนมากขึ้น whistle ที่กลายเป็นเครื่องดนตรีเครื่องแรกๆ ของโลก ก็มีขลุ่ยที่ทำมาจากท่อไม้ไผ่ ทำมาจากกระดูก อย่างของพวกธิเบต ไปจนถึง whistle ที่เป็นยุคของอุตสาหกรรม penny whistle พวก irish whistle มันกลายมาเป็นเสียงภาษาของชนเผ่าเยอะแยะไปหมดที่ใช้ whistle กัน ไปจนถึงคนอินเดียนแดง แล้ว whistle ก็เปลี่ยนตนเองไปเป็นเสียงที่มันมีพลังอะไรบางอย่าง แล้วเป็นโน้ตที่ชัดเจนสั้นๆ ใช้ในกองทัพ ตั้งแต่กองทัพจีนโบราณที่กองทหารมากมาย แล้วทำยังไงถึงจะให้สัญญาณกันได้ กลองเป็นเรื่องของสปิริต แต่ whistle เป็นภาษาเป็นโค้ดที่บอกว่าเราจะตีฝั่งไหน แล้วมันกลายเป็นสัญญาณของพวกทหารจีนกับมองโกลในยุคหนึ่ง ที่จะมีการตระเตรียมเวรยามไปจนถึงเรื่องของแผนการรบอย่างไร แล้ว whistle ก็กลายไปเป็นเหมือนกันในกองทัพยุโรป ที่เป็นเครื่องในการฝึกซ้าย-ขวา-ซ้าย ในการเรียกสัญญาณเริ่ม สัญญาณหยุด แล้ว whistle ก็เป็นเรื่องของกีฬา ซึ่งเราก็คงจะเห็นกรรมการกีฬาต่างๆ นานา ที่เขาใช้ whistle แล้วก็กลายเป็นสัญญาณจราจร ไม่ว่ารถจะหยุด รถจะไป เร่งรถ เร็วหน่อย ช้าลง whistle มีโค้ดของมันมากมาย
whistle มีฟังก์ชันหลักๆ อยู่ แต่แปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์
ด้วยครับ หรือชีวิตประจำวันของคนบางกลุ่ม เช่นพวกพราน มันคงไม่มีเสียงใดที่อยู่ในป่าแล้วดีเท่าเสียง whistle แล้วเค้าก็ประดิษฐ์ whistle ขึ้นมา เพื่อที่จะใช้ล่านก ที่เขาเรียก duck whistle หรือ bird whistle ที่จะเรียกเป็ดเรียกนกมา แล้วยิงมัน ในภาคเหนือ เราก็มีนกหวีดที่เป็นเสียงของลิง เครื่องล่าลิงนั่นก็รวมอยู่ในเสียงของ whistle
จากริมฝีปากของเรามนุษย์พัฒนาเป็น...
เราใช้มันเป็นภาษาที่แตกต่างไปจากภาษาที่ถูกกำหนดจากลิ้น จากเหงือก จากปุ่มอะไรต่างๆ นานา มันเป็นเสียงที่ไม่มีสระ ไม่มีพยัญชนะ ไม่มีวรรณยุกต์ก็จริง แต่มีอำนาจในการสื่อสารในระดับหนึ่งเลย แล้วก็มันถูก vary ไปตามโลก คือผมสนใจว่าถ้า whistle มันเป็นขนาดนี้ได้เนี่ย ทีนี้ประเทศหนึ่งเล็กๆ ที่อยู่ในโลก มันมีกองทัพของประชาชนที่ใช้วิธีการปฏิวัติ ด้วยการมี whistle แต่มันยกระดับไปกว่ากระบวนการการปฏิวัติอื่นๆ ก็พยายามที่จะศึกษาอยู่บ้างว่า เรามีการเป่านกหวีดทางการเมือง อะไรยังไง อย่างที่เรารู้ๆ อยู่ อย่างอเมริกัน ไปจนถึงพวกตะวันออกกลาง แต่ว่าการที่ม็อบ ตั้งแต่ม็อบอุรุพงศ์ ม็อบกองทัพธรรม ม็อบสามเสน ยาวมาถึงราชดำเนิน แเล้วตอนนี้มันกลายไปเป็นแฟชั่น whistle ก็โอ้โห ! เป็นประเทศที่มหัศจรรย์
จะพูดได้ไหมว่า เราพัฒนา whistle มาใช้ในเรื่องของการแสดงจุดยืนทางการเมืองได้เข้มแข็งมากกว่าสังคมอื่นๆ
มันเป็น milestone หนึ่งของโลกเลยนะ ถ้ามองในด้านของว่า whistle ไม่ใช่เพียงแต่ว่าเสียงที่เอามาใช้ในการคัดค้าน หรือเสียงที่มาสร้างแรงกดดัน เพราะมันกลายไปเป็นสินค้าจำนวนมาก มันกลายไปเป็นงานดีไซน์ ที่มีความโก้เก๋ มีรุ่นที่จาก whistle ธรรมดาเป็นสายฟ้า วิธีคิดเรื่องสายฟ้าก็เท่มากแล้ว กลายเป็นประเทศไทยที่เป่า whistle แล้วก็มี whistle เป็นแผง เป็นบรรดา โดเรมอน โดเรมี เป็น แองกี้เบิร์ด เป็นตัวการ์ตูนต่างๆ หมีพูห์ก็มี อะไรก็มี แต่ว่ามันส่งเสียง แล้วก็การมี whistle บางคนก็ทำเป็นปืน มีพวก whistle ในเชิงศาสนาก็มี เป็นไม้กางเขน ซึ่งผมว่าน่าสนใจ เรื่องของพลังของกางเขนในการล่าซาตาน ล่าแม่มด มันก็สอดแทรกไปอยู่ในวิธีคิดของ whistle ได้ด้วย
แล้วมองในแง่ของสีที่มันอยู่กับ whistle whistle ที่ดังมากๆ ช่วงหนึ่งเป็นสีธงชาติ แล้ว whistle พวกนี้กลายเป็นเหมือนพระเครื่อง ห้อยคอ ศักดิ์สิทธิ์ มันกลายเป็นภาษาเดียวกัน คือคุณเดินเข้ามาในพื้นที่นี้แล้วก็มี whistle ห้อยคอ รู้เลยว่าคุณมีส่วนร่วม คุณเห็นด้วย คุณเป็นส่วนหนึ่งของมัน แต่ขณะเดียวกัน มันก็กลบเสียงที่ควรจะเปล่งออกจากชีวิตของคนในชีวิตประจำวัน คือเอา whistle ไปปิดปากเค้า แล้วมันไม่ได้พูดคำอื่นๆ เช่น "สู้โว้ย" ไม่ได้พูดคำว่า "ไม่ยอม" พี่น้องครับเราจะยอมมันไหมครับ "ปี๊ดดด" ... พี่น้องครับเราจะสู้ต่อไหมครับๅ "ปี๊ดดด" ...ยอมไหม "ปี๊ด" แรกคือ NO สู้ไหม "ปี๊ด" สองคือ Yes มันเป็นได้ทั้ง Yes และ NO แล้วมันมีมากกว่านั้น พอถึงเอ่ยชื่อของ ปู อี ปี๊ดดด... คือมันก็กลายเป็นคำว่า "เหี้ย" ได้ "ดอก"ได้ "ดอกทอง" ก็มี แล้วก็มี อีช้าง ปี๊ดดด...ขึ้นมา
แปลว่าขึ้นอยู่กับบริบทและชุดความคิดของคนเหล่านั้น ?
ด้วย (แต่) อีกด้านหนึ่งมันเป็น environment ของการที่บอกว่าฉันยังมีชีวิตอยู่นะ ซึ่งมันลักลั่นมากว่า แกนนำหลายคนพูดโดยไม่ได้สนใจว่า คนจะฟังเขาจริงๆ ไหม แกนนำที่มีชั้นเชิง คือพูดแล้วจะหยุดจังหวะให้คนได้มีส่วนร่วมตบมือ ที่ยุคหนึ่งเขาพัฒนาตีนตบ มือตบ และใจตบ ผมว่ามันน่าเก็บนะ ผมเดินทางมาตั้งแต่ 2535 แล้วพยายามที่จะเก็บเสียงมาเรื่อยๆ แล้วช่วงที่ไล่รัฐบาลทักษิณ ปี 49 ช่วงที่เกิดคลื่นชุดใหม่ที่ไม่ชอบใจขบวนการปกครองของคณะทหาร แล้วก็มาไล่ สมชาย (วงศ์สวัสดิ์) สมัคร (สุนทรเวช) ก็ตามเก็บเสียงมาตลอด ไปจนถึงม็อบเสื้อแดง ก็เก็บ แต่ว่าม็อบที่ผ่านมา โดนปราบหมดจากม็อบของมวลมหาประชาชนชุดนี้ เพราะมันมีภาษาของเสียง แล้วก็มีการใช้ดนตรีต่างๆ ใช้เสียงต่างๆ ที่เรางง
อธิบายไม่ได้หรืออย่างไร
จริงๆ อยากอธิบาย แต่อธิบายไปแล้วก็เริ่มไม่แน่ใจ สมมติว่าชุดของเพลงที่เราเคยเชื่อว่า มันเป็นเพลงการเมืองเพื่อชีวิต ณ จุดหนึ่งมันกลายไปเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ แล้ว ณ จุดหนึ่ง มันก็กลายไปเป็นเพลงของค่ายดังๆ ที่คนลุกขึ้นมาเต้น แล้วอีก ณ จุดหนึ่ง มันก็กลายไปเป็นเพลงต้านคอมมิวนิสต์ เพลงหลวงวิจิตรก็มี เพลงรำวงก็มี ซึ่งทุกอย่าง มันเคยเป็นอุดมการณ์ที่ตรงข้ามกันมาก่อน ในยุคสมัยหนึ่งในสังคมไทย แต่มันเหมือนกับว่าบนเวทีนี้ เราจะเห็นว่ามันเอาเพลงเหล่านี้มาใช้ในอีกความหมายหนึ่ง ประมาณนั้น
เรื่องของการมี interaction ของบรรดาศิลปินหลายรูปแบบ ก็ทำให้การติดตามเรื่องของเพลงในม็อบก็ blur out มันยิ่งกว่า grey zone ไม่ใช่ไม่รู้จะแยกอะไรต่อมิอะไรนะ แต่ว่าโดยจุดมุ่งหมายคือ ใครที่ขึ้นไปตรงนั้น คือการแสดงตัวตน แล้วคนที่อยู่ข้างๆ ที่ไม่ได้แสดงตัวตน ด้วยการเป็นนักพูดนักดนตรี ก็แสดงตัวตนด้วยแฟชั่น ด้วยเสียงนกหวีด แรกๆ ก็คงมีความหมายมาก
แต่ตอนหลังคือผู้นำม็อบ เมื่อกี้ผมบอกอีกทีว่าบางคนพูดแล้วฟัง คือพูดแล้วมีช่วงให้โต้ตอบ มี dialogue ไดอะล็อกกัน ตอนหลังนี่มันไม่มี dialogue เพราะว่าโดยความมันของคนพูด นักเทศน์ โดยเฉพาะพวกกลุ่มเพศที่สาม ผมไม่แน่ใจว่า มันขึ้นมาสนองอะไรแน่ ระหว่างตัวตน กับแนวคิดทางการเมือง แล้วเขาก็ไม่ฟังนกหวีดที่เป่าอยู่รอบๆ แล้วหลายม็อบที่ผมสะเทือนใจมากก็คือ เพศที่สามกดดันเพศหญิง คือนายกฯ ต้องยอมรับว่ามันคือเรื่องของผู้หญิงกับอำนาจการต่อสู้ระหว่างผู้ชาย แล้วก็เพศที่สามเนี่ย คนที่ถือนกหวีดจำนวนมหาศาลก็เป็นผู้หญิงอีกเหมือนกัน แล้วมันก็สร้างความรู้สึกล่าแม่มดไปพร้อมๆ กัน หลายคนก็พยายามจะเป่าอยู่รอบๆ เสียงของบรรดาเพศที่สาม แต่มันไม่มีอำนาจมากเท่า มันโดนถีบออกไปโดยสิ้นเชิง จากความไม่สนใจ ความมันในการที่บรรดาพวกนักพูดเหล่านั้นเขาขึ้นมาพูด
พลังของนกหวีด เมื่อถึงจุดหนึ่งมันรุกล้ำก้าวร้าว จนบดบังสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของการชุมนุมรึเปล่า
ผมรู้สึกมาตั้งแต่แรก โดยที่ไม่เดินเข้าไปในสนาม ว่าเมื่อคุณใช้นกหวีดอยู่กับตัว ยิ่งเป่ามาก คุณยิ่งไม่ได้ยินสิ่งต่างๆ รอบตัว แล้วก็คุณไม่มีโอกาสที่จะพูดอะไรบางอย่างออกมา เพราะว่ามันคาปากอยู่ มันเป็นการปิดปากด้วย แล้วมันเป็นการปิดหูตัวเองด้วย ในขณะที่เราไปเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการการเคลื่อนไหว ...
ถึงขั้น brain wash ไหม มันทำลาย dialogue ที่ควรจะเกิดขึ้นไหม
brain wash มันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่แล้วจากสื่อทุกอย่าง หรือแม้กระทั่งโลกของโซเชียลมีเดีย ถ้าเข้าโลกของโซเชียลมีเดียอย่างเป็นอาหารประจำวัน หรือเป็นชีวิตประจำวัน เราหนีไม่พ้น ว่าเราจะต้อง brain wash กับอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วยิ่งยุคหลังมีความรวดเร็วของการสื่อสาร เพราะฉะนั้นเกิดอะไรขึ้นปั๊ป แล้วเราก็คอมเม้นท์ แล้วเราก็ไลค์ แชร์ แล้วก็รู้สึกโกรธเคือง หรือเราตื่นเต้น หรือเราอะไรพวกนี้ มันก็มาของมันอยู่แล้ว ถ้าเรามองดูว่านกหวีดเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าไปอยู่ในโลกจำลอง ถึงมันจะมีหลายคนที่อยู่ในอุดมกาณ์จริง ตั้งใจที่จะเอานกหวีดเพื่อที่จะตอบสนอง แต่ไอ้คนอีกจำนวนไม่น้อยเลย ไอ้เสียงปี๊ดของเขา มันมีทั้งความหมายและถูกทำให้ไร้ความหมาย
ผมก็หวาดหวั่นนะ ถึงเวลาหนึ่งนักประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้สนใจว่าการต่อสู้ครั้งนี้จะผ่านไปโดยอะไร เขาสดุดีเพียงแค่ผู้นำในการต่อสู้ เช่น กำนันสุเทพ หรือแกนนำท่านอื่นๆ สดุดีวีรกรรมของคนที่เป็นหมากเบี้ยต่างๆ ผู้เสียสละ วีรชน หรือว่าอะไรก็ตาม แล้วก็ประณามคุณยิ่งลักษณ์ คุณธาริต หรือทหารตำรวจคนอื่นๆ ที่มีบทบาทส่วนร่วม หรือ สรยุทธ์ เอง แต่คนที่จะถูกลืมไปเลยคือ คนเป่านกหวีด ผมรู้สึกว่าวันใดวันหนึ่ง สังคมบันทึกการต่อสู้ การเสียสละ คนถูกคนผิดแล้วแต่ว่าใครจะเขียนประวัติศาสตร์ แต่พวกสาวน้อยทั้งหลาย ริมฝีปากบางๆ ที่มีนกหวีดติดเนี่ย ก็จะถูกเลือนหายไปแล้วก็ไม่มีใครสนใจอีก ทั้งๆ ที่มันคือสิ่งที่หล่อเลี้ยงให้บรรยากาศของการชุมนุมมันยืดเยื้อมาได้ มันเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงให้ธุรกิจการตลาด การแฟชั่น มันขึ้นมาได้ หรือแม้กระทั่งประชาชนรถเข็น สื่อมวลชนที่มีอะไรสวยๆ งามๆ ได้ดูมากกว่าการที่จะไปนั่งจดอย่างเดียวว่า วันนี้เขามีคำด่า อีโง่ กี่คำ พวกนี้มันจะถูกลืมไปหมด เลยคิดว่าอย่างน้อยการได้ไปบันทึกเสียงพวกเธอในการเป่านกหวีด หรือตอนหลังที่ผมไปสนใจแฟชั่นคนที่ห้อยนกหวีด คนที่กำลังเป่านกหวีด แล้วก็คนที่มีเพจรวมดาวสาวม็อบ อะไรก็ไม่รู้
แต่ถึงขั้นนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่านกหวีดมีพลังอย่างมากในการเปล่งเสียง ?
มีทั้งพลังและสิ่งที่ไร้พลัง มันเป็นไปได้ทั้งเสียงของความโกรธแค้น ความชิงชัง แล้วก็ความขบขัน หัวเราะเยาะ การดูถูกดูแคลน แล้วนกหวีดในขณะเดียวกัน ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่ได้ยินข้อเท็จจริงอีกหลายๆ เรื่อง มันเป็นเสียงทั้งความขบขัน ชิงชัง โกรธเกลียด การร้องขอความช่วยเหลือ เป็นได้หมดเลย
แต่มันไม่ใช่ความช่วยเหลือแล้ว มันกลายไปเป็นแฟชั่น กลายไปเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ถ้ามองในแง่ของชนเผ่า เมื่อมีผู้นำขึ้นมากระทำพิธี แล้วมันก็มีการบูชา พฤติกรรมบูชาที่ชัดเจนมาก คือเรื่องของโห่ร้องหรือตีนตบมือตบแล้วก็เป่านกหวีด คือถ้ามองในด้านของมานุษยวิทยาดนตรี นี่คือประเพนีของเผ่า เผ่าหนึ่ง หัวหน้าเผ่าขึ้นเวที ด้วยเพลงสู้ไม่ถอย ซึ่งครั้งหนึ่งมันเคยถูกจัดวางในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในแบบหนึ่ง แล้วบัดนี้มันกลายไปเป็นโลโก้ประจำตัวของบุคคลเฉพาะ เพราะงั้นมันก็มีตัวนี้ขึ้นมา แล้วบรรดานักเทศน์ต่างๆ ผมมองว่า มันคือพวกผู้ประกอบพิธีกรรม หมอผี หรืออะไรต่างๆ ในเผ่า พอคนมาพูด บรรดาคนที่อยู่ในเผ่าก็จะส่งเสียง คือมีปฏิกิริยาตอบ มีการสาธุ หรือมีการเซ่นไหว้ เซ่นสรวง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ผมรู้สึกว่าเรายกระดับการใช้นกหวีดอย่างมีมิติในทางมานุษยวิทยาจริงๆ ที่แปลกก็คือ การตลาดทำอย่างไร ถึงทำให้กลายไปเป็นสัญลักษณ์ร่วม แล้วก็ไม่ต้องแคร์เรื่องการให้สัญญาณการขอความช่วยเหลือ หรืออำนาจอะไรต่อไปแล้ว พอมีนกหวีดเราเป็นพวกเดียวกัน
เป็นการผสมผสานระหว่างหนึ่งพิธีกรรมแบบโบราณกับการตลาดสมัยใหม่ให้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ?
ครับ เสียงเหล่านี้ มันถูกทำให้เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งผมสนใจมากเพราะว่าถ้าคุณอยู่ในบ้านนั่งกินข้าวกับพ่อกับแม่แล้วเป่า หรือเพื่อนบ้านที่อยู่ในภาคเดียวกันเนี่ย คุณจะถูกรังเกียจ แต่เมื่อคุณเป่านกหวีดในถนนสายใหญ่ คุณอยู่ในพื้นที่การชุมนุม คุณจะเป็นที่รักใคร่ คุณจะเป็นที่ผูกพันยอมรับ ได้รับการเห็นอกเห็นใจ หรือเอาใจช่วย แล้วยิ่งคุณมีนกหวีดรุ่นนี้ สีนี้ แบบนี้ คุณกลายเป็นคนเท่ เป็นอีกหนึ่งในนั้น
มันมีเพจรวมดาวสาวม็อบ แล้วไปเจอว่า มันมีแฟชั่นของการเป่า นอกจากเขาจะสวยน่ารัก มันมีธงชาติ มีเสียง เสียงที่ผมไม่คิดว่า แกนนำจะได้ยินด้วยซ้ำ เพราะแกนนำก็พูดๆ มันเป็นเสียงของความเงียบ แล้วเขาก็มีความสุขกับการได้อัพรูปขึ้นเฟซบุ๊ค มีความสุขกับการได้ไปอยู่ในพื้นที่ต่อสู้ ผมมองว่านี่เป็นคนชายขอบที่น่าสงสารในด้านการใช้เครื่องมือทางเพศ จริงๆ เรานึกถึงเพลงขอ Flo Rida whistle มันเป็นวัตถุทางเพศด้วยนะ ที่คาปากบรรดาต่างๆ เหล่านี้ ในขณะเดียวกัน ก็เป็นสิ่งที่ฮิตอยู่ในแฟชั่นแปลงร่าง เสื้อ นอกจากตัวนกหวีดเข้ามาแล้ว เรื่องของการเพ้นท์หน้า มันคือเรื่องของเผ่า ทหารของพระราชาถูกนำมา...นกหวีดกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของความฮิตในชีวิต แล้วคือสงสารว่าน้องทำอะไรกับเขาเนี่ย นี่คือนักรบนะ น่าร๊ากอ่ะ คือจะไปแอบๆ ให้พวกฮาร์ดคอร์เค้ายิงกัน
ในทางมานุษยวิทยาดนตรีอธิบายอย่างไร เมื่อเพลงที่แต่เดิมมีอุดมการณ์อยู่คนละฟากฝ่าย กลับมาอยู่ในหม้อต้มยำเดียวกัน
มันอธิบายได้ว่า เราไปกอดนิยามของเพลงปฏิวัติในศตวรรษที่ผ่านๆ มาไม่ได้อีกแล้ว แล้วการที่ใช้อุดมการณ์ทางการเมืองเพื่อเป็นตัวกำหนดในการเขียนคำร้อง ทำนอง ในการกำหนดสไตล์ของดนตรีก็ใช้ไม่ได้อีกต่อไป มันถูกโต้ตอบโดยวงซิมโฟนีออร์เคสตรา วงปี่พาทย์ไม้แข็ง โขน ซึ่งครั้งหนึ่ง โขน ถูกนิยามว่าเป็นศิลปะอันแสนจะวิจิตร พิสดาร มันถูกเอามารับใช้ขบวนการตรงนี้หมดแล้ว บิ๊กแบนด์ด้วย แจ๊สด้วย ร็อคด้วย อะไรอีกด้วย แล้วการมีส่วนร่วมของประชาชนต่างๆ ถูกทำให้มันหลากหลาย คือมันเป็นงานอีเวนท์ขนาดใหญ่ มันเป็นพาเหรดขนาดใหญ่ มันเป็นคาร์นิวอลขนาดใหญ่ ซึ่งคนที่คนเขียนเรื่องของคาร์นิวอลในบราซิล ต้องพลิกตำราเลยว่า มันไม่ใช่อย่างที่ตัวเองเคยเชื่อมั่นอีกต่อไปแล้ว...
ที่ผมตกใจมากๆ คือทุกอย่างมันถูกแพร่ภาพ real time แล้วถูกตัดต่อ ถูกมุมกล้องอย่างดีมาก วิชามีเดียที่ถูกนำมาใช้กับศิลปวัฒนธรรมแบบนี้ ถ้าเอามาปรับใช้ในโลกของงานศิลปะ เราจะรุ่งเรืองมากๆ เลย สุดยอดในการจับภาพ ในการมอง ตัดต่อ ในระบบเสียงเอาท์ดอร์ มันพิสูจน์ตนเองว่า เราได้ฟังคอนเสิร์ตดีๆ เต็มที่ เหลือเชื่อ ในขณะเดียวกันเราก็มีระบบโซเชียลมีเดีย ในการเอาใจช่วยตั้งแต่ม็อบอนุรักษ์นิยม ไปจนถึงม็อบฮาร์ดคออยู่รายรอบ มีนิเทศศาสตร์นอกตำราเกิดขึ้นเยอะมาก มีการ re-definition ของศิลปะการแสดง แม้กระทั่งแฟชั่น หรือแม้กระทั่งวิชาทางการตลาด ที่อยู่นอกเหนือจากตำรา การตลาดรอบนี้สุดๆ นะผมว่า แล้วเอาศิลปะมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการตลาด เอารสนิยมบางอย่าง
สรรพสำเนียงที่เกิดขึ้นตอนนี้ เราควรจะแยกแยะหรือควรมีท่าทีกับมันอย่างไร มีบทสรุปหรือไม่
สงครามยังไม่จบ มันยังไม่มีบทสรุปบางอย่าง โอเค มันอาจจะสรุปได้ว่านกหวีดถูกเปลี่ยนแปลงในมิติสังคมประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม คติชน มันถูกเปลี่ยนแปลงแน่นอน เมื่อมาอยู่ในพื้นที่ของคนเมืองหลวงจำนวนหนึ่ง แล้วก็ศาสตร์ทางด้าน ethnomusicology ควรให้ความสนใจกับเรื่องของ urban เรื่องวิถีคนกรุง มันก็เป็นตัวบ่งบอกแล้วว่า ชาติพันธุ์ที่มันเกิดขึ้นมาใหม่ล่าสุด คือเผ่ามวลมหาประชาชน แล้วเผ่านี้ก็มีการตั้งรกรากพื้นที่บนทองถนน ไปกิน ไปนอน แต่ใส่เสื้อแบบเดียวกัน คือเสื้อชัตดาวน์ คือแม้แต่เสื้อก็คืออาภรณ์ มากินอาหารที่เป็นอาหาร donation แล้วก็เป็นอาหารบุญ ไม่ใช่อาหารธรรมดา แล้วเป็นอาหารเพื่อที่จะระดมเงินไปช่วย แล้วก็มีขบวนการ เมื่อก่อนนี้ กองทัพเราต้องมีการทำนา เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วก็ตระเตรียม ตอนนี้มันถูกวางด้วยแพ็คเกจของอาหารการกิน แล้วเผ่าพันธุ์พวกนี้ก็มีสำนึกอะไรบางอย่างไป merge กันกับปัญหาของชาวนาที่เป็นรากหญ้าของแผ่นดิน แล้วมันก็เกิดเป็นขบวนการต่อสู้ที่ต่อเนื่อง ต่อสู้กับอำนาจการเงินใหม่ มันหาซาตานใหม่ๆ มาสู้ได้เรื่อยๆ แล้วหาแรงสู้ของบรรดาม็อบเหล่านี้ได้เรื่อยๆ
ความเป็นธงชาติที่มันเคยเป็น identity ของชาติ ศานา พระมหากษัตริย์ มันถูกดึงลงมาเป็นส่วนหนึ่งของเปลือกห่อหุ้มตัว แล้วก็เป็นพระเครื่องเป็นอะไรต่อมิอะไร ก็รู้สึกน่ากลัว กลัวการปลูกฝังความเกลียดชังที่มันไม่ได้จบแค่ปิดรัฐบาลนี้ในทันที จะแตกหักหรือสูญญากาศที่เขาหวังว่าจะเกิดขึ้น หรือมีอำนาจอะไรบางอย่าง ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง time bomb ผมว่ามันยังสืบต่อไปอีกหลายเจเนอเรชั่นเลยทีเดียว
แล้วภาพต่างๆ เหล่านี้ เมื่อไม่ได้รับการอธิบายที่เป็นธรรมมากพอ หรือเข้าอกเข้าใจมันมากพอ จะเป็นอันตรายเหมือนกันในการ interpret มันในอนาคต.
...............................................
transcribed by อภิญญา ชาวสมุน