'ธนพร'หน.พรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย

'ธนพร'หน.พรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย

"ธนพร ศรียากูล" หัวหน้าพรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย เปิดตัวพรรคใหม่ แถลงนโยบาย 6 ด้าน ระบุพรรคสร้างความเท่าเทียมทั่วไทย

นายธนพร ศรียากูล หัวหน้าพรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย ( คธท.) หรือ CPT ได้แถลงเปิดตัวพรรค ซึ่งได้จดทะเบียนพรรคขึ้นใหม่เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการแนะนำผู้บริหารพรรคประกอบด้วย นายธนพร ศรียากูล หัวหน้าพรรค , น.ส.มณีรัตน์ มิตรปราสาท เลขาธิการพรรค และนายบรรณกร จันทรทิณ ผู้อำนวยการพรรค รวมทั้งการแนะนำนโยบายพรรค

นายธนพน กล่าวว่า การก่อตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาเพื่อพร้อมการสมัครแข่งขันเลือกตั้ง ซึ่งเราให้ความสนใจกับ Voice of The Voiceless คือเสียงของคนที่ไม่มีเสียง เพราะคิดว่าสังคมในวันนี้สนใจคนที่ออกมามีเสียงเยอะแล้ว เราจึงสนใจคนที่ยังไม่ออกมาส่งเสียง เพราะหากสังคมไหนยังมี Voiceless แสดงว่าสังคมยังไม่มีความเท่าเทียมกัน จึงเป็นที่มาของเคมเปญการรณรงค์พรรค คือ “ เท่าเทียมทั่วไทย” และสำหรับนโยบายของพรรคด้านต่างๆ ประกอบด้วย

1.นโยบายด้านการเมือง จะปกป้องสถาบัน ฯ บั่นเงื่อนไขความขัดแย้ง ซึ่งเรารักสถาบัน ฯ แน่วแน่ รวมกันแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อปกป้องสถาบัน ฯ อย่างยั่งยืนไม่ให้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และในส่วนของการออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนทุกฝ่ายที่ถูกดำเนินคดีเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อลดปริมาณผู้รับผลกระทบ โดยไม่รวมถึงผู้สั่งการและแกนนำ รวมทั้งเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ที่จะให้มีการลงประชามติยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพื่อล้างผลพวงการรัฐประหาร

2.ด้านการบริหาร เน้นการกระจายอำนาจ ลดบาดหมาง โดยในส่วนของปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้จะให้จัดตั้ง “ เขตบริการพิเศษ” 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินโดยเพิ่มเขตบริหารพิเศษ และการออกกฎหมาย ยกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตบริหารพิเศษ ลักษณะเดียวกับเกาะฮ่องกง , การคืนสิทธิที่ดินทำกินให้ประชาชนโดยรอบเทือกเขาบูโด ประมาณ 1.5 แสนครัวเรือน และการเดินหน้าเจรจากับกลุ่มต่างๆ ต่อๆไป ส่วนการกระจายอำนาจปกครองภูมิภาคต่างๆ นั้น ก็ให้แก้ไข พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ ให้ผู้ใหญ่- กำนัน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน และให้ดำรงตำแหน่งวาระ 4 ปี และเร่งรัดการถ่ายโอนภารกิจ งบประมาณให้ท้องถิ่นภายใน 4 ปี ก่อนที่จะแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ยกเลิกส่วนภูมิภาค และ พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ ให้ไม่มีตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน และกำนัน เพื่อให้ปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างสมบูรณ์ภายใน 4 ปีที่จะให้มาจากการเลือกตั้ง

3.ด้านความมั่นคง ลดประจำการ เลิกการเกณฑ์ เน้นกำลังสำรอง โดยปฏิรูปกองทัพ ปรับลดขนาดการประจำการลงเหลือเท่าที่จำเป็น กับภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะการคงกำลังทหารประจำการจำนวนมากเป็นภาระต่องบประมาณประเทศ ถ้าสัดส่วนงบประมาณในการสร้างขีดความสามารถของกองทัพไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้ในสัดส่วนตัวเลขผลผลิตมวลรวมประชาชาติ หรือ GDP วิธีการคือเราต้องบริหารจัดการต้นทุน ซึ่งต้นทุนที่เป็นภาระมากที่สุดของกองทัพประเทศไทย คือ ต้นทุนด้านกำลังพลที่บั่นทอนต้นทุนการพัฒนาเทคโนโลยี หรือศักยภาพใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อการป้องกันประเทศ โดยไม่ได้บอกว่าจะให้ยกเลิกกองทัพ แต่จะให้หาบุคลากรเข้ามาทำงานในกองทัพด้วยระบบกำลังสำรองพร้อมรบขึ้นมาที่จะทำให้ไม่ต้องมีทหารประจำการอยู่ แต่สามารถระดมประชาชนป้องกันประเทศ หรือขจัดภัยพิบัติบรรเทาความเดือดร้อนได้ในกรณีที่จำเป็น ลักษณะเดียวกับที่เล็กกว่า เช่น ประเทศอิสราเอล ซึ่งขีดความสามารถปฏิบัติหน้าที่ทางกองทัพก็ถูกจัดในอันดับที่ดี

4.ด้านสิทธิเสรีภาพ ให้หยุดการตีตรา แสวงหาความเท่าเทียม ด้วยการยกเลิกคำนำหน้านาม ทั้งนาย , นาง และนางสาว , การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่องการสมรส ให้เปลี่ยนเงื่อนไขการสมรสจากชายและหญิง เป็นบุคคล นอกจากนี้ในส่วนของชนกลุ่มน้อย ก็จะให้มีโครงการบัตรประชาชนใบแรก รับรองสิทธิความเป็นพลเมือง ส่วนผู้พิการ เราจะให้มีการจ้างงานผู้พิการเพิ่มขึ้นโดยจะให้สิทธิประโยชน์ทางการลดภาษีกับสถานประกอบการจ้างงานผู้พิการ

5.ด้านเศรษฐกิจ ลดช่องว่าง สร้างความเป็นธรรม จะให้ปฏิรูประบบภาษี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยให้จะดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า เก็บภาษีเงินได้จากการซื้อ- ขายหลักทรัพย์ และปฏิรูปการบังคับใช้ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าที่จะสร้างความเป็นธรรมโดยให้มีคณะกรรมการอิสระเพื่อกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้า ส่วนเกษตรกร จะออกกฎหมายบริหารจัดการสินค้าเกษตร และช่วยเหลือชดเชยต้นทุนการผลิตการปลูกข้าวเหมือนยางพารา และ 6.ด้านสิ่งแวดล้อม เน้นอนุรักษ์บนพื้นฐานการมีส่วนร่วม

ขณะที่ในการเปิดตัวพรรคดังกล่าว ก็ได้มีการจัดเสวนาด้วย หัวข้อ “ พรรคการเมืองกับนโยบายปฏิรูป” ซึ่งมีนักวิชาการมากมาย ร่วมแสดงความคิดเห็น อาทิ นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , นายประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬา ฯ , นายชยงการ ภมรมาศ อาจารย์คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร , นายสิโรฒน์ แวปาโอะ เครือข่ายการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยเทือกเขาบูโด , นายชัชวาล พิศดำขำ มูลนิธิห้วยขาแข้ง และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และ นางวิภา ดาวมณี มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย

โดยการเสวนาดังกล่าว ผู้ร่วมงานทั้งหมดได้แสดงความเห็นที่สอดรับกับนโยบานด้านต่างๆ ของพรรค คธท. ขณะที่นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬา ฯ กล่าวถึงแนวทางปฏิรูปของกลุ่ม กปปส.ว่า ไม่ได้เป็นแนวคิดการจัดให้ปฏิรูปประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่เป็นการปฏิรูปที่แสดงให้เห็นว่าไม่ยอมอำนาจประชาชนในเรื่องของการจัดเลือกตั้งส่วนต่างๆ โดยที่ผ่านมาประชาธิปไตยประเทศไทยก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มใบ ดังนั้นถ้าจะปฏิรูป ก็ต้องปฏิรูปประชาธิปไตยและเรื่องสิทธิมนุษยชนเท่าเทียมกัน