ลำดับเหตุการณ์วันที่20-22พ.ค.วันรัฐประหาร

ลำดับเหตุการณ์วันที่20-22พ.ค.วันรัฐประหาร

สรุปเหตุการณ์วันที่ 20 พ.ค.ประกาศใช้กฏอัยการศึก และ22 พ.ค. 2557 วันยึดอำนาจการปกครองในประเทศไทย

รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16.30 น. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. (อังกฤษ: National Peace and Order Maintaining Council ) โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ นับเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย ก่อนหน้านี้ เกิดรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549

สองวันก่อนหน้านั้น พลเอก ประยุทธ์ ประกาศกฎอัยการศึก ตั้งแต่เวลา 03:00 นาฬิกา ด้วยการอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ต่อมากองทัพบกได้ออกประกาศยุติการดำเนินการของศูนย์อำนายการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) และจัดตั้ง กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ขึ้นแทนโดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.รส.) และออกประกาศคำสั่ง และขอความร่วมมือในหลายเรื่อง เช่น ขอให้ระงับการแพร่ภาพออกอากาศ โทรทัศน์ดาวเทียมและวิทยุชุมชน ขอความร่วมมือในการเผยแพร่เนื้อหาทางอินเทอร์เน็ต และเชิญประชุมข้าราชการระดับสูง ผู้นำกลุ่มการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองต่าง ๆ เป็นต้น

เบื้องหลังลำดับเหตุการณ์ 20 พฤษภาคม

03:30 น. - กำลังทหารพร้อมอาวุธ เข้าควบคุมที่ทำการช่องโทรทัศน์ต่างๆ ทั้งภาคพื้นดินและผ่านดาวเทียมหลายช่อง โดยร้องขอให้เชื่อมสัญญาณออกอากาศ จากสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5

04:00 น. - สื่อสังคมออนไลน์ เผยแพร่คำสั่ง ประกาศกฎอัยการศึก และประกาศจัดตั้ง กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.)

06:30 น. - ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะ ผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ออกประกาศใช้กฎอัยการศึก ทั่วราชอาณาจักร ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

08:25 น. - กอ.รส.ออกคำสั่งฉบับที่ 1 ให้สื่อวิทยุและโทรทัศน์ทั้งหมด รับสัญญาณถ่ายทอด แถลงการณ์จากกองทัพบก ทุกครั้งที่ได้รับการประสาน

08:42 น. - กอ.รส.ออกคำสั่งฉบับที่ 2 ให้ผู้ชุมนุมทางการเมืองอยู่ในพื้นที่เดิม โดย กปปส. ให้อยู่ที่ถนนราชดำเนิน เขตพระนคร และถนนแจ้งวัฒนะ ช่วงหน้าศูนย์ราชการฯ เขตหลักสี่ ส่วน นปช. ให้อยู่ที่ถนนอักษะ เขตทวีวัฒนา

09:48 น. - กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 3 ห้ามสื่อข่าวที่กระทบต่อการรักษาความสงบ

10:36 น. กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 6 สั่งให้โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ระงับการออกอากาศจำนวน 10 ช่อง รวมถึงวิทยุชุมชนที่ไม่ได้รับอนุญาต

11:06 น. กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 5 แต่งตั้งคณะที่ปรึกษา กอ.รส.

12:40 น. กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 4 เชิญบุคคลสำคัญร่วมประชุม แก้ปัญหาความไม่สงบ

14:00 น. กอ.รส. เริ่มประชุมตามคำสั่งฉบับที่ 4 ที่สโมสรทหารบก สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ปฏิเสธไม่เข้าร่วมประชุม

19:34 น. กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 8 ขอความร่วมมือสื่อสังคมออนไลน์ ระงับส่งข้อความปลุกระดม สร้างความรุนแรง ไม่เคารพกฎหมาย

19:45 น. กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 7 สั่งให้โทรทัศน์ดาวเทียม ระงับการออกอากาศเพิ่มเติมอีก 4 ช่อง

20:09 น. กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 9 สั่งห้ามสื่อทุกแขนง เชิญผู้ไม่มีตำแหน่งราชการ แสดงความเห็นก่อความขัดแย้ง พร้อมสั่งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัด เข้าระงับการชุมนุมต่อต้าน การปฏิบัติงานของ กอ.รส.

20:49 น. กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 10 สั่งห้ามข้าราชการ-เจ้าหน้าที่พลเรือน-ประชาชน พกพา-ใช้อาวุธสงครามและวัตถุระเบิด เว้นทหารตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยตามคำสั่ง

21:04 น. พันเอกวินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะ โฆษก กอ.รส. ชี้แจงขั้นตอนการประกาศกฎอัยการศึก ว่าเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และ กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 12 ให้ตำรวจ, เจ้าหน้าที่พลเรือน, หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ

21 พฤษภาคม

ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2557 กอ.รส. ไม่ได้ออกประกาศเพิ่มเติม และกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งสองกลุ่มยังคงดำเนินกิจกรรมของตัวเองตามปกติ โดยเหตุการณ์สำคัญมีเพียงแค่การตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจตรวจพิจารณาอินเทอร์เน็ตและสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายงานต่อ กอ.รส. เพื่อควบคุมเนื้อหาออนไลน์เท่านั้น

และในช่วงบ่ายก็ได้มีประกาศ กอ.รส. ฉบับที่ 7/2557 เพื่อเรียกตัวแทนจาก 7 ฝ่ายเข้าร่วมประชุมที่สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดี-รังสิต โดยห้ามมิให้มีผู้ติดตามเดินทางมาด้วย โดยรายนามผู้ที่ถูกเรียนเชิญมีดังต่อไปนี้

ผู้แทนรัฐบาล ประกอบด้วย รักษาการณ์นายกรัฐมนตรี และผู้ติดตาม 4 ท่าน ผู้แทนวุฒิสภา ประกอบด้วย รองประธานวุฒิสภาท่านที่ 1 พร้อมคณะอีก 4 ท่าน คณะกรรมการการเลือกตั้ง ทั้ง 5 ท่าน ผู้แทนพรรคเพื่อไทย

ประกอบด้วย นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรค และผู้ติดตาม 4 ท่าน ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์ ประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค และผู้ติดตาม 4 ท่าน ผู้แทนคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประกอบด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. พร้อมคณะอีก 4 ท่าน

ผู้แทนแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ประกอบด้วย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. และคณะอีก 4 ท่าน โดยการประชุมเป็นไปอย่างเคร่งเครียดตั้งแต่เวลา 13.30 น. จน พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจให้มาประชุมกันใหม่ในวันพรุ่งนี้เวลา 14.00 น.เพื่อหาทางออกของประเทศร่วมกัน ภายหลังรัฐมนตรีรักษาการได้ออกมาเผยว่าท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ในที่ประชุมดูแปลกไป แต่ตนเชื่อว่าพล.อ.ประยุทธคงไม่คิดจะทำการรัฐประหารแน่นอน

22 พฤษภาคม

14:00 น. - ประชุมร่วม 7 ฝ่าย เพื่อหาทางออกของประเทศครั้งที่ 2 โดยมี ผบ.ทบ. เป็นประธานในที่ประชุมระหว่างการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ ได้เปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายได้เสนอแนวทางที่เห็นว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดของประเทศ โดยได้สอบถาม นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าคณะฝ่ายรัฐบาล ว่าตกลงรัฐบาลยืนยันไม่ลาออกทั้งรายบุคคลและทั้งคณะใช้หรือไม่ ซึ่งนายชัยเกษมระบุว่านาทีนี้ไม่ลาออกและต้องการดำเนินการต่อจนกว่าจะครบวาระตามกฎหมาย พล.อ.ประยุทธ์ จึงตอบกลับว่าจะยึดอำนาจการปกครอง และเมื่อสิ้นสุดเสียง เจ้าหน้าที่ทหารกว่าหลายร้อยนายได้เข้ามาชาร์จผู้ประชุมทั้ง 7 ฝ่ายและพาขึ้นรถออกไปทันที โดยไม่ทราบจุดหมายปลายทาง

16:30 น. (ประกาศจริง เวลา 17.00 น.) - พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศตั้ง "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" (อังกฤษ: National Peace and Order Maintaining Council อักษรย่อ: คสช.) เข้ามายึดอำนาจรัฐบาลรักษาการณ์ในทันที รวมถึงให้กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) สิ้นสุดอำนาจทันทีเช่นกัน แต่ทั้งนี้คำสั่งต่างๆ ยังคงมีผลต่อเนื่องอยู่

18:00 น. - คณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรอีกครั้ง

18:20 น. - คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ออกประกาศฉบับที่ 3 ห้ามมิให้ประชาชนออกจากเคหะสถานตั้งแต่เวลา

22.00 น.-05.00 น. ทั่วราชอาณาจักร เว้นแต่ว่าจะได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ จากกรณีนี้สถานที่สำคัญหลายแห่งทั่วประเทศประกาศปิดทำการตั้งแต่เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป และระบบขนส่งมวลชนต่างๆ คือ รถไฟฟ้าบีทีเอส ประกาศปิดทำการตั้งแต่เวลา 21.00 น. โดยจะเป็นรถเที่ยวสุดท้ายที่ออกจากสถานีหมอชิตและสถานีแบริ่ง รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ประกาศปิดทำการตั้งแต่เวลา 21.00 น. โดยเป็นรถเที่ยวสุดท้ายที่ออกจากสถานีหัวลำโพง และสถานีบางซื่อ และรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประกาศปิดทำการตั้งแต่เวลา 21.00 น. โดยเป็นรถเที่ยวสุดท้ายที่ออกจากสถานีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีพญาไท

18:30 น. - คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ออกประกาศฉบับที่ 4 บังคับให้สื่อวิทยุ โทรทัศน์ และโทรทัศน์ดาวเทียมทุกสถานี งดออกรายการตามปกติ และให้ใช้สัญญาณของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกออกอากาศไปจนกว่าจะได้รับคำสั่งเปลี่ยนแปลง

19:00 น. - คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ออกประกาศขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุมกลับสู่ภูมิลำเนาของตนตามเดิม โดยทางกองทัพบกได้จัดขบวนรถจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเพื่ออำนวยความสะดวก และได้ออกคำสั่งให้ทหารที่รับผิดชอบในพื้นที่ช่วยจัดการบริหารให้ประชาชนสามารถเดินทางกลับได้อย่างปลอดภัย

19:10 น. - คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ออกประกาศฉบับที่ 5 โดยมีเนื้อความดังนี้

ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดอำนาจลงชั่วคราวทุกหัวข้อ ยกเว้นหมวดที่สอง (พระมหากษัตริย์) หมวดหน้าที่วุฒิสภา และองค์กรอิสระให้มีอำนาจอยู่เช่นเดิมให้ สมาชิกวุฒิสภา ยังคงดำรงตำแหน่งตามปกติแต่นับจำนวนสมาชิกใหม่ตามสมาชิกที่เหลืออยู่ในวุฒิสภาในขณะที่ออกคำสั่งฉบับนี้ ให้คณะรัฐมนตรีรักษาการที่ดำรงตำแหน่งอยู่ทุกตำแหน่งหมดอำนาจตั้งแต่ประกาศฉบับนี้

ยกเลิกการพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นช่วงนี้ทั้งหมดให้องค์กรอิสระ และองค์กรอื่นๆ ที่ถูกจัดตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดำเนินงานตามปกติ

19:19 น. - คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ออกประกาศฉบับที่ 6 โดยให้แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า คสช. พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร เป็นรองหัวหน้า คสช. พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย เป็นรองหัวหน้า คสช. พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง เป็นรองหัวหน้า คสช. พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็นรองหัวหน้า คสช. และ พล.ต. อุดมเดช สีตบุตร เป็นเลขาธิการ

19:42 น. - คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ออกประกาศฉบับที่ 7 สั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน

20:55 น. - คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ออกประกาศฉบับที่ 8 โดยให้ยกเว้นข้อห้ามการออกจากเคหสถานยามค่ำคืนตามประกาศที่ 3/2557 เพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นโดยให้ยกเว้นกับกลุ่มบุคคลดังต่อไปนี้ กลุ่มบุคคลที่เดินทางเข้า-ออกประเทศ กลุ่มบุคคลที่ต้องประกอบอาชีพแบบผลัดเวลา (เข้ากะ) เช่น โรงงาน โรงพยาบาล ธุรกิจการบิน กลุ่มบุคคลที่ต้องเดินทางเพื่อขนส่งสินค้าที่มีอายุจำกัด หรือสินค้าเย็น กลุ่มบุคคลที่มีกิจธุระจำเป็น เช่น ผู้ป่วยที่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ผู้ปฏิบัติการที่เกี่ยวกับมนุษยธรรม สำหรับกลุ่มบุคคลที่มีกิจธุระนอกเหนือจากข้างต้น ให้ขออนุญาตเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ก่อนออกเดินทาง

20.30 น. 7-11โพสต์ประกาศผ่านเฟซบุ๊ก จะปิดให้บริการ

22.00-05.00น.ตามการประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศ ฉบับที่ 3 ห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถานตั้งแต่เวลา 22.00-05.00น.

21.06 น. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศฉบับที่ 9/2557 ให้สถานศึกษา ทั้งในส่วนของรัฐและเอกชน หยุดการเรียนการสอน 23 - 25 พฤษภาคม 2557

21.40 น. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า สถานีบริการน้ำมัน ปตท.ปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 22:00น. และเปิดให้บริการตั้งแต่ 05:00น. มีผลตั้งแต่วันนี้จนกว่าจะมีการแจ้งเปลี่ยนแปลง

21.55 น. คสช.ขึ้นตัววิ่งในหน้าจอโทรทัศน์ ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลบนสื่อออนไลน์ ที่มีการระบุว่าจะมีการปิดสัญญาณอินเตอร์เนต ปิดไลน์ ปิดยูทูป ปิดโซเชียลมีเดีย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ

กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ