ชงแก้ก.ม.อาญาเพิ่มโทษโทรมเด็ก

(รายงาน) ชงแก้ ก.ม.อาญา เพิ่มโทษโทรมเด็ก จัดการ "นายจ้างหัวงู" อนาจารลูกน้อง
คดีฆ่าข่มขืนเด็กหญิงอายุ 13 ปีบนรถไฟเมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้เกิดกระแสรณรงค์ให้เพิ่มโทษในความผิดฐานข่มขืนเด็กเป็นโทษ "ประหารชีวิต" ทุกกรณี
ครั้งนั้นแม้ไม่มีหน่วยงานรัฐแห่งใดออกมารับลูกชัดเจนนัก เพราะการเพิ่มโทษในความผิดอาญาฐานใดฐานหนึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับฐานความผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่องกัน และต้องดูข้อเท็จจริงของแต่ละคดีซึ่งแตกต่างกันด้วย
ทว่าการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) หลายมาตราในความผิดเกี่ยวกับเพศและความผิดต่อเสรีภาพที่มี "อายุเด็ก" เป็นองค์ประกอบความผิดนั้น ย่อมต้องถือได้ว่ารัฐบาลและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจกับกระแสสังคม รวมทั้งสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
ร่างที่ ครม.เสนอแก้ไข โดยส่งเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งคาดว่าจะมีการพิจารณาในวาระแรกวันนี้ (31 ต.ค.) มี 2 ร่าง ประกอบด้วย
1.ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขความผิดเกี่ยวกับเพศและเสรีภาพที่มีอายุเด็กเป็นองค์ประกอบความผิด) มีการแก้ไข 5 มาตรา 4 ประเด็น ได้แก่
-กำหนดให้การกระทำชำเราโดยร่วมกระทำความผิดด้วยลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง หรือกระทำกับเด็กชายในลักษณะเดียวกัน ต้องระวางโทษ "จำคุกตลอดชีวิต" ไม่ว่าเด็กนั้นจำยินยอมหรือไม่ก็ตาม จากเดิมที่กฎหมายเขียนตีกรอบไว้เฉพาะ "เด็กนั้นไม่ยินยอม" ร่างแก้ไขใหม่จึงให้ตัดข้อความนี้ออก เนื่องจากการโทรมเด็กมีความหมายโดยนัยอยู่แล้วว่าเด็กนั้นไม่ยินยอม (ป.อาญา มาตรา 277 วรรคสี่)
-กำหนดให้ศาลเยาวชนและครอบครัวเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้ผู้กระทำความผิดฐานกระทำชำเราที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี สมรสกับผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุกว่า 13 ปีแต่ไม่เกิน 15 ปี จากเดิมที่กฎหมายเขียนไว้กว้างๆ ว่า "ศาล" เฉยๆ ไม่ได้ระบุชัดว่าเป็นศาลเยาวชนและครอบครัว (ป.อาญา มาตรา 277 วรรคห้า) ทั้งนี้การแก้ไขก็เพื่อประโยชน์ในการที่ศาลจะได้ใช้กลไกตามกฎหมาย เช่น การสืบเสาะสภาพความเป็นอยู่ เพื่อประกอบการพิจารณาว่าสมควรอนุญาตให้ผู้กระทำความผิดกับผู้เสียหายสมรสกันหรือไม่
-เพิ่มอัตราโทษปรับตามมาตรา 277 ใหม่ ตามสัดส่วนอัตราโทษจำคุก 1 ปี ต่ออัตราโทษปรับสองหมื่นบาท
-เพิ่มมาตรา 285/1 และมาตรา 321/1 ป.อาญา กำหนดให้การกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศหรือความผิดต่อเสรีภาพต่อเด็กที่มีอายุไม่เกิน 13 ปี ผู้กระทำไม่อาจอ้างความไม่รู้อายุของเด็กเพื่อให้พ้นความรับผิดได้
2.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... มีสาระสำคัญอีก 5 ประเด็น ได้แก่
-กำหนดนิยามของคำว่า "เจ้าพนักงาน" ใหม่ ให้หมายความว่า "บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นเจ้าพนักงานหรือได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่" (ป.อาญา มาตรา 1)
-ความผิดเกี่ยวกับศพ เพิ่มลักษณะ 13 ความผิดเกี่ยวกับศพ ในมาตรา 366/1 ถึงมาตรา 366/4 (ป.อาญาปัจจุบันไม่มี) เช่น
- ผู้ใดกระทำชำเราศพ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 366/1)
- ผู้ใดกระทำอนาจารแก่ศพ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 366/2)
- ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามศพ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 366/4) เป็นต้น
-ปรับปรุงความหมายของความผิดลหุโทษ เป็น "ความผิดซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" แก้จากเดิมที่กำหนดให้ความผิดลหุโทษ คือ ความผิดที่ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน ปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท (ป.อาญามาตรา 102)
-แก้ไขอัตราโทษปรับของความผิดลหุโทษ โดยเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าของอัตราเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
-เพิ่มเติมอัตราโทษและลักษณะความผิดเกี่ยวกับ "การคุกคาม" โดยเพิ่มเติม ป.อาญา มาตรา 397 เดิม ให้ครอบคลุมการกระทำที่มีลักษณะส่อไปในทางล่วงละเมิดทางเพศ และการกระทำโดยอาศัยเหตุที่ผู้กระทำมีอำนาจเหนือผู้ถูกกระทำ อันเนื่องจากความสัมพันธ์ในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชา นายจ้าง หรือผู้มีอำนาจเหนือประการอื่น
ประเด็นสุดท้ายนี้นับว่าสำคัญ หากแก้ไขได้สำเร็จจะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยป้องกันการคุกคามทางเพศในสำนักงานทั้งราชการและเอกชน ซึ่งเป็นปัญหาในสังคมไทยมาเนิ่นนาน!