"Hive" ท่องเที่ยวยั่งยืน สุด "คูล"
พวกเขาทำกิจการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนที่ไม่ก่อผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรม ทั้งสนุกทั้งคูลโดนใจคนยุคนี
“เราอยากทำกิจการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ที่ดูคูล ดูเจ๋งด้วย”
โจทย์โดนๆ ที่มาของ “Hive” (ไฮฟ์) กิจการเพื่อสังคมน้องใหม่ ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หนึ่งในทีมผู้ชนะจาก โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม “Banpu Champions for Change (BC4C)” ปี 4 โดย บมจ.บ้านปู
นี่คือผลงานของสองพี่น้อง จากสองความต่าง อชิ-อชิรญา และ มิ้นต์-ชญานิศ ธรรมปริพัตรา โดยพี่สาวอชิ มีพื้นฐานด้านธุรกิจและการตลาด เคยทำงานที่ยูนิลิเวอร์ และดูแลธุรกิจทัวร์ของครอบครัวมาก่อน ส่วนน้องสาว มิ้นต์ เป็นอดีตเอ็นจีโอ ด้านสิทธิแรงงาน ส่วนผสมที่ลงตัวสุดๆ ของการเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) กิจการที่มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาสังคม แต่ตอบความยั่งยืนด้วยโมเดลธุรกิจ
“พวกเราบาลานซ์กันอยู่ และเป็นการบาลานซ์ที่ดีด้วย นั่นคือ มีทั้งมุมธุรกิจและเอ็นจีโอ มิ้นต์จะรู้ว่าเวลาคุยกับซัพพลายเออร์กับชุมชนต้องคุยอย่างไร ขณะอชิก็จะรู้วิธีคุยกับลูกค้า และการทำธุรกิจ”
ทั้งคู่บอกสองความต่างที่กลายมาเป็น “จุดแข็ง” ในการเริ่มต้นกิจการเพื่อสังคมของ Hive
Hive เป็น online platform ซึ่งรวบรวมกิจกรรมท่องเที่ยวแบบไทยๆ ที่ทั้งสนุกและยั่งยืนไว้ในที่เดียว ในรูปแบบ One Stop Shop โดยเปิดเว็บไซต์ (www.hivesters.com) พร้อมใช้โซเชียลมีเดีย อย่าง อินสตาแกรม ยูทูปและเฟชบุ๊ค เป็นช่องทางให้นักท่องเที่ยวได้มาเลือกกิจกรรมแบบที่ชอบได้ง่ายๆ สะดวก ทันใจ เข้ากับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่
หน้าที่ของ Hive คือ เป็นตัวเชื่อมให้กับการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในประเทศไทย ที่ยังหลบซ่อนอยู่อีกเยอะมาก โดยทำหน้าที่พัฒนากิจกรรมและทำการตลาดให้กับคนที่มีกิจกรรมในท้องถิ่นโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อสร้างงานและเพิ่มรายได้ให้ชุมชน ผู้ประกอบการท้องถิ่น กิจการเพื่อสังคม และเอสเอ็มอี ที่อยู่ในห่วงโซ่การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
แม้ประกาศตัวว่าเป็นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน แต่การท่องเที่ยวฉบับ Hive ก็ไม่ได้หน้าเบื่อ หรือ ซ้ำซากจำเจ ตรงกันข้าม กลับ “คูล” เอามากๆ สำหรับคนชอบเที่ยว พศ.นี้
มาดูทริปเก๋ๆ ที่พวกเขาสร้างสรรค์ขึ้น อย่าง ทริปล่องเรือดูวาฬบรูด้า เรียนรู้การทำนาออร์แกนิก โดยวิธีโยนกล้า หรือที่เรียก “Parachute” เล่นสกีที่คลองโคลน แฮงค์เอ้าท์กับช้าง กับสารพัดกิจกรรมสุดมัน ครบทั้ง เล่น เรียนรู้ และพักผ่อน ด้วยทริปสั้นๆ ตั้งแต่ 1-2 ชม. ครึ่งวัน ไปจน 1 วัน หรือขึ้นกับความต้องการของขาเที่ยว
“อย่างเรามีทริปสอนต่อยมวย จากนักชกที่เคยขึ้นสังเวียนจริงมาแล้ว ซึ่งบางคนได้รับบาดเจ็บจากการแข่งขัน ทำให้ขึ้นชกต่อไม่ได้ พอไม่มีรายได้มาเลี้ยงตัว เลยต้องมาเปิดโรงเรียนสอน ซึ่งทริปแบบนี้นักท่องเที่ยวจะได้เรียนการชกมวยของจริง ที่ต้องมีท่าทาง มีการไหว้ครู ไม่ใช่การชกมวยแบบคาดิโอ เหมือนในฟิตเนส”
ความสนุกในแบบ Hive ไม่ใช่จะกิจกรรมอะไรก็ได้ หรือใครทำก็ได้ แต่ต้องลงพื้นที่ไปทดลองมาแล้วว่าดีจริง ราคาสมเหตุสมผล มีมาตรฐานและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบแก่สิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรม
ที่สำคัญเน้นขายความสนุก ไม่ใช่ความเห็นอกเห็นใจว่า พวกเขา “ทำเพื่อสังคม”
“เราจะไม่พรีเซนต์ว่า เป็นการช่วยเหลือ หรือทำเพื่อสังคม แต่จะขายความสนุก และแปลกใหม่ อย่าง เล่นสกีที่คลองโคนก็จะใช้คำว่า Retro wakeboard แล้วทำเป็นวิดีโอพรีเซ้นต์ให้ดูทันสมัย และน่าสนใจขึ้น”
เพราะเชื่อว่า วิธีคิดแบบนี้ จะทำให้ธุรกิจไปต่อสู้กับกิจการท่องเที่ยวที่มีอยู่เกลื่อนตลาดได้จริง และสร้างความยั่งยืนได้ แม้ไม่มีคำว่าเพื่อสังคมห้อยท้าย
ทั้งสองฉายภาพให้เห็นว่า “ทัวร์อนุรักษ์” ยังเป็นตลาดกลุ่มเล็กๆ มีเพียงประมาณ 10-20% ส่วนใหญ่เป็นการท่องเที่ยวแบบฮาร์ดคอร์ด ประมาณ “อนุรักษ์จ๋า” ทว่าในอีก 80% คือ นักท่องเที่ยวทั่วไป ที่ไม่ได้สนใจเรื่องการอนุรักษ์มาเป็นอันดับแรก ไม่ชอบความลำบาก แต่อยากสนุก นอนสบาย ก็แค่นั้น!
ซึ่ง Hive ก็พร้อมที่จะสนองตอบนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ โดยที่จุดยืน การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนก็ต้องไม่หล่นหายไปด้วย
“เราทำงานสองด้าน คือให้นักท่องเที่ยวได้มีกิจกรรมที่สนุกและมีคุณภาพ ในราคาสมเหตุสมผล ขณะเดียวกันก็ทำงานกับซัพพลายเออร์ให้เขามีรายได้ที่มากขึ้น บริหารสินค้าตัวเองได้ดีขึ้น”
ทั้งสองเล่าวิธีการทำงานในแบบ Hive ก่อนบอกถึงกลุ่มลูกค้าที่มีตั้งแต่ นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ลูกค้าองค์กรที่อยากจัดทริปให้พนักงานและลูกค้า โดยทุกสองสัปดาห์พวกเขาจะมีจัดทริปพิเศษเพื่อลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียนเหล่าซัพพลายเออร์ด้วย ขณะที่โมเดลสร้างรายได้จะมาจากค่าคอมมิสชั่นหลังทริปที่จัดมีลูกค้าเกิดขึ้นจริงแล้ว
“เราเข้าไปถ่ายรูป ร่วมจัดโปรแกรมทัวร์ เอาข้อมูลขึ้นเว็บไซต์และทำการตลาดให้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่จะเก็บคอมมิสชั่นต่อเมื่อพาลูกค้าไปส่งเขาได้ ซึ่งแบบนี้จะ วิน-วิน ทั้งสองฝั่ง ถ้าได้ลูกค้าเขาก็กำไร แต่ถ้าไม่ได้ ก็ไม่ได้เสียอะไร”
โมเดลนี้เองที่จะไปปลดล็อกการท่องเที่ยวแบบเดิมๆ ที่ระบบทัวร์ทั่วไปส่วนใหญ่จะส่งผ่านมาจากเอเยนซีต่างชาติ ซึ่งกว่าจะมาถึงเอเยนซี่เมืองไทย ซัพพลายเออร์ และชาวบ้าน ยังอีกหลายทอดหลายตอน จนเหลือส่วนแบ่งสู่ชุมชนเพียงน้อยนิดเท่านั้น ทว่าโมเดลแบบ Hive จะแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยสร้างความ วิน-วิน ให้ทุกฝ่าย คือลูกค้าจะได้ราคาที่สมเหตุสมผล ผู้ประกอบการและชุมชนจะได้ผลประโยชน์ที่เป็นธรรม ขณะที่ Hive ก็อยู่ได้ด้วย เรียกว่า ไม่มีใครต้องอยู่ในสถานะ “เสียเปรียบ” แต่ชนะด้วยกันได้
ถามถึงมุมมองการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทั้งสองเชื่อว่า เป็นเทรนด์ที่กำลังมาและถูกพูดถึงมากขึ้นทั้งในระดับโลกและอาเซียน เพราะผู้คนบนโลกเริ่มห่วงใยสุขภาพ สนใจสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวที่ไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อมหรือวัฒนธรรมมากขึ้น ซึ่งการที่ได้เข้ามาในธุรกิจนี้ก่อน ก็เชื่อว่า จะสร้างโอกาสให้ Hive อีกมากในอนาคต
ถามถึงเป้าหมายในวันหน้า ทั้งสองบอกว่า ระยะสั้นยังคงเน้นทำตลาดท่องเที่ยวในไทยเป็นหลัก แต่อนาคตจะขยับขยายไปประเทศใกล้เคียงด้วย เพราะเชื่อว่า คนที่มาเยือนอาเซียน ไม่ได้มีเป้าหมายแค่เที่ยวในไทยเท่านั้น เพื่อขยายการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ให้แผ่วงกว้างออกไป
เวลาเดียวกับการมาถึงของเทรนด์ดิจิทัล ก็เตรียมนำเทคโนโลยีมาช่วยในการทำงานมากขึ้น เช่น พัฒนาแอพพลิเคชั่น ที่นักท่องเที่ยวจะเข้ามาใช้งานได้ง่ายๆ บนสมาร์ทโฟน พร้อมระบบจีพีเอส ที่นักท่องเที่ยวสามารถติดตามเส้นทางกิจกรรมของ Hive ได้ เพียงปลายนิ้วคลิก!
วันนี้บ้านเรามีสถานที่ท่องเที่ยวผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด โดยเฉพาะประเภท “จัดสร้าง” ที่เนรมิตตึกสวยๆ ฟาร์มชิคๆ กระจายอยู่ทั่วประเทศ คนทำการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนแสดงความเห็นว่า ยังเชื่อว่าประเทศไทยมีอะไรที่น่าสนใจอยู่เยอะมาก มีของให้ขาย ไม่ได้ขาดเหมือนในบางประเทศ ฉะนั้นไม่จำเป็นต้องสร้าง ขอแค่หยิบจับสิ่งที่มีอยู่มาทำให้น่าสนใจขึ้น..ก็เท่านั้น
“ประเทศไทยมีอะไรน่าสนใจอีกเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม วิถีชีวิตของผู้คน มีวัฒนธรรมแทรกอยู่ในทุกกิจกรรม ซึ่งเราสามารถหยิบสิ่งเหล่านี้มาทำให้เป็นกิจกรรมที่สนุกและได้เรียนรู้วัฒนธรรมไปด้วย โดยไม่ต้องไปเลี้ยงแกะ หรือสร้างโน่นสร้างนี่เพิ่ม เพราะยังเชื่อว่า ถ้าใช้ความคิด กิจกรรมท่องเที่ยวแบบไทยๆ ก็ทำให้เก๋ ให้คูลได้”
เหมือนกับที่พวกเขากำลังพิสูจน์ให้เห็น ในการท่องเที่ยวฉบับ Hive ที่ได้ทั้งความสนุก ความคูล ที่สำคัญตอบ "ความยั่งยืน" ได้ด้วย