สสส.แจงใช้งบโปร่งใส เดินหน้าสร้างสุขภาวะท้องถิ่น
"การโฆษณาประชาสัมพันธ์ได้ผลมากในการทำงานของเรา และใช้งบน้อยกว่าหน่วยงานรัฐอื่นๆ" ผู้จัดการ สสส.
14 ปีของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ต้องยอมรับว่ามีผลงานด้านการส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน สุขภาวะ และความปลอดภัยจากอุบัติเหตุ เป็นที่ประจักษ์มาอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด สสส. ได้นำผลการดำเนินงานในแต่ละด้านมาแจกแจงอีกครั้ง รวมทั้งเปิดเผยแผนดำเนินการในปี 2558 ซึ่งทำให้เห็นถึงทิศทางการทำงานที่ สสส. ตั้งเป้าจะเจาะเข้าไปให้ถึงประชาชนระดับท้องถิ่นและผู้ด้อยโอกาส
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. เล่าถึงผลงานในรอบปี 2557 ที่ผ่านมาว่า ในปี 2557 สสส. ยังคงให้ความสำคัญกับการลดปัจจัยเสี่ยง 3 ปัจจัยหลัก คือ
1.อัตราการสูบบุหรี่ พบว่า ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2556 อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทย อยู่ที่ร้อยละ 19.94 ซึ่งเปรียบเทียบกับอัตราการสูบบุหรี่ของไทยในปี 2534 อยู่ที่ร้อยละ 32 แต่จากการดำเนินการของ สสส. ที่ผ่านมา ทำให้อัตราการผู้สูบบุหรี่ลดลง 1.21 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 22
เขาบอกว่า การลดลงของผู้สูบลดลงมาจนถึงร้อยละ 22 ได้ก็จริง แต่ถือว่า เป็นงานหนักของ สสส. เพราะเมื่อการลดลงมาถึงจุดที่ต่ำสุดแล้ว การจะทำให้ลดลงไปอีกก็เป็นงานที่ยาก แต่เราก็จะพยายามทำให้ได้ และปัญหาการสูบบุหรี่ที่ยังหลงเหลือส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนตามชนบทที่ยังมีการสูบบุหรี่กันอยู่ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนักสูบที่สูบจัดจนยากที่จะเลิกได้อีกหนึ่งกลุ่ม
2.อัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า ลดลง ซึ่งจากข้อมูลของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ปี 2548 - 2552 พบว่า คนไทยดื่มเหล้าลดลงจาก 6.46 ลิตรต่อคน มาอยู่ที่ 6.08 ลิตรต่อคน
นอกจากนี้ อัตราการดื่มในระดับอันตรายลดลงจากปี 2547 อยู่ที่ร้อยละ 9.1 ในปี 2555 อยู่ที่ร้อยละ 7.3 ทั้งนี้ยังพบว่าการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงในปี 2555 ด้วย
3.ลดอัตราเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สามารถลดลงร้อยละ 43 ซึ่งทำให้ลดความสูญเสียได้กว่า 1 แสนล้านบาท
ทพ.กฤษดา บอกอีกว่า จากการดำเนินงานของ สสส. ในปี 2557 ที่ผ่านมา หากพิจารณาในรายละเอียดจะมีผลการดำเนินงานที่สำคัญๆ 5 ด้าน คือ 1.การเพิ่มพื้นที่สุขภาวะกว่า 7,000 แห่ง แบ่งเป็น ตำบลสุขภาวะ 2,632 ตำบล องค์กรสุขภาวะ 4,456 องค์กร และพื้นที่สร้างสรรค์ 78 แห่ง ครอบคลุมประชากรกว่า 11 ล้านคน
2.ลดปัจจัยเสี่ยงหลัก คือ เหล้า บุหรี่ อุบัติเหตุ และสุขภาวะทางเพศ ซึ่งได้ดำเนินโครงการต่างๆ เช่น ผลักดันให้งานบุญประเพณีปลอดเหล้า 171 งาน งดเหล้าเข้าพรรษา มีประชาชนเข้าร่วมได้ร้อยละ 82.4 เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 68.8
โดยแบ่งเป็น ผู้งดดื่มตลอดเข้าพรรษา ร้อยละ 39.4 ซึ่งเป็นสถิติที่สูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา และผู้ลดปริมาณการดื่มและงดเป็นบางช่วง ร้อยละ 43 ประหยัดเงินค่าซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ 2.4 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังสร้างพื้นที่ต้นแบบจังหวัดปลอดบุหรี่ได้ 15 จังหวัด
สำหรับอุบัติเหตุทางถนนในปี 2556 มีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 7,338 คน คิดเป็น 11.33 คนต่อแสนประชากร ลดจากปี 2555 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 9,716 คน จากปี 2555 หรือคิดเป็น 15.07 คนต่อแสนประชากร
3.เพิ่มปัจจัยเสริมทางสุขภาพ ด้านอาหารเพื่อสุขภาวะ โดยดำเนินโครงการการจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียน ชุมชน เพื่อแก้ปัญหาการขาดสารอาหาร และพัฒนาภาวะโภชนาการและสุขภาพในระยะยาว เช่น โครงการเด็กไทยแก้มใสใน 1,000 โรงเรียน โครงการเด็กไทยไม่กินหวาน ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 1,000 แห่ง และพื้นที่ต้นแบบด้านการผลิตและตลาดอาหารปลอดภัย 42 แห่งใน 27 จังหวัด
ด้านกิจกรรมทางกาย คนไทยทุกช่วงวัยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 68 โดยมีผู้ร่วมกิจกรรมที่ สสส. และภาคีเครือข่ายจัดขึ้นกว่า 1 แสนคน เช่น งานเดินวิ่งเพิ่มสุขภาพ 500,000 คน กิจกรรมองค์กรกีฬาปลอดเหล้า บุหรี่ 36 องค์กร รวม 350,000 คน ชุมชนตัวอย่างการใช้จักรยาน 40 ชุมชนและ 450 พื้นที่แนวร่วม และงานคาร์ฟรีเดย์ 3 แสนคน
4.ผลักดันนโยบายทั้งระดับพื้นที่และระดับประเทศ สามารถหนุนนโยบายระดับประเทศ 10 นโยบาย และอีก 23 นโยบายในระดับพื้นที่ เช่น การเพิ่มขนาดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่เป็นร้อยละ 85 การห้ามขายเหล้าบนรถไฟ ส่วนนโยบายในระดับพื้นที่ เช่น การประกาศจังหวัดปลอดบุหรี่ กาชาดปลอดเหล้า
5.จุดกระแสคนรักสุขภาพ โดยการออกแคมเปญสร้างกระแสสุขภาพ 25 ชุด เช่น ลดพุงลดโรค สร้างการรับรู้ของประชาชนได้ร้อยละ 76 มีประชาชนร่วมงานสวดมนต์ข้ามปี 6.5 ล้านคน และมีประชาชนเข้ามาใช้บริการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะและห้องสมุด 760,000 คน
ส่วนในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาที่ สสส. ร่วมจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทำให้ช่วยลดการตายจากอุบัติเหตุบนถนนได้ ร้อยละ 20 และเสริมสร้างสุขภาวะทางเพศด้วยการร่วมพัฒนาการจัดการเรียนเพศศึกษา และเชื่อมโยงกลไกใน 34 จังหวัด และโครงการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้ 20 จังหวัดนำร่อง
ผู้จัดการ สสส. ยังเผยถึงแผนงานยุทธศาสตร์การทำงานในปี 2558 ด้วยว่า จะเดินหน้าขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะให้กับประชาชนในระดับท้องถิ่น และกลุ่มผู้ด้อยโอกาสให้มากขึ้น โดยกำหนดแผนงานไว้ทั้งหมด 5 ด้าน ได้แก่
1.จัดการปัญหาบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชนบท เพื่อสร้างความยั่งยืนทางสุขภาพให้กับคนชนบท 2.พัฒนาสุขภาพเขตเมือง สร้างนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพให้สอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เช่น โครงการกรุงเทพฯ เมืองสุขภาพดี และพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อดูแลสุขภาพคนทุกเพศทุกวัย
3.ดูแลสุขภาพกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเฉพาะ 4.ขยายภาคีรายใหม่ โดยสนับสนุน Nano Projects เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4,000 ราย เพิ่มช่องทางการรับรู้ข่าวสารให้เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 5 ล้านคนใน 3 ปี และกระจายศูนย์เรียนรู้ไปทั่วประเทศ
5.มุ่งสู่การเป็นต้นแบบองค์กรโปร่งใส โดยเป็นองค์กรแรกๆ ที่เริ่มใช้ Open Government เปิดเผยข้อมูล ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่อต้านการคอร์รัปชัน และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับระบบธรรมาภิบาลให้แก่องค์กรอื่นๆ
ทั้งนี้ ทพ.กฤษดา ยืนยันว่า การใช้งบของเรามีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากทั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ในกรณีมีสภาปกติ ฉะนั้นการใช้เงินของ สสส. จึงมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้
"การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของทาง สสส. ถือว่าได้ผลอย่างมากในการทำงานของเรา และถือว่าใช้งบประมาณน้อยกว่าการทำงานประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐหน่วยงานอื่นๆ มีเสียงถามกันอย่างมากในเรื่องการทำงานประชาสัมพันธ์ของเราว่าใช้งบประมาณมาก ในความเป็นจริงเราใช้งบน้อยมาก"