ถอดโมเดลสิงคโปร์ ปั้น SME ไทย ให้ "Smart"
จากนโยบาย iN2015 วันนี้สิงคโปร์กำลังนำพาประเทศเข้าสู่Smart Nationไอเดียสร้างชาติ-คน ที่ SME ไทยจะได้เรียนรู้
“เขามองว่า ความสามารถเชิงการแข่งขันของเอสเอ็มอีนั้น ไม่ใช่แค่เงิน ไม่ใช่แค่การสร้างทักษะ นั่นคือเรื่องที่จำเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว และทุกประเทศทำกันอยู่ แต่ถ้าเอสเอ็มอีจะไปแข่งกับโลกได้ต้องมีสามตัว คือ IT , Innovation และเรื่องของ Research ต่างๆ”
หนึ่งในถ้อยแถลงของ “ศาสตราภิชาน ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ในปาฐกถาพิเศษ “อนาคตเศรษฐกิจไทยก้าวไกลด้วยพลัง SME” ณ งาน “Smart SME Day” ที่ผ่านมา บอกเล่า โมเดลพัฒนาเอสเอ็มอี ที่ควบคู่ไปกับการสร้างชาติ ของประเทศ “สิงคโปร์” สะกิดต่อมคิดเอสเอ็มอีไทย
เมื่อเป้าหมายสำคัญคือ การสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ เราเลยได้เห็นสิงคโปร์วางหมากไว้ตั้งแต่เมื่อสิบปีก่อน หลัง “นายลี เซียนลุง” นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ได้ออกแคมเปญชื่อ “iN2015” (Intelligent Nation 2015) พร้อมประกาศว่า จะทำให้สิงคโปร์ เป็นเมืองที่ “เฉลียวฉลาด” และมีข้อมูลมากที่สุดเมืองหนึ่งของโลก โดยใช้ศักยภาพของเทคโนโลยี ไอที และข้อมูล (Information) หรือที่เรียก Infocomm และลงทุนมหาศาลเพื่อสร้างแพลทฟอร์มให้คนสิงคโปร์ได้เชื่อมโยงถึงกันได้ ไม่ว่าจะบุคคล สังคม หรือรัฐบาล
ทว่าสิ่งที่รัฐบาลเมอร์ไลออนมองไกลกว่านั้นคือ ไม่เพียงแค่การสร้างความสามารถในการแข่งขันระดับประเทศเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงความสามารถในการแข่งขันระดับองค์กรธุรกิจด้วย เพราะผู้เล่นที่จะลงสนามแข่งไม่ใช่ประเทศ แต่คือบรรดา “ผู้ประกอบการ” ที่อยู่เบื้องหลังความมั่งคั่งของประเทศ
“ประเทศที่จะมั่งคั่งได้นั้น ต้องมี ความคิดใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ อุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่มีมูลค่าสูง (High value) ซึ่ง Startup สำคัญมาก”
ดร.สมคิด ขยายความต่อถึงธุรกิจเกิดใหม่ (Startup) ที่กำลังเป็น “ความหวัง” ในหลายๆ ประเทศ เช่น อิสราเอล ประเทศที่ได้ชื่อว่า มีผู้ประกอบการใหม่ ก่อตัวขึ้นมากที่สุดในโลก รวมถึง สิงคโปร์ โดยผู้ประกอบการเหล่านี้ ล้วนเริ่มต้นจาก การมีความคิดที่ สร้างสรรค์ มีนวัตกรรม มีมูลค่าเพิ่ม และสามารถทำให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้
“ฉะนั้นประเทศที่จะมีอนาคต ไม่ใช่มาจากการที่มีบริษัทขนาดใหญ่กี่บริษัท แต่อยู่ที่ว่า จะมีบริษัทเล็กๆ ที่มีความคิดใหม่ๆ กี่บริษัท นี่เป็นหัวใจ ซึ่งบางทีประเทศไทยอาจมองไม่เห็น แต่สิงคโปร์มองเห็น คนของเขาเลยฉลาด”
เขาบอกว่า นั่นคือเหตุผลที่สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการ “สร้างคน” เอามากๆ อย่างการจัดตั้ง A*STAR (Agency for Science, Technology and Research ) ขึ้นมา แล้วจัดสรรเงินเพื่อป้อน ไปในเรื่อง “คน” อย่างการให้ทุนการศึกษา ส่งเด็กไปเรียนด้านนี้โดยเฉพาะปีละนับพันคน สอง ลงในเรื่องงานวิจัยต่างๆ โดยดึงต่างประเทศเข้ามาร่วมมือด้วย เพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น สามด้าน Industry Capital การดึงเอาภาคเอกชนมาร่วมโครงการ และสร้างเป็นอาณาจักรของคลัสเตอร์ให้เกิดขึ้น โดยมีทั้ง มหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัย ผู้ประกอบการ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ฯลฯ เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น และเอกชนนำไปต่อยอดให้เป็นธุรกิจ
นี่คือสิ่งที่พวกเขาเรียก “Startup Nation”
"นวัตกรรมไม่ได้จำกัดแค่ความคิดสร้างสรรค์ แต่ทำมาจากสิ่งซึ่งเทคโนโลยีผลิตขึ้นมา ฉะนั้นจะต่างกันมากที่เรามีความคิดสร้างสรรค์ กับการที่เรามีความสร้างสรรค์จากเทคโนโลยี เพราะถ้าไม่มีวิทยาศาสตร์ ไม่มีเทคโนโลยี ก็ไม่มีโอกาสที่จะมีมูลค่าเพิ่มสูงๆ ได้" เขาสะท้อนความคิด
ขณะที่ประเทศจะเติบโตได้ก็ต้องทำให้ “Startup” ที่ปั้นขึ้น ขยับไปสู่คำว่า “Scale up” ให้ได้ นั่นคือต้องทำให้บริษัทเล็กๆ เหล่านี้ เติบโตขึ้น เขาบอกว่า สิงคโปร์ตั้งหน่วยงานที่ชื่อ SPRING (The Standards, Productivity and Innovation Board) เพื่อทำหน้าที่หล่อเลี้ยงบรรดา Startup และทำให้เอสเอ็มอี มีความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มขึ้นได้
จากแผนสิบปีของ “iN2015” วันนี้สิงโตทะเลว่ายสู่เป้าหมายแล้ว โดยสามารถวางแพลทฟอร์มทางด้านเทคโนโลยีและข้อมูลที่แข็งแกร่ง พร้อมสานต่อไปสู่เป้าหมายใหม่ กับแผนทำให้สิงคโปร์เป็น “Smart Nation” ซึ่งเพิ่งประกาศไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา โดยการนำเอาเทคโนโลยี ไอที และสิ่งใหม่ๆ มารวมกันเพื่อสร้างให้ความทันสมัยของสิงคโปร์ขึ้นแท่นระดับ "สุดยอด” ของโลก ส่งผลกระทบต่อทั้ง คุณภาพชีวิตประชาชน ความเป็นอยู่ในสังคม ตลอดจนตอบโจทย์ การเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงสุด
“เขาใช้ไอที เทคโนโลยี ทำให้เกิดการอยู่ดีกินดีของผู้คน ที่สำคัญยังเอาสิ่งเหล่านี้มาทำให้เอสเอ็มอี สามารถเชื่อมต่อกับรัฐบาลได้ โดยข้อมูลในเชิงพาณิชย์ การค้า และทุกอย่างที่รัฐบาลมี เอสเอ็มอีสามารถเชื่อมโยงถึงได้หมด ลองนึกภาพเอสเอ็มอีของเรา ข้อมูลอะไรก็ยังไม่มี เงินยังไม่มีเลย เทคโนโลยีก็ไม่มี แล้วอีกสิบปี เราจะไปแข่งอะไรกับเขา”
เขาบอกว่า สิงคโปร์แม้เป็นเกาะที่มีขนาดเล็ก แต่มีการส่งออกมากกว่าไทยเกือบสองเท่า นั่นเพราะเขามุ่งไปที่อุตสาหกรรมซึ่งสามารถเติบโตได้ สร้างผู้ประกอบการที่มีพร้อม สนับสนุนโดยรัฐบาล ที่สำคัญ “ไม่ยอมหยุด” จึงก่อเกิดเป็นเอสเอ็มอีที่ชาญฉลาดได้อย่างแท้จริง เพราะ Smart Nation กับ Smart SME เป็นของคู่กันอยู่แล้ว
กลับมาดูประเทศไทย เขาบอกว่า เราไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากสิงคโปร์ แม้แต่หน่วยงานที่กำกับดูแลก็มีอยู่พร้อม เรียกว่า มี "องคาพยพ" ที่พร้อม แต่ติดตรงที่ ขาดความครบวงจร ความเป็นระบบ และการเชื่อมโยง ทุกอย่างจึงอยู่ในสภาวะ “ติดขัด” ไปหมด
“เชื่อไหมว่า 15 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจเราโตดีมาก ส่งออกไม่แพ้ใคร เพราะเอกชนเข้มแข็งมาก แต่ ณ วันนี้ การส่งออกเริ่มหนักข้อขึ้น เหนื่อยขึ้น เพราะกว่า 70% เป็นการส่งออกสินค้าซึ่งเริ่มจะไม่สามารถแข่งขันได้แล้ว ถ้าเรายังไม่พยายามคิดหาธุรกิจใหม่ๆ ไอเดียใหม่ๆ สร้าง Startup ใหม่ๆ ที่มีมูลค่าสูงให้เกิดขึ้น เราก็จะสู้เขาไม่ได้”
จากสารพัดปัจจัยที่ถาโถม ไม่ว่าจะ การบริหารจัดการ การเชื่อมโยง และความมุ่งมั่นที่มีในใจ ขยับให้ไทยไกลจากสิงคโปร์ไปเรื่อยๆ ทั้งที่ไม่ใช่ประเทศที่ขาดแคลนที่สุด
ทว่าเขาบอกว่า จุดอ่อนที่สำคัญจริงๆ ของเอสเอ็มอีไทย ก็คือ ขาดการรวมตัวกัน และเอาแต่ร้องขอ รอฟังข่าวดี
“รู้จักไหมคำว่า อัตตา หิ อัตโน นาโถ (ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน) การที่รอให้คนอื่นช่วย พอเขาไม่ช่วย เราก็มีสิทธิเป็นเอสเอ็มอีไปตลอดชาติ แต่ถ้าต้องการเป็น Smart SME ก็ต้องคิดว่า นโยบายดีๆ มาจากใคร รัฐบาลจะรู้ไหม เอสเอ็มอีต่างหากที่รู้ว่า อะไรสำคัญ อะไรไม่สำคัญ ซึ่งการรวมตัวกันก็เพื่อ จัดทำนโยบาย แล้วเสนอให้รัฐบาลออกมาเป็นกฎหมายให้ได้”
ขณะที่การมาถึงของ “สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย” การรวมตัวของเครือข่ายผู้ประกอบการกว่า 70 กลุ่ม เพื่อเป็นศูนย์รวมของเอสเอ็มอีไทยและเป็นพลังในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เพิ่งเปิดตัวไปสดๆ ร้อนๆ เขาบอกว่า มีความสำคัญมาก แต่ต้องเป็นการทำงานที่เชื่อมโยงกับภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะสถาบันการศึกษา บริษัทขนาดใหญ่ หน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ และรัฐบาล โดยเฉพาะในสภาวการณ์ที่รัฐบาลกำลังให้ความสำคัญกับเอสเอ็มอี โดยประกาศเป็นวาระแห่งชาติไปแล้วนั้น..การรวมตัวกันของเอสเอ็มอีจะมีพลังมาก
“อย่าไปมองว่ารัฐบาลไม่ช่วย แบงก์ไม่ช่วย ถ้าคุณไม่ช่วยตัวเองก่อน เราต้องช่วยกันละไม้คนละมือ เปลี่ยนเอสเอ็มอีไทยให้เป็น Smart SME จริงๆ แล้วคิดให้ครบวงจร ว่าทำอย่างไรจะให้เกิด Startup จนกระทั่งเป็น องค์กรขนาดใหญ่ได้ มองแบบนี้แล้วร่วมมือกัน คิดอย่างสิงคโปร์ ซึ่งทั้งหมดอยู่ที่พวกเราทุกคน”
เริ่มจากศึกษาโมเดลสิงคโปร์ แล้วเดินสู่วิถีผู้ประกอบการสุด Smart ด้วยพลังเล็กๆ ของเอสเอ็มอีไทย
.......................
Key to success
สูตรรบสุด Smart ฉบับ สิงคโปร์
๐ รัฐบาลกำหนดเป็นนโยบาย มีทิศทาง และมีกลยุทธ์ชัดเจน
๐ สนับสนุน Startup คิดสร้างสรรค์บนฐานเทคโนโลยี
๐ ลงทุนใน คน งานวิจัย และสร้างคลัสเตอร์
๐ พัฒนา Startup ให้ Scale up พร้อมแข่งขันได้
๐ มุ่งไปสู่อุตสาหกรรมที่มีอนาคต
๐ ไม่หยุดคิดใหญ่ ขยับสู่เป้าหมายที่ท้าทายต่อไป