กก.ปฏิรูปศาสนา เสนอ4แนวทางปฏิรูป-พิทักษ์กิจการพุทธฯ
“กรรมการปฏิรูปศาสนา สปช.” เสนอ 4 แนวทางปฏิรูป-พิทักษ์กิจการพุทธศาสนา ชี้ “วัดธรรมกาย” ทำหลักธรรมเพี้ยน ต้องตั้งกรรมการชำระการปฏิบัติ
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนาสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่าทางคณะกรรมการฯ ได้ส่งรายงาน เรื่อง รายงานผลการพิจารณาศึกษาการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสตร์ ต่อ สปช. แล้ว เบื้องต้นคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสปช. ได้ในวันที่ 24 มี.ค. นี้ สำหรับประเด็นสำคัญคือการศึกษาของคณะกรรมการฯ เป็นไปตามกรอบความเห็นปฏิรูปประเทศไทย ด้านอื่นๆ ของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ระบุว่าต้องมีการส่งเสริมให้ศาสนาเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาคน สังคมและประเทศชาติให้มีความมั่นคง จากการประชุมหารือกันจำนวน 5 ครั้ง พบ 4 ปัญหาสำคัญ คือ 1.ทรัพย์สินของวัดหรือของพระสงฆ์ที่ไม่มีการตรวจสอบ หรือ การเปิดเผยทรัพย์สิน จนทำให้พระสงฆ์จำนวนมากมุ่งแสวงประโยชน์เข้าสู่ตนเองมากกว่าศึกธรรมและปฏิบัติธรรมตามแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา
นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า 2.ปัญหาของสงฆ์ที่ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย จนกลายเป็นความเสื่อมศรัทธา ทั้งนี้มีสาเหตุจากปัญหาการปกครองของคณะสงฆ์ที่เป็นแบบรวมศูนย์ และ การศึกษาคณะสงฆ์ 3.การทำให้พระธรรมวินัยให้วิปริต และการประพฤติปฏิบัติวิปริตจากพระธรรมวินัย เช่น กรณีของวัดพระธรรมกายที่มีแนวทางคำสอนที่ขัดแย้งกับพระธรรมวินัยที่ร้ายแรง โดยชักจูงประชาชนให้เชื่อว่า บุญ คือ สินค้า รวมถึงยังมีพฤติกรรมรับเงินบริจาคที่มาโดยมิชอบ ดังนั้นประเด็นที่เกิดขึ้นต้องมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อชำระการปฏิบัติที่เพี้ยนจากพระธรรมวินัย และ 4.ฝ่ายอาณาจักรต้องสนับสนุน ปกป้อง คุ้มครองกิจการของฝ่ายศาสจักร โดยการจัดโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ที่มีความคล่องตัว
นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ทางคณะกรรมการฯ ยังได้เสนอข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสตร์ ต่อ สปช. ดังนี้ คือ 1.ให้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินของวัดและพระภิกษุ โดยอย่างน้อยต้องมีกลไกหลักในการดำเนินงาน คือ การจัดทำงบบัญชีทรัพย์สินของวัด ทรัพย์สิน เงินทอง รายได้ รวมถึงผลประโยชน์อื่นที่ได้มาจากการดำเนินงานภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ย่อมตกเป็นของพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนตัวของบุคคล พระสงฆ์ หรือวัดใด การบริหารจัดการทรัพย์สิน เงินทอง รายได้ ของวัดและพระ ควรให้พุทธบริษัท4 ได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และ อุบาสิกา มีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และแก้ไขประมลกฎหมายแพ่งแลพาณิชย์ มาตรา 1623 ที่กำหนดให้ทรัพย์สินของพระภิกษะที่ได้มาระหว่างอยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นแต่พระภิกษุนั้นจะจำหน่ายไปในระหว่างมีชีวิตหรือโดยพินัยกรรม เพื่ออุดช่องว่างทางกฎหมาย และให้เป็นไปตามธรรมวินัย โดยให้ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างเป็นพระภิกษะให้ตกเป็นของวัดนับตังแต่ที่ได้มา และไม่สามารถจำหน่าย โอน หรือ ทำพินัยกรรมยกให้บุคคลอื่นได้
นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า 2.เสนอให้แก้กฎหมายมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 พ.ศ.2541 ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ หรือ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ในสาระสำคัญ คือ การกระจายอำนาจในการปกครองคณะสงฆ์ แทนการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ โดยคณะสงฆ์ที่อยู่ในวัดและพุทธศาสนิกชนรอบวัดร่วมกันดูแลและกิจการพุทธศาสนา รวมถึงปฏิรูปให้พระสงฆ์ทั่วประเทศมีส่วนร่วมแสดงความเห็นและร่วมกำหนดนโยบายบริหารและกระจายอำนาจจากระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล ขณะที่การแต่งตั้งถอดถอนเจ้าอาวาส ต้องเป็นไปตามพระธรรมวินัย, 3.ต้องมีกลไกนำหลักปฏิบัติตามพุทธบัญญัติที่ทรงไว้ซึ่งความดี ถูกต้อง และบริสุทธิ์ของพระพุทธศาสนามาปฏิบัติ เพื่อไม่ให้มีการบิดเบือนหรือแอบอ้างพระธรรมวินัย และ 4.ปฏิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์ให้ทันเหตุการณ์ โดยราชการต้องให้ความสำคัญด้านการศึกษาของคณะสงฆ์ด้วย ทั้งนี้พบว่าการศึกษาของคณะสงฆ์ โดยเฉพาะศึกษาปริยัติธรรม, แผนกบาลี และแผนกธรรมไม่ได้ปรับปรุงแก้ไขทำให้ค่านิยมในหมู่พระภิกษุ สามเณร และเยาวชนลดลง