'กระบี่' ซิตี้ออฟไบค์
ตั้งแต่ไบค์เลนมาจนถึงแคมเปญมากมาย แต่มั่นใจแล้วหรือว่านี่คือการสร้างเมืองจักรยานอย่างที่หลายคนใฝ่ฝัน
ไปไหนมาไหนก็เห็นคนปั่นจักรยาน คนรู้จักหลายคนก็หันมาปั่นจักรยาน ร้านจักรยานทั้งเจ้าเก่าเจ้าใหม่เบ่งบานราวดอกเห็ด ข่าวคราวต่างๆ นานาตีแผ่เรื่องจักรยาน เรียกได้ว่าอะไรต่อมิอะไรก็เป็น 'จักรยาน' ไปหมดในยุคนี้
แม้แต่ข่าวล่าสุดที่ทำให้นักปั่นชาวกรุงออกอาการตื่นเต้นดีใจอย่างข่าวเส้นทางจักรยานหรือไบค์เลนแห่งใหม่จะเปิดให้บริการในเดือนนี้ แถมยังชูคอนเซปท์ช่วยชาวสวนยางโดยใช้ยางพารามาทำเป็นพื้นทางจักรยานด้วย ข่าวนี้ได้ใจทั้งนักปั่นชาวกรุงและชาวสวนยางพารา
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายอย่างเกิดขึ้นตามกระแสจักรยานที่บูมวันบูมคืน ตั้งแต่ไบค์เลนยอดฮิตที่สนามบินสุวรรณภูมิ ไปจนถึงแคมเปญปิดถนนให้คนปั่นจักรยานเพื่อรณรงค์และประกาศว่าอีกไม่นานบ้านนี้เมืองนี้จะเป็น 'เมืองจักรยาน' ได้
...แต่ก็ไม่แน่
ปั่นหาอะไร
ปั่นหาอะไร? ไม่ใช่คำถามชวนหาเรื่อง แต่เป็นคำถามชวนหาคำตอบ เพราะท่ามกลางกระแสอะไรสักอย่างย่อมมี 'ความกลวงเปล่า' ปะปนกับ 'แก่นสาร' ในแต่ละกิโลเมตรที่จักรยานแล่นผ่านไปก็เช่นกัน...
บางคนบอกว่าปั่นเพื่อออกกำลัง บางคนปั่นเพื่อลดภาวะโลกร้อน บางคนปั่นเพื่อเดินทาง บางคนปั่นเพื่อแข่งขัน บางคนปั่นเพราะอยากเป็นฮิพสเตอร์ สิ่งเหล่านี้ไม่มีถูกไม่มีผิด เพียงแต่ถ้ามองที่สัดส่วนจำนวนคนปั่นจักรยานในแต่ละกลุ่ม อาจได้คำตอบว่า "คนส่วนมากปั่นจักรยานทำไม?" และสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นแบบโหนกระแสในทุกวันนี้ 'ใช่' หรือ 'มั่ว'
พรเทพ ดิษยบุตร ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพจังหวัดกระบี่บอกว่าถึงแม้ยุคนี้จักรยานจะเป็นกระแสที่มาแรงมาก แต่ถ้าแบ่งกลุ่มคนปั่นตามจุดประสงค์การใช้งาน จะเห็นภาพชัดเจน
เขาสมมติกลุ่มคนปั่นจักรยานทั้งหมดเป็นรูปพีระมิด แล้วแบ่งเป็นสามส่วน ประเภทที่หนึ่งคือนักกีฬาจักรยานซึ่งมีจำนวนน้อยมาก อยู่ยอดแหลมของพีระมิด ประเภทที่สองคือนักปั่นทั่วไปที่เราเห็นๆ กันทุกวันนี้ ส่วนประเภทที่สามคือคนที่ใช้จักรยานไปนู่นมานี่และเพื่อดำรงชีวิต ซึ่งฐานใหญ่มากระดับหลายแสนคน
"กิจกรรมที่ทำๆ กัน ทำเพื่อคนกลุ่มที่สองเท่านั้น" พรเทพสะท้อนความจริงซึ่งกำลังเกิดขึ้น
ส่วนกลุ่มสามแม้จะถูกละเลยจากอีเว้นท์หรือไม่มีใครปิดถนนให้ปั่นจักรยาน แต่ในทุกวันพวกเขาต้องใช้ยานพาหนะสองล้อสัญจรไปมา ทว่าปัจจัยแวดล้อมกลับเป็นอุปสรรคให้พวกเขาใช้จักรยานได้ยากขึ้น นับเป็นความย้อนแย้งกับคำว่า 'เมืองจักรยาน'
พรเทพอธิบายว่าคนกลุ่มนี้คือพวกเด็กนักเรียนที่บ้านไม่ไกลจากโรงเรียนนัก คือชาวบ้านที่อยากปั่นจักรยานไปทำบุญที่วัด คือคนที่ปั่นจักรยานไปทำงานเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย แต่พวกเขาจะทำได้หรือ หากยังต้องเผชิญกับรถยนต์ที่แล่นเร็วในเขตเมือง หากพวกเขายังไม่มีที่จอดจักรยานที่ไว้ใจได้ และพวกเขายังไม่มีถนนที่ปลอดภัย ซึ่งไม่ได้หมายถึงไบค์เลนเพียงอย่างเดียว
กระบี่โมเดล
ในเมื่อกระแสจักรยานเอื้อให้แต่นักปั่นสายแข่ง ออกกำลังกาย และสายแฟชั่น คนจักรยานตัวจริงจึงต้องร่วมมือกับภาครัฐที่มีอำนาจ ปลุกปั้นเมืองกระบี่ขึ้นเป็นเมืองจักรยานอย่างยั่งยืนชนิดที่เมืองอื่นไม่เคยคิดมาก่อน
ด้วยคำว่า 'ยั่งยืน' ที่ทำให้กระบี่เลือกให้ค่าผู้ใช้จักรยานที่เป็นชนกลุ่มใหญ่ ซึ่งถ้าในแง่การลงทุนกับคนกลุ่มนี้จะประหยัดงบประมาณได้มากแต่ได้ผลคุ้มค่าเหลือเกิน เพราะสิ่งที่พวกเขาต้องการคือแค่ได้ใช้จักรยานอย่างปลอดภัย
"ความปลอดภัยเป็นเรื่องการบังคับใช้กฏหมาย ว่าอย่าขับขี่เร็วในเขตเมือง อยากให้มีที่จอด มันเป็นสิ่งที่ทำง่ายกว่าทางจักรยานซึ่งต้องลงทุนสูงมาก ในขณะเดียวกันหลายที่หลายแห่งเขาไม่ได้นึกถึงคนกลุ่มนี้" พรเทพกล่าว
ลองคิดกันเล่นๆ ว่าถ้ารถขับกันช้าๆ ถึงจะเกิดอุบัติเหตุก็จะไม่รุนแรง เขาจึงถามว่าถ้ารถแล่นไปช้าๆ แบบนี้ เราจะไม่อยากให้ลูกปั่นจักรยานไปโรงเรียนหรือ ถ้าทุกคันขับช้าหมด เราจะไม่อยากให้ลูกเดินไปโรงเรียนหรือเปล่า
และถ้าเป็นไปได้จริงหากรถยนต์แล่นช้าๆ ในเขตเมืองชั้นใน ระหว่างเดิน จักรยาน มอเตอร์ไซค์ และรถยนต์ ก็แทบไม่ต่างกันเลย
แต่ในขณะเดียวกันเรายังได้เห็นหลายแห่งทุ่มงบประมาณสร้างทางจักรยาน อาทิ ทางจักรยานเลียบถนนประดิษฐ์มนูธรรม (ถนนเลียบทางด่วนรามอินทรา) ซึ่งขึ้นชื่อลือชามากสำหรับนักปั่นที่ได้ลิ้มลองว่าเละเทะและไร้ประสิทธิภาพ หรือแม้แต่ทางจักรยานสีเขียวสนามบินสุวรรณภูมิที่ถูกอกถูกใจนักปั่นกลุ่มหนึ่งและสองเพราะเป็นเส้นทางปิด ไม่มีรถยนต์สัญจร ทว่าเส้นทางแบบนี้มีไว้สำหรับปั่นให้จบๆ ไปเท่านั้น
ประธานชมรมจักรยานกระบี่บอกว่าหากลงทุนทำไบค์เลนเพียงอย่างเดียวต้องใช้เงินหลายล้านมิหนำซ้ำยังไม่รู้ด้วยว่าจะมีคนใช้ไบค์เลนนั้นคุ้มกับเงินที่เสียไปหรือเปล่า แต่ถ้าแก้ไขที่ต้นเหตุอาจใช้เงินเพียงหยิบมือ
"ถ้าเลนจักรยาน วันนี้ลงเงินไปสิบล้านแต่ก็ไม่รู้ว่าจะมีคนไปปั่นกี่คน และปั่นไปเพื่ออะไร อย่างสนามเขียวลงทุนไปหลายร้อยล้านบาท ก็กลายเป็นว่าเพื่อรองรับคนกลุ่มสอง แต่เราปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าต้องมีเรื่องแบบนี้เหมือนกันในเมือง แต่ในขณะที่เรายังไม่มีงบประมาณเราต้องการความเร่งด่วน นี่เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดและทำได้ นั่นคือการทำป้ายและบังคับใช้กฎหมายซึ่งใช้เงินหลักแสนบาทเท่านั้นเอง"
ป้ายที่ว่าคือป้ายบอกทางแบบใหม่ซึ่งไม่เน้นบอกระยะทาง ทว่าบอก 'ระยะเวลา' ว่าเดินหรือปั่นจักรยานไปอีกกี่นาทีจะเจออะไร คล้ายเป็นของประหลาดแต่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ของผู้ใช้จักรยานและเดินเท้าเอง จึงทำให้รู้ว่าตัวแปรสำคัญที่จะทำให้คนสัญจรด้วยวิธีการใดๆ ก็คือ 'เวลา'
"ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่ทำงานของภรรยาผมห่างจากบ้าน 20 กิโลเมตร ถ้าเดินทางโดยรถประจำทางใช้เวลา 1.10 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ถ้าเอารถส่วนตัวไปก็ใช้เวลาเกือบๆ ชั่วโมงเพราะรถติดในชั่วโมงเร่งด่วน ก็เลยลองปั่นจักรยานไป ปรากฏว่าใช้เวลา 1.15 ชั่วโมง จึงเป็นเหตุหนึ่งให้ปั่นจักรยานไปดีกว่า ผมจึงเอาแนวคิดนี้มาใช้ทำป้ายในเมืองกระบี่ที่จะช่วยให้ตัดสินใจใช้จักรยานและเดินเท้าได้ง่ายขึ้น" พรเทพบอก
ถึงแม้ทั้งหมดทั้งมวลจะตอกย้ำว่าไบค์เลนไม่ใช่เส้นทางสู่ฝันของเมืองจักรยานเสมอไป แต่หาก 'ทำให้เป็น' ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเมืองจักรยานขนานแท้และยั่งยืนได้ เพราะที่กระบี่เองก็จะมีไบค์เลนแบบมาตรฐานเกิดขึ้นในปีหน้า (2559) จากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 2 ไปยังวัดบางผึ้ง ต.โคกยาง อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ท่ามกลางความสงสัยว่า "จำเป็นไหม?" ประธานชมรมจักรยานฯจึงออกโรงอธิบายว่า ถ้าไบค์เลนจากเมืองสู่เมือง จากที่หนึ่งสู่อีกที่หนึ่ง...จำเป็น
แต่ถ้าไบค์เลนนั้นเกิดจาก 'คนคิดไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้คิด' ก็ไม่จำเป็น...
"ส่วนที่เราจะทำ อย่างเช่นในหมู่บ้านของผมเป็นหนทางระหว่างบ้านสู่วัดสู่โรงเรียน ซึ่งมีจุดหมายปลายทางชัดเจน บ้านไปโรงเรียนเพราะมันเกิดอันตราย เด็กเดินไปโรงเรียนไม่ได้ ปั่นจักรยานไปโรงเรียนไม่ได้ นั่นคือจุดประสงค์ ผู้ใหญ่จะไปวัด จะเอารถยนต์ไปบางทีก็ต้องย้อนศร จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้เขาไปได้"
เมืองจักรยาน...ฝันหรือจริง
เห็นภาพของกระบี่ที่กำลังจะก้าวเป็นเมืองจักรยานจากคำบอกเล่าของคนที่ลงมือทำกันไปแล้ว ทว่าโมเดลแบบนี้ไม่ได้มีเพียงที่นี่เท่านั้น เพราะอย่างที่รู้กันว่าเมืองต่างๆ ทั่วโลก แทบจะดีและพร้อมกว่าบ้านเราไปเสียหมด
หมู - เจริญ โอทอง กับ วรรณ - อรวรรณ โอทอง นักปั่นจักรยานรอบโลกชาวไทย พวกเขาได้พบกับเส้นทางต่างๆ นานาในหลายประเทศทั่วโลก จึงเห็นความแตกต่างที่บ้านเรากับบ้านเขามีไม่เหมือนกัน
เจริญบอกว่าได้ใช้ทางจักรยานมาแล้วทั่วโลก เช่น ออสเตรเลียส่วนมากจะใช้ทางร่วมปั่นไปกับทางปกติ พอเข้าเขตเมืองอย่างเมลเบิร์นหรือซิดนีย์จึงจะมีไบค์เลน หรือที่นิวซีแลนด์ก็ใช้ทางร่วมเหมือนกันเพราะถนนแคบ ในเมืองก็มีทางจักรยานบ้าง
สำหรับโซนอเมริกาใต้นั้นคล้ายๆ ประเทศไทย ยกเว้นประเทศโคลัมเบียที่เป็นกรณีพิเศษเพราะที่เมืองโบโกต้ามีแคมเปญยิ่งใหญ่มาก ที่เมืองนี้มีปัญหามลพิษและการจราจรติดขัด ผู้ว่าฯจึงลุกขึ้นมาปั่นจักรยานและจัดสรรพื้นที่ จนตอนนี้โบโกต้ากลายเป็นเมืองจักรยานที่ดีมากที่สุดของโลกไปแล้ว
ดูเหมือนว่าเราจะยังเทียบชั้นกับเขาไม่ได้ แต่ที่น่าสนใจและสอดคล้องกับที่กระบี่กำลังทำคือไม่ทุ่มทุนไปกับทางจักรยานแบบเปล่าๆ ปลี้ๆ เพราะจะทำเส้นทางจักรยานสักทีต้อง 'คิดก่อน'
"บ้านเขาเส้นทางไบค์เลนเป็นเรื่องเป็นราวครับ จากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ยกตัวอย่าง คนอยู่ที่พุทธมณฑลแล้วต้องมาสีลม เขาจะเชื่อมเส้นทางกันเลย เหมือนที่ออกแบบรถไฟฟ้าครับ แล้วก็กระจายออกไปนอกเมือง มันน่าจะสนุกกว่าตรงที่ซอกซอนไปได้ ข้ามได้ มุดได้ มันดีกว่าทางรถยนต์เยอะครับ"
ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเริ่มได้ดีในเมืองเล็กๆ กระบี่แม้จะเติบโตในฐานะเมืองท่องเที่ยวอันโด่งดัง แต่การขยายตัวของเมืองและวิถีชีวิตคนกระบี่ยังอยู่ในขอบข่ายที่ไม่โตเกินงาม ตรงกันข้ามกับเมืองใหญ่ๆ บางเมืองที่ประโคมจัดอีเว้นท์จักรยานแม้อาจจะสร้างกระแสไปสู่แคมเปญใหญ่ได้ในอนาคตแต่เกิดผล ณ ปัจจุบันเพียงคนกลุ่มเดียว
เจริญเล่าว่าเขากับอรวรรณเคยไปอยู่ที่เชียงม่วน จ.พะเยา มาระยะหนึ่ง ความที่เป็นเมืองเล็กทำให้เขาเห็นความเป็นไปได้ที่จะมีเมืองจักรยานเกิดขึ้นได้ในหลายๆ แห่ง รวมถึงกระบี่ด้วย
"ถ้าเป็นกระบี่ ผมมองว่าเป็นไปได้ครับ และเป็นไปได้ในทางบวกด้วย 50+ ว่างั้นเถอะ แต่ถ้าเป็นกรุงเทพฯผมว่า 50- ไว้ก่อน เพราะมีปัจจัยอื่นมากมาย ผมจบก่อสร้างมาก็จะรู้ว่าการทำอะไรต้องมาจากจุดเริ่มต้นครับ การวางผัง จัดคอนเซปท์อะไรต่างๆ
ขอเทียบเคียงนิดหน่อย อย่างเชียงม่วนที่ผมไปอยู่มา เป็นเมืองเล็กๆ ที่คนปั่นจักรยานไปทุกที่ ทุกเวลา ก็เป็นจุดกำเนิดของความยั่งยืนได้ อย่างกระบี่นี่อาจเป็นเมืองที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อย ต้องใช้กำลังนิดหนึ่ง แต่ผมเชื่อว่าทำได้"
และตัวอย่างที่ดีที่อรวรรณไปเห็นมาในต่างประเทศคือนอกจากมีไบค์เลนที่เชื่อมจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งได้จริง ยังมีแผนที่จักรยานซึ่งหาซื้อได้หรือบางแห่งก็แจกฟรี
"ไบค์เลนกับแผนที่จักรยานต้องอยู่ควบคู่กันค่ะ ถึงแม้บางช่วงจะไม่มีไบค์เลนแต่มีแผนที่จักรยานที่บ่งบอกว่าตรงนี้เป็นเส้นทางปั่นจักรยาน และคนใช้จักรยานเยอะ อย่างเมลเบิร์นหรือเพิร์ธถึงแม้เขาไม่มีไบค์เลนแต่มีแผนที่จักรยาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้บ้านเราไม่มี"
ไบค์เลนก็ไม่ดี แผนที่ก็ยังไม่มา แต่ที่เจริญบอกว่าเรามีดีสู้บ้านเมืองอื่นได้คือถนนและไหล่ทาง ทว่าต้องตกม้าตายเพราะ 'พฤติกรรม' ของผู้ใช้รถใช้ถนนเอง
"เราอาจได้ใบขับขี่มาโดยไม่เข้นข้นนัก เราไม่ได้เรียนรู้กฎจราจรที่ถูกต้องเท่าที่ควร วินัยเรายังหย่อนกว่าหลายประเทศ เท่าที่ได้ข้อมูลมาอุบัติเหตุบ้านเราน่าจะมากเป็นอันดับสี่ของโลก"
หากจุดเริ่มต้นของเมืองคือการวางผังเมือง จุดเริ่มต้นของเมืองจักรยานอาจหมายถึงการคิดให้ถี่ถ้วน มองประโยชน์ของคนส่วนมาก ปลูกจิตสำนึกให้คนใช้รถใช้ถนนเห็นใจซึ่งกันและกัน และที่สำคัญต้องเริ่มต้นจากจุดที่เหมาะสมด้วย
อีกไม่นานกระบี่อาจมีสองหัวโขน คือ เป็นเมืองท่องเที่ยวแสนงดงามกับเป็นเมืองจักรยานที่ปลอดภัยและยั่งยืน