สงครามขยะแห่ง ‘โตเกียว’
บ้านเมืองแสนสะอาด ผู้คนวินัยจัด ใครไปใครมาต่างชื่นชม
แต่ถ้าย้อนหลังกลับไป 50 ปีก่อน รู้ไหม ‘โตเกียว’ เคยเต็มไปด้วยขยะ จนรัฐบาลต้องประกาศเข้าร่วมศึก ‘สงครามขยะแห่งโตเกียว’
วันก่อนนะ.. ทำกับข้าวเสร็จ เราก็ทิ้งเปลือกไข่ลงถัง สามีมาเห็น บอกว่า ต้องล้างเปลือกไข่ก่อนทิ้ง!!!!
วันก่อนนะ.. เห็นแม่สามีเอาน้ำมันที่ใช้แล้วมาตั้งบนเตา ใส่ผงอะไรไม่รู้ลงไป นางบอกว่า ทำให้น้ำมันแข็งตัว จะได้เอาไปเผาได้!!!!
วันก่อนนะ.. ลูกชายป.4 ไปทัศนศึกษาที่บ่อขยะ กลับมาเล่าว่า รู้มั้ยๆ... ทิชชู่ 1 ม้วนได้จากการีไซเคิลกล่องนมเปล่า 6 กล่อง!!!!
เรื่องเม้าท์มอยเกี่ยวกับ ‘ขยะ’ โดยแม่บ้านชาวไทยที่อาศัยอยู่กับสามีชาวญี่ปุ่น ซึ่งเธอบอกว่า แม้จะอยู่ในแดนปลาดิบมาเป็นสิบปี แต่ก็ยังมีเรื่องขยะๆ ที่น่าสนใจมาใหม่เสมอๆ
แต่ถ้าตัดฉากมาสู่แดนสยาม เรื่องเล่าจะกลายเป็นทำนองว่า
วันก่อนนะ.. ผมเห็นแม่จูงลูกมา แล้วลูกก็เอาแก้วน้ำที่ถือในมือไปวางไว้บนฟุตบาธ แล้วก็จูงมือกันเดินลั้ลลาไป ผมตามไปบอกแม่ว่า ไม่ควรทำแบบนั้น ผลคือ โดนด่าว่า มายุ่งอะไรด้วย!!!
เบื่อไหม ไหม้ซ้ำซาก
ถ้ายังจำกันได้ เมื่อปีที่แล้วนี่เอง กับเหตุการณ์ไฟไหม้ที่ “บ่อขยะแพรกษา-บางปู” (16 มีนาคม 2557) จนกลายเป็นเรื่องบานปลายใหญ่โต เพราะส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะชาวเมืองทั้งหลาย ที่เคยกินอยู่กันสุขสบาย แต่วันดีคืนดี ต้องมานอนสูดกลิ่นควันอยู่หลายวัน แถมยังมาช็อคซ้ำว่า บ่อขยะเจ้ากรรมบรรจุไว้ด้วยสารเคมีอันตรายที่ให้ผลพิษต่อร่างกายเมื่อเกิดการเผาไหม้!
ทั้งๆ ที่กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ผลิตขยะมากที่สุดในประเทศไทย แต่อยู่กันมาอย่างสบาย เพราะขยะที่ผลิตกันอย่างเมามัน ก็ขนไปทิ้งไว้ในจังหวัดรอบนอก จะมาสำนึกได้ก็เมื่อไฟไม้บ่อขยะแพรกษาฯ โดยกว่าจะดับไฟได้ก็ล่วงเข้าสู่วันที่ 8 แถมหลังควันจางหายไม่ทันไร ก็ยังมีเหตุไหม้ซ้ำอีกหลายรอบในช่วงปีที่ผ่านมา พ่วงด้วยเหตุไฟไหม้บ่อขยะอื่นๆ ให้ชุมชนที่อยู่รายรอบใจเต้นตึกตักไปตามๆ กัน
อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ (19 เม.ย) ก็เกิดเหตุไฟไหม้บ่อขยะเก่า ที่อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยบ่อดังกล่าว เป็นบ่อขยะเก่า เนื้อที่กว่า 7 ไร่ซึ่งมีขยะอยู่เต็มพื้นที่ และคาดว่า เกิดเพลิงไหม้ขึ้นเพราะอากาศที่ร้อนจัดจนเกิดปฏิกิริยาเคมีจนเกิดไฟลุกไหม้ โดยต้องใช้คนกว่า 100 ชีวิตเข้าฉีดน้ำดับเพลิงตลอดคืน จนสามารถควบคุมเพลิงได้ในช่วงเช้ามืด
แน่นอนว่า ในทุกครั้งของเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะ จำเลยแรกๆ ที่ถูกหยิบขึ้นมาเป็นเป้าประชาทัณฑ์มักจะหนีไม่พ้น อากาศร้อน มีคนทิ้งก้นบุหรี่ มีคนลักลอบแอบเข้ามาจุด ฯลฯ แต่อย่าเพิ่งขมวดคิ้ว คิดตามไกลไปถึงตรงนั้น แต่ลองมาตั้งต้นเริ่มต้นที่ปลายเหตุอย่างการที่ไฟไหม้บ่อขยะก่อนก็ได้ว่า มีอะไรซ่อนอยู่ใต้ควัน..
ผศ.ดร.พิชญ รัชฎาวงศ์ เปิดเผยไว้ในงานแถลงข่าวเรื่อง “ไฟไหม้บ่อขยะซ้ำซาก….แก้อย่างไร” เมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมา โดยได้อธิบายถึงสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ในบ่อขยะว่า มี 3 ปัจจัยหลักคือ ออกซิเจน อุณหภูมิ เชื้อเพลิง โดยเฉพาะ ออกซิเจน เป็นสิ่งสิ่งขาดไม่ได้ คือ มีอยู่ทั่วไปในชั้นบรรยากาศ โดยอุณหภูมิที่สูงอย่างในหน้าร้อนนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ขยะเปียกกลายเป็นขยะแห้งซึ่งกลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี
โดยเฉพาะเมื่อ “บ่อขยะ” แบบไทยๆ คือ การจัดการขยะที่ไม่เป็นไปตามแบบทางวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมที่ต้องออกแบบเพื่อลดความเสี่ยงทั้งทางสิ่งแวดล้อมและทางอุบัติภัย ดังนั้นเมื่อมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ครบทั้งสามประการข้างต้น อาทิ เชื้อเพลิงและอุณหภูมิจึงเกิดไฟลุกไหม้ได้ทันที
แถมเมื่อมีเพลิงไหม้เกิดขึ้น การจัดการ มาตรการดับเพลิงของบ้านเราก็ยังไม่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยหากนำไปเทียบกับต่างประเทศแล้ว จะยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่า ของบ้านเราช้ากว่ามาก สาเหตุก็เพราะ บ่อขยะในบ้านเราไม่เป็นระบบ ไม่ได้เตรียมการเรื่องเส้นทางเดินรถไว้ ที่สำคัญ คือ เนื่องจากบ่อขยะแทบทั้งหมดไม่ได้มีการกั้นเป็นบล็อกๆ ไว้ ดังนั้นเมื่อไฟลาม จึงยากจะควบคุมได้
แต่อะไรก็ไม่เท่ามูลเหตุสำคัญของไฟ นั่นคือ ‘เชื้อไฟ’ ซึ่งบรรจุอัดแน่นอยู่เต็มบ่อ เพราะกองขยะแทบจะร้อยทั้งร้อยไม่ได้ผ่านการคัดแยกขยะมาก่อนนั่นเอง!
ขยะล้น กรุงโตเกียว
ถ้ามาลองคิดต่อกันเล่นๆ ถึงตัวอย่างแผนการจัดการขยะที่กำลังจะเกิดขึ้น หรืออยู่ระหว่างกระบวนการในบ้านเรานั้น มันมีแนวโน้มว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ อาทิ
...การเก็บเงินค่าขยะครัวเรือนละ 150 บาทต่อเดือนที่ ครม.เพิ่งผ่านร่าง จะพอเพียงไหม ?
...เตาเผาขยะขนาด 500 ตันต่อวัน ที่องค์กรเนโดะ จากญี่ปุ่นจะส่งมอบให้ไทย จะช่วยแก้ปัญหาได้จริงหรือ ?
...การรณรงค์แยกขยะจะได้ผลเพียงไร ?
ฟังดูเหมือนจะงานหินทุกเรื่อง แต่อาจจะใจชื้นขึ้นมาได้บ้าง ถ้าได้รู้ว่า เมื่อก่อน กรุงโตเกียว มหานครแห่งซีกโลกตะวันออกก็เคยประสบปัญหาไม่ต่างกับบ้านเรา!
“เมื่อก่อน โตเกียวก็เคยมีกรณีพิพาทกับชาวบ้านเรื่องขยะครับ.. ตอนนั้น ผมจำได้เลยว่า ที่เกาะยูเมะ โนะ ชิมะ (เกาะแห่งความฝัน) เต็มไปด้วยแมลงวัน ชาวบ้านลุกขึ้นประท้วงกันอย่างหนัก จนนำมาสู่การปรับปรุงระบบจัดการขยะของโตเกียวในเวลาต่อมา” เสียงบอกเล่าจาก โอโนะ ฮิโรชิ คุณลุงวัยเกษียณ ที่อดีตเคยเป็นผู้จัดการแผนกจัดเก็บขยะของโตเกียวก่อนจะเกษียณ และมาทำหน้าที่ไกด์นำชมบ่อขยะที่แสนจะไฮเทคของกรุงโตเกียวในปัจจุบัน
ส่วนเรื่องไฟไหม้บ่อขยะนะเหรอ.. “ที่โตเกียวก็เคยเกิดขึ้นครับ” เสียงคุณลุงเจ้าเก่าปลอบใจ
โดยคุณลุงโอโนะเล่าถึงในยุคมืดด้วยพิษจากขยะในกรุงโตเกียวเมื่อ 50 ปีก่อนว่า.. ตอนนั้นระบบการจัดการขยะไม่ได้ต่างจากบ้านเราเลย นั่นคือ มีขยะเท่าไหร่ๆ ก็ส่งไปที่บ่อฝังกลบจนหมด แต่ไม่ได้มีการออกแบบหรือจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ จนเกิดปัญหาดังกล่าว ซึ่งชาวบ้านในเขต Koto ได้ลุกขึ้นประท้วงเพราะได้รับผลกระทบโดยตรง
เสริมด้วยข้อมูลจากบทความเรื่อง “การบริหารจัดการขยะและของเสียและการรักษาความสะอาดที่สาธารณะของประเทศญี่ปุ่น” โดย วรรธน์มน สุกใส และ ปิยวรรณ ซอน ที่เล่าถึงดราม่าขยะของชาวปลาดิบซึ่งถูกเรียกขานกันว่า “สงครามขยะแห่งโตเกียว” (พ.ศ.2508) ซึ่งเกิดจากการทิ้งขยะโดยไร้การจัดการ แถมยังมีปัญหาการลักลอกนำขยะไปทิ้งทะเลจนก่อให้เกิดโรคมินะมะตะขึ้นด้วย
สรุปโดยรวมจากที่บทความดังกล่าวเอ่ยถึงไว้เกี่ยวกับ “สงครามขยะแห่งโตเกียว” คือ เรื่องเกิดขึ้นเมื่อโตเกียวได้สร้างที่ทิ้งและเก็บขยะไว้ในเขต Koto และใช้งานมากว่า 300 ปี กระทั่งในปี ค.ศ. 1957 ได้มีโครงการสร้างเกาะ Yume no Shima (เกาะแห่งความฝัน) เพื่อใช้สำหรับฝังกลบขยะไว้ในบริเวณชายฝั่งในเขต Koto โดยให้สัญญากับประชาชนว่าจะระมัดระวังไม่ให้เกิดปัญหามลพิษ แต่ปรากฏว่า ไม่สามารถรักษาสัญญาไว้ได้ และขยะจำนวนมหาศาลก็ทำให้เกิดปัญหามลพิษสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนในเขต Koto จนในปี พ.ศ.2508 เมื่อจังหวัดโตเกียววางแผนการสร้าง New Yume no Shima เพื่อเป็นสถานที่ฝังกลบขยะแห่งใหม่ในเขต Koto ประชาชนจึงได้รวมตัวกันต่อต้านการสร้างสถานที่ฝังกลบขยะ การต่อต้านได้ลุกลามบานปลาย จนประชาชนในเขต Koto ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการอยู่ในเส้นทางขนส่งขยะไปยัง New Yume no Shima ได้ลุกขึ้นมาบอยคอตไม่ให้รถขนขยะเข้ามาในเขต Koto จนกว่าชาวเมืองโตเกียวที่เหลือจะรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับพวกเขา ซึ่งทำให้ Ryokichi Minobe ผู้ว่าราชการจังหวัดโตเกียวในขณะนั้น ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาและประกาศ “สงครามกับขยะ” เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
บ่อขยะโฉมใหม่
ปัจจุบัน ขยะทั้งหมดจาก 23 เขตในกรุงโตเกียว ได้มุ่งมาสู่บ่อขยะแสนไฮโซริมอ่าวโตเกียว ที่เกิดจากการสร้างกำแพงและทำบ่อฝังกลบเตรียมรอขยะจำนวนมหาศาลของชาวโตเกียว
ระหว่างนำชมการจัดการขยะของเทศบาลกรุงโตเกียว ลุงโอโนะ ก็เล่าถึงวิธีการแยกขยะที่ชาวเมืองทำได้อย่างง่ายๆ โดยหลักๆ คือ ต้องแยกขยะออกเป็น ขยะที่เผาได้ ขยะที่เผาไม่ได้ ขยะชิ้นใหญ่ และขยะรีไซเคิล เช่น ขวดแก้ว กระดาษ ซึ่งลุงโอโนะบอกว่า จริงๆ นั่นไม่ถือเป็นขยะ
เมื่อแยกขยะเสร็จ ในส่วนของขยะที่เผาได้ ก็จะส่งต่อไปยังเตาเผาตามเขตต่างๆ หรือที่เข้ามาที่ Tokyo Metropolitan Gocernment Waste Landfill Site ก็มีเช่นกนัน ส่วนขยะที่เผาไม่ได้ก็จะถูกลำเลียงมาสู่ที่นี่ โดยจะถูกย่อยและบดให้เล็กเพื่อรอลำเลียงไปยังบ่อฝังกลบ
“ขยะที่เผาไม่ได้ที่มากที่สุด คือ เสื่อทาทามิครับ” คุณลุงเอ่ย และยังบอกอีกว่า ในส่วนของขยะชิ้นใหญ่ ที่ถูกขนมามากเห็นจะเป็นกองที่นอนและผ้าห่มที่ตั้งรอถูกกำจัด โดยในส่วนของที่นอนนั้น ต้องใช้แรงงานคนเพราะไม่สามารถใช้เครื่องจัดการได้เนื่องจากมีสปริงอยู่ข้างใน
แต่แม้จะจัดการยาก แต่ที่นอนขยะทั้งหลาย กลับเป็นแหล่งรายได้ชั้นดีของบ่อขยะแห่งเมืองโตเกียว ที่สามารถแยกเอาเหล็กและอลูมิเนียมออกไปขาย ทำให้มีรายได้สูงถึง 650 ล้านเยนต่อปี!
“ส่วนขยะที่เผาได้น่ะเหรอ.. ถ้าส่งมาที่นี่ เมื่อเราเผาด้วยความร้อนกว่า 1,200 องศาเซลเซียส เมื่อปล่อยให้เย็นลง ก็จะกลายเป็นตะกอนแข็งคล้ายทราย และนำไปอัดจนได้เป็นอิฐปูพื้นที่ใช้ปูในไซต์งานนี่แหละครับ”
เมื่อถามถึงปัญหาไฟไหม้บ่อขยะว่า เคยเกิดขึ้นบ้างไหม ลุงโอโนะบอกพร้อมรอยยิ้มว่า ไม่ใช่ไทยที่เจอปัญหานี้ โตเกียวก็เคยเจอเช่นกัน แต่แก้ปัญหาด้วยการฝังกลบเป็นชั้นๆ สลับกับหน้าดินคล้ายแซนด์วิช โดยถมดินทับขยะเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขยะส่งกลิ่นเหม็น แมลง ฝุ่งละองฟุ้งกระจาย และที่สำคัญคือ ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุไฟไหม้
และพร้อมๆ กันก็ยังมีการฉีดพ่นน้ำเพื่อลดอุณหภูมิไม่ให้ร้อนจนเกินไป ขณะที่ด้านล่างของบ่อขยะก็มีการฝังท่อเจาะรูไว้เพื่อระบายก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดไฟไหม้ โดยก๊าซที่ได้ ยังนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ในพื้นที่ถมทะเลได้อีกด้วย
สำหรับน้ำชะขยะ ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่และสุดคลาสสิคสำหรับบ่อขยะในทุกๆ ประเทศนั้น ไกด์วันเกษียณบอกว่า ที่นี่ให้ความสำคัญกับการจัดการน้ำอย่างมาก โดยทุ่มเงินสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของงบที่ใช้ในTokyo Metropolitan Gocernment Waste Landfill Site ไปกับการจัดการน้ำชะขยะ โดยน้ำส่วนใหญ่ที่ได้ก่อนจะปล่อยสู่ทะเลนั้น ได้ถูกนำมาใช้เป็นน้ำสำหรับฉีดพ่นขยะเพื่อลดอุณหภูมิและแก้ปัญหาฟุ้งกระจาย
แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้สถานที่แห่งนี้ได้ต้อนรับผู้คนมากมายจากหลายประเทศทั่วโลกที่มุ่งมาดูงานที่นี่นั้น นอกเหนือจากเทคโนโลยี หรือเงินทุนที่รัฐทุ่มลงไปกับการจัดการขยะนั้น ลุงโอโนะเฉลยว่า ไม่ต้องมองหาไกลที่ไหน เพราะผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ ผู้เป็นต้นตอของขยะนี่แหละ ที่จะสามารถชี้เป็นชี้ตาย สถานการณ์ขยะได้มากกว่าน้ำมือของรัฐไหนๆ
“เฟสปัจจุบันที่ใช้อยู่กำลังจะเต็มแล้วครับ ส่วนเฟสที่เหลืออยู่เราประเมินไว้ว่า น่าจะรองรับขยะได้อีกประมาณ 30 ปี แต่เมื่อเรารณรงค์ให้มีการแยกขยะอย่างจริงจัง เมื่อประเมินใหม่ พบว่า ในพื้นที่ที่เตรียมไว้ สามารถรองรับขยะของชาวเมืองโตเกียวได้ราวๆ 55-60 ปี” ลุงโอโนะเล่า
เพราะผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ ผู้เป็นต้นตอของขยะนี่แหละที่จะสามารถชี้เป็นชี้ตายสถานการณ์ขยะได้มากกว่าน้ำมือของรัฐเป็นไหนๆ