อลัน เจียง มิชชั่นทูวิชั่นใหม่ ‘เอเซอร์’

อลัน เจียง มิชชั่นทูวิชั่นใหม่ ‘เอเซอร์’

"กลยุทธ์สำคัญที่เราต้องทำคือ การซินเนอร์ยี่เอเซอร์ทั้งหมดในอินโดจีน โดยมีไทยเป็นฐานสำคัญ เพราะเราลองผิด ลองถูกมานานแล้ว"

“ตลาดไอทีทั่วโลกเติบโตช้าลง แต่ถ้ามองในอีกมุมมันก็ยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก เพียงแต่เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิชั่น ซึ่งซีอีโอคนใหม่เรามองว่า เอเซอร์จะไม่ใช่บริษัทที่ขายฮาร์ดแวร์อย่างเดียวอีกต่อไป แต่เอเซอร์กำลังจะก้าวเป็นบริษัทที่มีโซลูชั่นแบบเอ็นด์ทูเอ็นด์ตั้งแต่ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ไปจนถึงเซอร์วิส”


อลัน เจียง กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด เปิดใจ “กรุงเทพธุรกิจ” เป็นครั้งแรกหลังรับภารกิจใหม่ในบริษัทคอมพิวเตอร์ใหญ่จากไต้หวันที่เขาทำงานด้วยมานานกว่า 25 ปี


อลันบอกว่า ทำงานกับเอเซอร์มานาน ได้ลองงานในบทบาทใหม่ๆ ที่ท้าทายมาโดยตลอด ตั้งแต่งานช่าง งานขาย จนถึงงานด้านบริหารในหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และครั้งนี้ก็เช่นกัน ที่อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์กำลังอยู่ในยุคที่ไม่ได้มีแค่เดสก์ทอป หรือโน้ตบุ๊คเพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่มีสินค้าใหม่ๆ เข้ามาในอุตสาหกรรมที่ทำให้บริษัทต้องปรับตัวตลอดเวลา


กว่า 17 ปีสำหรับการร่วมสร้างตลาดเอเซอร์ในไทยที่ปีนี้ถือว่าเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำหรับตัวเขาเองกับบทบาทใหม่คือ ผู้บริหารเบอร์หนึ่งคุมตลาดไทย พ่วงด้วยตลาดอินโดจีนอีก 4 ประเทศตั้งแต่เวียดนาม, พม่า, เขมร และลาว ซึ่งมีขนาดตลาดใหญ่ตามลำดับ


พื้นฐานแน่นไปได้ไกล
อลันบอกว่า งานสำคัญที่ให้น้ำหนักมากที่สุดในปีนี้คือ การสร้างไทยให้เป็นฐานสำคัญของการเติบโตสำหรับเอเซอร์ในกลุ่มตลาดอินโดจีน ซึ่งจะต้องประกอบด้วยการมีทีมที่ดี และทรัพยากรศูนย์กลางพร้อมที่จะนำไปใช้โดยไม่ต้องไปลงทุนซ้ำซ้อนอีกในประเทศอื่นๆ ตั้งแต่ทีมงาน, ระบบ, กระบวนการทำงาน ไลน์ประกอบสินค้า และคลังสินค้า จนถึงคลังอะไหล่สำรองต่างๆ ที่ไทยจะเป็นศูนย์หลักให้อินโดจีน


นอกจากนี้ศักยภาพของตลาดไทยสำหรับเอเซอร์ที่ผ่านมาก็มักจะได้รับเทคโนโลยีใหม่เข้ามาทดลอง หรือเปิดตัวก่อนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้เสมอ ตั้งแต่ยุคของพีดีเอ ทีวี เซิร์ฟเวอร์ สตอเรจ มาจนถึงตลาดโครมบุ๊คในปัจจุบัน ซึ่งเป็นพีซีของโลกยุคคลาวด์ คอมพิวติ้งที่เอเซอร์ก็เลือกที่จะเข้ามาเปิดตลาดในไทยก่อนเป็นแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


อย่างไรก็ตามแม้ไทยจะเป็นตลาดใหญ่ของอินโดจีน และเริ่มกลับมามีบรรยากาศการลงทุนที่ดีขึ้น ก็ยังต้องจับตาเวียดนามที่มีขนาดตลาดใกล้เคียงกับไทย โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมไอที ซึ่งขนาดตลาดพีซีไทยมีอัตราการขายปีละ 2.3 ล้านเครื่อง ขณะที่เวียดนามราว 2 ล้านเครื่องและมีแนวโน้มจะใหญ่กว่าไทย ตลอดจนค่าแรงที่ต่ำกว่าซึ่งเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิต


“กลยุทธ์สำคัญที่เราต้องทำคือ การซินเนอร์ยี่เอเซอร์ทั้งหมดในอินโดจีน โดยมีไทยเป็นฐานสำคัญ เพราะเราลองผิด ลองถูกมานานแล้วสำหรับเอเซอร์ในไทยที่ตั้งมานานกว่า 20 ปี ดังนั้นเราก็สามารถใช้ประสบการณ์ที่เราเคยลองทำในไทย ทรัพยากรที่เรามีที่นี่ไปเริ่มตลาดในอินโดจีนได้เลยโดยไม่ต้องเริ่มใหม่หมด”


รับลูกกลยุทธ์ซีอีโอใหม่
สำหรับงานสำคัญของเอเซอร์ทั่วโลกในปีนี้คือ การปรับภาพลักษณ์ของบริษัทที่ออกจากกรอบของผู้ผลิตฮาร์ดแวร์เพียงอย่างเดียวสู่บริษัทที่มีโซลูชั่นไอทีครบวงจรตั้งแต่ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ไปจนถึงเซอร์วิส


โดยทั้งหมดดำเนินการภายใต้วิชั่นที่ซีอีโอคนใหม่ของเอเซอร์กรุ๊ป “เจสัน เฉิน” ได้ประกาศไว้ในปีที่ผ่านมา 3 กลุ่มหลักคือ การสร้างตลาดใหม่ที่นอกเหนือจากพีซีเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะการผลักดันตลาด “โครมบุ๊ค” ซึ่งเป็นพีซีกลุ่มใหม่ที่เอเซอร์ได้รับการตอบรับดีในตลาดโลกด้วยส่วนแบ่งตลาดถึง 40% ตลอดจนถึงตลาดใหม่ๆ ในมุมอื่นๆ เช่น เกมมิ่ง แมชชีน


“เราต้องมีโซลูชั่น มีไอเดียใหม่ๆ เพื่อสร้างความแตกต่าง หมดยุคของการขายแต่โน้ตบุ๊ค หรือพีซีแบบเดิมอย่างเดียว เพราะถึงแม้ตลาดรวมจะตกลง แต่ก็ยังมีพีซีอีกหลายเซคเมนท์ที่ไม่ลดลงเลย และยังเป็นตลาดที่คนซื้อวิ่งเข้ามาหาเราด้วยซ้ำไป”


ส่วนกลยุทธ์ถัดมาคือ การเข้าสู่ตลาดสมาร์ทโฟน ซึ่งผู้บริหารเอเซอร์ยอมรับว่าแม้จะเป็นตลาดใหม่ที่เป็นเทรนด์ที่บรรดาไอที เวนเดอร์ หรือผู้ผลิตพีซีเดิมต้องเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงเอเซอร์ด้วยที่เข้าสู่ธุรกิจนี้มาราว 3-4 ปีแล้วและก็ยังถือว่าเป็นจุดที่ท้าทายที่ยังต้องหาความแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ


แต่ในมุมหนึ่งคือ การสร้างดีไวซ์ที่จะทำให้ผู้ใช้เอเซอร์ทำงานผ่านอุปกรณ์ของเอเซอร์ได้ราบรื่นมากขึ้น และครบวงจรตั้งแต่เดสก์ท็อป โน้ตบุ๊ค แทบเล็ต สมาร์ทโฟนผ่านการสื่อสารด้วยคลาวด์ คอมพิวติ้ง 
อลันบอกว่า ดีไวซ์ของเอเซอร์จะเชื่อมโยงกับกลยุทธ์สำหรับอีกอย่างที่ซีอีโอมองไว้คือ การหาโอกาสในตลาดโซลูชั่น ที่เริ่มต้นจากการนำเสนอแบบ “บิลท์ ยัวร์ โอน คลาวด์” ซึ่งเป็นคอนเซปต์ที่เอเซอร์เชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มที่ทำให้ก้าวไปสู่ขั้นเปลี่ยนแปลงภาพของบริษัทฮาร์ดแวร์สู่ “โซลูชั่น คอมพานี” ได้อย่างเต็มตัว

“จริงๆ เอเซอร์มีอินฟราสตรักเจอร์ขนาดใหญ่เพื่อซัพพอร์ตงานหลังบ้านที่สร้างมาแล้วมากกว่า 10 ปี ที่ไต้หวันเพื่อรองรับธุรกิจบางกลุ่ม เช่น ธนาคาร เพื่อเป็นศูนย์สำรองข้อมูล และจากจุดนี้แหละที่เราคิดว่าถึงเวลาที่จะทำให้ภาพชัดขึ้น”


จ่อเปิดตลาดอินฟราฯเฉพาะกลุ่ม
โดยมีความเป็นไปได้ที่ในอนาคตอันใกล้จะได้เห็นเอเซอร์เข้าสู่ตลาดผู้ให้บริการระบบโครงสร้างพื้นฐาน หรืออินฟราสตรักเจอร์ขนาดใหญ่สำหรับธุรกิจเฉพาะกลุ่มในไทย หรือเรียกว่า “เมกะ ไมโคร โซลูชั่น” ที่จะต้องเริ่มมองหาพันธมิตรที่จะเข้ามาช่วยให้บริการในตลาดกลุ่มนี้ และหาวิธีสร้างการรับรู้ถึงความพร้อมในการให้บริการของเอเซอร์

หากสิ่งสำคัญสำหรับเอเซอร์คือ การเป็นโซลูชั่น เวนเดอร์ที่ต้องมีจุดต่าง ที่อลันบอกว่า ไม่ใช่แค่เรื่องของการขายเพราะใครก็ขายได้ แต่ต้องมี “ระบบการสนับสนุนเบื้องหลังที่ดีด้วย”

ขณะที่รอเพียงให้บริษัทแม่เริ่มต้นทำตลาดโซลูชั่นอย่างจริงจัง หรือมีเคสที่เอเซอร์เข้าไปทำให้ตลาดเห็นตัวอย่างที่ชัดเจนก็อาจจะนำเข้ามาเปิดตลาดในไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งจะต้องนำเข้าไปเสนอให้ลูกค้าถึงความพร้อมที่มี

สร้างองค์กรแฮปปี้
นอกเหนือจากการโฟกัสกับการสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ สิ่งที่บอสเอเซอร์ให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือ การสร้าง “องค์กรที่พนักงานมีความสุข” ที่อลันยกให้เป็นหัวใจหลักด้วยนโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่น เปิดโอกาสให้พนักงานได้แสดงความคิด และแชร์ไอเดียใหม่ๆ วัดผลเป็นเคพีไอเฉพาะตัวของพนักงานที่เชื่อว่า “เมื่องานสำเร็จ คนทำงานก็แฮปปี้ได้เคพีไอดีตามไปด้วย”

“อาจจะเป็นช่วงอายุการทำงาน 10 ปีสุดท้ายสำหรับตัวผมเอง เพราะตอนนี้ 52 ปีแล้ว ส่วนตัวก็ตั้งใจว่าอยากจะทำงานใหม่ในอินโดจีนประสบความสำเร็จที่สุดตลาดหนึ่งของเอเซอร์ และเป็นซัคเซส สตอรี่ที่น่าจดจำ ซึ่งความท้าทายใหญ่ของผมตอนนี้คือจะทำอย่างไรให้การซินเนอร์ยี่เอเซอร์ในอินโดจีนเป็นอย่างราบรื่นทุกประเทศ”