คสช.พบ'บก.สื่อ' วอนนักข่าวสนามถามสร้างสรรค์
คณะทำงานดูแลสื่อของคสช. พบ บก.สื่อสิ่งพิมพ์ วอนให้ผู้สื่อข่าวภาคสนามตั้งคำถามสร้างสรรค์ อย่ายั่วยุ
ย้ำยังมีประกาศ คสช.ฉบับ 97 และ103 คุมสื่อ ขอ บก.ตรวจสอบข้อมูลก่อนตีพิมพ์
เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 11 มิ.ย. ที่แหล่งสมาคมนายทหารสัญญาบัตร กรมการทหารสื่อสาร พล.ท.สุชาติ ผ่องพุฒิ เจ้ากรมการทหารสื่อสาร ในฐานะเลขานุการคณะทำงานเพื่อติดตามการเผยแพร่ข่าวสารต่อสาธารณะ 5 ด้าน ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วยพล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ได้เชิญสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ มาประชุมเป็นครั้งที่ 2 เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นของสื่อมวลชนและคณะทำงานด้านสื่อสิ่งพิมพ์ และเพื่อรับทราบแนวทางการประชาสัมพันธ์ของคณะทำงานด้านสื่อสิ่งพิมพ์
ทั้งนี้พล.ท.สุชาติ กล่าวว่า การมาพบกันวันนี้ไม่มีนัยยะอะไร เพียงแต่มาพูดคุยขอความร่วมมือ เพื่อให้ประเทศเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างสมบูรณ์แบบ ที่ผ่านมาจากการประชุมร่วมกันครั้งแรกที่ตนเคยขอให้บรรณาธิการเน้นย้ำส่วนที่เกี่ยวข้องสร้างความเข้าใจเรื่องที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคง และการเผยแพร่ค่านิยมหลัก12 ประการนั้น ผลการดำเนินการสื่อสิ่งพิมพ์มีความเรียบร้อยดี ตนเข้าใจจรรยาบรรณของสื่อต่างๆ แต่การเผยแพร่ข่าวสารขอให้อย่าผิดประกาศคสช. ฉบับที่ 97/2557และฉบับที่103/2557 ซึ่งที่ผ่านมาสื่อสิ่งพิมพ์ให้ความร่วมมืออย่างดี แต่ตนมีข้อห่วงใยในเรื่องของผู้สื่อข่าวภาคสนามในเรื่องการตั้งคำถามที่ไม่ว่าจะถามใครก็ตาม หรือแม้กระทั่งคณะรัฐมนตรี ขอให้ตั้งคำถามอย่างสร้างสรรค์ อย่าให้เกิดความเกี่ยวพันธ์ ยั่วยุหรือพาดพิงบุคคลที่ 3 จนนำไปสู่การเกิดปัญหา
“ผมเข้าใจผู้สื่อข่าวภาคสนามว่าพยายามใช้คำถามที่ไม่ให้เกิดความแตกแยกและไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่คนอื่น แต่อยากให้ถามคำถามที่สร้างสรรค์และเดินต่อไปข้างหน้า บางครั้งผู้สื่อข่าวฯสัมภาษณ์บุคคลระดับวีไอพีของรัฐบาลจนเกิดอารมณ์ ทำให้ภาพออกมาไม่ดี ขอให้ผู้สื่อข่าวตั้งคำถามที่เหมาะสม ใช้ดุลยพินิจไม่ให้เกิดความแตกแยกและเกิดปัญหา ผมไม่ได้บอกว่าสื่อบิดเบือน แต่บางทีข้อมูลไม่ได้เป็นเช่นนั้น ขอให้ตรวจสอบความชัดเจนก่อน เมื่อเผยแพร่ไปแล้วเกิดความผิดพลาดก็ต้องมาแก้ไขอีก ทำให้ประชาชนเกิดความระแคะระคาย ขอให้บรรณาธิการตรวจสอบข่าวก่อนตีพิมพ์เผยแพร่” พล.ท.สุชาติ กล่าว
พล.ท.สุชาติ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้เรื่องของโลกโซเชียลมีเดียค่อนข้างแรง ประชาชนใช้เป็นกิจวัตรประจำวัน โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ในฐานะที่ตนดูแล ขอให้สื่อแก้ไขปัญหาโดยการตรวจสอบข้อมูล ในวันนี้ตนรู้สึกไม่สบายใจ เพราะมีการลงข้อมูลที่ไม่ชัดเจนและกระทบต่อความมั่นคงจึงอยากให้ทบทวน รวมถึงการเขียนคอลัมน์ต่างๆต้องทำให้มีคุณค่า สร้างความเข้าใจแก่ประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ด้านบรรณาธิการสื่อสิ่งพิมพ์ และผู้แทนส่วนใหญ่ยืนยันว่าการทำหน้าที่ของสื่อยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก และสื่อมวลชนต่างมีจรรยาบรรณในการนำเสนอข่าว ทั้งนี้ก็มีความยินดีให้ความร่วมมือกับคสช.และรัฐบาลเผยแพร่ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ไม่สร้างความแตกแยกต่อประชาชน รวมถึงหลักค่านิยม 12 ประการด้วย