'ปรีดิยาธร' หารือกทม.นำสายโทรคมลงใต้ดิน
ปรีดิยาธร-กสทช. มีมติร่วมให้ "ทีโอที-กสท" ลงทุนนำสายโทรคมลงดิน พร้อมชงเรื่องเข้าคณะกรรมการบรอดแบนด์แห่งชาติ 29 มิ.ย.นี้
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้หารือร่วมกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ถึงความคืบหน้าโครงการนำสายไฟฟ้าและสายโทรคมนาคมลงดิน ตามแผนขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัล อีโคโนมี อันเป็นผลมาจากการวางโครงข่ายโทรคมนาคม อาทิ สายโทรศัพท์ สาย3จี สาย4จี และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ในเวลานี้ติดขัดปัญหา ไม่สามารถพาดสายได้เพิ่ม เพราะเสาไฟฟ้าไม่สามารถรองรับน้ำหนักเพิ่มเติมได้
ล่าสุดจากการหารือร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย จึงได้มีมติว่า การนำสายต่างๆ ลงดินจะให้ บมจ.ทีโอที และบมจ..กสท โทรคมนาคม เป็นผู้ดำเนินการ โดยรูปแบบการดำเนินการจะเป็นลักษณะที่ให้ ทีโอทีและกสท เป็นผู้ลงทุน จากนั้นจะให้บริษัทเอกชนที่ต้องการพาดสายโทรคมนาคมใต้ดิน จ่ายค่าพาดสายให้ทั้ง ทีโอที และ กสท เบื้องต้นการดำเนินการจะเริ่มจาก กทม.ก่อนขยายไปยังหัวเมืองใหญ่ต่างๆ
ทั้งนี้ ในการหารือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้แจ้งว่า จะเป็นผู้อาสาหาเวลาไปเจรจากับทางกรุงเทพมหานคร เพื่อขอความร่วมมือดังกล่าวด้วยตนเองในฐานะที่เป็นเจ้าของพื้นที่ ทั้งนี้ ในส่วนของกรอบระยะเวลา พื้นการดำเนินการที่แน่ชัด รวมถึงงบการลงทุนที่จะต้องใช้ จะนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการบรอดแบนด์แห่งชาติ ในวันที่ 29 พ.ค.นี้
นายฐากร กล่าวว่า เบื้องต้นคาดใช้งบประมาณในการไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการราว 1 ปีเศษ โดยในส่วนของการพาดสายจะเป็นการวางให้ลึกลงไปจากพื้นดินระยะ 2 เมตร เพื่อความปลอดภัยจากกระแสไฟฟ้า และน้ำท่วมขัง ซึ่งการหารือดังกล่าว กสทช.เคยเรียกผู้ประกอบการเอกชนที่รับใบอนุญาตประเภท 2 และ 3 แบบมีโครงข่ายเป็นของตัวเองรวม 30 รายมาหารือร่วมกัน เนื่องจากเกิดปัญหาข้อร้องเรียนจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือว่า
ขณะนี้ไม่สามารถขยายสายโครงข่าย 3จีและ4จีเพิ่มเติมได้ เพราะเสาของการไฟฟ้านครหลวงปัจจุบันที่รับให้พาดสายไม่สามารถรับน้ำหนักได้เพิ่มอีกต่อไปแล้ว
อย่างไรก็ดี จากปัญหาดังกล่าว จึงได้ส่งรายงานปัญหาที่เกิดขึ้นไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เนื่องจากหวั่นเกรงว่าหากไม่สามารถขยายโครงข่ายเพิ่มเติมได้ จะทำให้การขับเคลื่อนประเทศโดยนโยบายดิจิทัล อีโคโนมีสะดุด เพราะสายที่ต้องการขยายเพิ่ม จะประกอบด้วยสายโครงข่ายโทรคมนาคม 3จี 4จี สายไฟเบอร์ออพติก บริการบรอดแบนด์ สายเคเบิ้ลทีวีดาวเทียม
“ตั้งแต่ที่เราอนุมัติดำเนินการตามมาตรา39 แห่งพ.ร.บ.สิทธิแห่งทาง เอกชนสามารถพาดสายด้วยกันได้ทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันการขยายโครงข่ายโทรคมนาคม จะพาดสายบนเสาของการไฟฟ้า แต่ปัจจุบันเสามีนำ้หนักมากเกินกว่าจะรับได้แล้ว ดังนั้น จึงหารือร่วมกันที่จะนำสายทุกชนิดลงดินให้หมด ซึ่งหากยังแก้ปัญหาไม่ได้ ก็จะไม่สามารถเดินหน้านโยบายดิจิทัล อีโคโนมีต่อได้” นายฐากร กล่าว