ดันไทยต้นแบบดิจิทัลอีโคโนมี
ไอทียู ร่วมรัฐบาลไทย-ออสเตรเลีย เอดีบี ทำทีโออาร์จัดทำผลศึกษาพัฒนาศักยภาพเพื่อก้าวสู่สังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ หวังใช้เป็นต้นแบบให้ประเทศอื่น
นายสาเมียร์ ชาร์มา ที่ปรึกษาอาวุโส สหภาพโทรคมนาคมนานาชาติ (ไอทียู) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ไอทียู ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) รัฐบาลไทย และรัฐบาลออสเตรเลีย ร่วมมือกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ทำโครงการการศึกษาและพัฒนาศักยภาพการก้าวสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัล มีระยะเวลาศึกษาเชิงลึก เริ่มตั้งแต่เดือนก.ค. ถึงไตรมาสแรก ปี 2559
ทั้งนี้ เพื่อศึกษารายละเอียดเชิงลึกในการนำประเทศไทยไปสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบและให้เป็นไปตามนโยบายดิจิทัล อีโคโนมีของรัฐบาลด้วย
รายละเอียดของการศึกษา จะเปิดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน และช่วยสร้างศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ในการเป็นบุคลากรยุคดิจิทัล ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศต้นแบบในการก้าวสู่ดิจิทัล อีโคโนมี ให้ประเทศที่มีปัจจัยแวดล้อมใกล้เคียงกัน
อย่างไรก็ดี เขามองว่าประเทศไทยมีอุปสรรคในการเข้าถึงบรอดแบนด์สูง และมีอัตราการใช้งานที่ต่ำมาก ส่งผลให้เป็นประเทศที่มีจีดีพีระดับกลาง เพราะประชากรส่วนใหญ่อยู่ในชนบท ดังนั้น รัฐบาลต้องผลักดันให้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นอุปกรณ์หลักในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ประกอบกับต้องพัฒนาเรื่องการสร้างโครงข่ายไปพร้อมๆ กัน
นายคริส ซุล ผู้อำนวยการให้คำปรึกษาด้านความถี่ประจำทวีปเอเชีย สมาคมจีเอสเอ็มเอ กล่าวว่า นโยบายดิจิทัล อีโคโนมี ของประเทศไทยจะประสบความสำเร็จได้ ต้องก้าวผ่านอุปสรรคที่สำคัญหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปองค์กรในประเทศไทยต้องมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น แนวคิดการรวมทรัพยากรมาใช้งานร่วมกัน ของบมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ต้องทำให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
เขาต้องการให้ประเทศไทยนำมาตรฐานระดับสากลมาใช้ปฏิรูป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความโปร่งใส การเปิดเผยข้อมูล ตลอดจนการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม และพร้อมนำความคิดเห็นมาแก้ไขและปรับใช้ให้เหมาะสม ที่สำคัญคือรัฐบาลต้องใช้อินเทอร์เน็ตเป็นต้นแบบให้ประชาชนดูก่อน
นายคริส กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่กำลังจะก้าวสู่ดิจิทัล อีโคโนมี แต่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนก็มีนโนบายไม่ต่างกัน ดังนั้น การประชุมนโยบายดิจิทัลเพื่อสังคมและทรัพยากรความรู้ประจำปี 2558 จะร่วมกันพิจารณานโยบายของชาติที่เกี่ยวกับการพัฒนาสังคมดิจิทัลโดยใช้กรอบของผลการวิจัยและนโยบายอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยเริ่มส่งสัญญาณที่ดีที่จะเปิดประมูล 4จี ภายในสิ้นปี ซึ่งไทยควรสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการลงทุน มีคลื่นความถี่ต่อใบอนุญาตที่เหมาะสม จะได้มีผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือหลายรายเข้ามาร่วมลงทุน
นายเจียร์-รง โลว์ ผู้อำนวยการด้านการวางกลยุทธ์และการสร้างสรรค์ องค์กรบริหารทรัพยากรโดเมนโลก กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 48 จาก 65 ประเทศ ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยไปถึงนโยบายดังกล่าวคือให้ประชากรเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้มากที่สุด โดยรัฐบาลต้องสร้างเนื้อหาให้เป็นภาษาไทยเพื่อให้ประชาชนสนใจอ่านและเข้าถึงมากขึ้น