'ประยุทธ์'หารือเลขาฯยูเอ็น คาดประกาศเลือกตั้งกลางปี60
"พล.อ.ประยุทธ์" นายกฯ หารือ "บัน คี มูน" เลขาธิการสหประชาชาติ คาดประกาศเลือกตั้งในกลางปี 2560
เมื่อ วันที่27 กันยายน 2558เวลา 18.20 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีหารือทวิภาคีกับนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ
พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ทั้งสองฝ่ายกล่าวยินดีที่ได้พบหารือกันอีกครั้งหลังจากได้พบกันที่เมืองเซนได ญี่ปุ่น เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณเลขาธิการสหประชาชาติที่เชิญให้มาเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ และรู้สึกยินดีกับการครบรอบการก่อตั้งสหประชาชาติเป็นปีที่ 70 ในปีนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวยืนยันถึงพันธกรณีที่ไทยมีต่อสหประชาชาติ พร้อมสนับสนุนการทำงานของเลขาธิการฯ และแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์อย่างแข็งขันต่อไป ทั้งนี้นายกรัฐมนตรียังเห็นพ้องในคำแถลงในพิธีเปิดการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 58 ของเลขาธิการสหประชาชาติว่า แม้สหประชาชาติจะประสบความสำเร็จในหลายด้าน แต่ยังคงมีความท้าทายใหม่ๆ ที่ต้องการความร่วมมือจากประเทศสมาชิกในการแก้ไขปัญหาวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้มีการรับรองวาระ 2030 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งสะท้อนอยู่ในวาระดังกล่าว ซึ่งการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาสู่การปฏิบัติในอีก 15 ปีข้างหน้าเป็นเรื่องที่ท้าทาย โดยสหประชาชาติสามารถช่วยเหลือประเทศสมาชิกให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ภายใต้บริบทของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะการระดมทุนอย่างสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนา การเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการจัดเก็บสถิติ และการเชิญชวนภาคเอกชนและภาคประชาสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในงานพัฒนา ไทยพร้อมแบ่งปันประสบการณ์ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และแนวปฏิบัติที่ดีในสาขาที่ไทยเชี่ยวชาญ อาทิ การส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืนและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบของประชาคมโลกร่วมกัน ขณะนี้ไทยกำลังจัดทำ INDCs (Intended Nationally Determined Contributions) ในเรื่องของการกำหนดอัตราการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้หารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ จากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะสามารถเสนอร่างให้คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติพิจารณาได้ในไม่ช้านี้ ทันการนำเสนอ UNFCCC ภายในเดือนตุลาคมนี้การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ หลังจากที่มีการรับรองกรอบการดำาเนินงานเซนได ไทยได้จัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยไทยถือเป็นประเทศแรกๆ ที่ได้ขับเคลื่อนกรอบการดำเนินงานฯ สู่แผนปฏิบัติการในระดับประเทศการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 58 ไทยจัดการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงจาก 20 ประเทศ รวมถึงผู้แทนจาก IOM UNHCR และ UNODC เอกอัครราชทูตและอุปทูตที่ประจำการในไทยประมาณ 40 ประเทศเข้าร่วม โดยที่ประชุมเห็นพ้องถึงความจำเป็นเร่งด่วนของสถานการณ์ในปัจจุบันที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนบนพื้นฐานของการแบ่งเบาภาระและความรับผิดชอบร่วมกันเนื่องจากเป็นปัญหาที่สลับซับซ้อน หลายมิติ โดยที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอต่างๆ อาทิ มาตรการเร่งด่วนเพื่อคุ้มครองผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่ตกค้างอยู่กลางทะเล การป้องกันการโยกย้ายถิ่นฐาน แบบไม่ปกติ การลักลอบขนคน และการค้ามนุษย์ และการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่ประเทศต้นทาง
สำหรับสถานการณ์การเมืองไทย นายกรัฐมนตรียืนยันว่า การดำเนินการต่างๆ ตามกรอบระยะเวลา (Roadmap) นั้นเป็นกระบวนการสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมไทย และเพื่อให้ไทยได้ทำหน้าที่สมาชิกสหประชาชาติได้อย่างเต็มศักยภาพยิ่งขึ้น และจากการที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ คสช. จะตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่ง ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ สปช. ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ภายใน 180 วัน และจัดให้มีการลงประชามติ ซึ่งหากประชาชนเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดังกล่าว ก็จะดำเนินการยกร่างกฎหมายลูกประกอบการเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศการเลือกตั้งทั่วไปได้ภายในกลางปี 2560
การสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกไม่ถาวร UNSC วาระปี ค.ศ. 2017-2018 ของไทย โดยไทยเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรของ UNSC มาแล้วสมัยหนึ่ง เมื่อปี ค.ศ. 1985-1986 ในการสมัครครั้งนี้ ไทยได้รับการรับรองและสนับสนุนจากทุกประเทศสมาชิกอาเซียน โดยการรณรงค์ของไทยมีพื้นฐานจากการทำงานที่ดีในงานทั้ง 3 ด้านของสหประชาชาติ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในประเด็นสันติภาพและความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง ไทยสามารถทำหน้าที่เสมือนเป็นสะพานเชื่อม และสนับสนุนการทำงานร่วมกันมากขึ้นระหว่างประเทศสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงฯ และประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก