คมนาคมสั่ง ขสมก.ปรับแผนจัดหารถ

คมนาคมสั่ง ขสมก.ปรับแผนจัดหารถ

"ออมสิน" รมช.คมนาคมสั่ง ขสมก.ปรับแผนจัดหารถ เตรียมชงครม.ซื้อรถเมล์ไฟฟ้า-พร้อมสั่งซ่อมรถเก่า

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เดินทางมามอบนโยบายให้คณะกรรมการและผู้บริหารองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. โดยระบุว่า การจัดซื้อรถเมล์ใหม่ จำนวน 3,183 คัน และรถโดยสารชุดแรกที่จะดำเนินการจัดหามาคือ รถโดยสารเอ็นจีวี จำนวน 489 คัน ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ กวพ.อ. ในเรื่องที่มีการร้องเรียนว่ากระบวนการจัดซื้อมีความไม่โปร่งใส ทั้งนี้ หากทาง กวพ.อ. พิจารณาแล้วว่าไม่มีขั้นตอนใดที่ไม่ถูกต้องก็จะเร่งให้ลงนามและจัดหารถมาภายใน 50 วัน แต่หากหากการพิจารณาชี้แจงว่ามีการทุจริตก็จะเร่งกระบวนการจัดหาใหม่ภายใน 2 เดือน และทาง ขสมก. ก็เตรียมเสนอการจัดซื้อรถโดยสารไฟฟ้าอีกประมาณ 200 คัน เพื่อมาทดลองใช้ ซึ่งคาดว่าจะเสนอผลการศึกษาให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาได้ภายในเดือนตุลาคม เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

โดยคาดว่าจะสามารถประกวดราคาได้ภายในปีนี้ แต่เนื่องจาก รถโดยสารไฟฟ้ามีราคาที่สูงกว่ารถโดยสารเอ็นจีวี ดังนั้นรถโดยสารใหม่ที่จะจัดซื้ออาจไม่ถึง 3,183 คันตามเป้าหมายเดิม แต่จะใช้วิธีการนำรถเก่าจำนวน 672 คันมาปรับปรุงให้สามารถใช้งานได้ โดยจะใช้งบประมาณในการซ่อมแซมคันละประมาณ 1 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม จากที่กระทรวงคมนาคมศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับรถโดยสารไฟฟ้า พบว่า หากนำเข้ารถทั้งคันมีต้นทุนจัดซื้อคันละ 15 ล้านบาท แต่หากให้เอกชนผลิตรถในประเทศมีต้นทุนจัดซื้อคันละ 10 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการใช้เชื้อเพลิงและค่าบำรุงรักษาระยะยาว มีความเป็นไปได้ที่จะจัดซื้อรถโดยสารไฟฟ้าจากเอกชน

ส่วนการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูของ ขสมก. ในการแก้ไขหนี้สินที่คาดว่าสินปีนี้จะอยู่ประมาณ 9 หมื่น 6 พันล้านบาท ขณะนี้ทาง ขสมก. ได้ดำเนินการร่วมกับกรมการขนส่งทางบกในการปรับลดเส้นทางเดินรถให้เหลือ 172 เส้นทาง แบ่งเป็นเส้นทางเดินรถของรถร่วมบริการ 85 เส้นทาง และเส้นทางเดินรถของ ขสมก. 87 เส้นทาง และเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการโยกย้ายรถร่วมบริการไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2559 เพื่อเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาช่วยเหลือว่าจะรับหนี้ให้ทั้งหมดหรือพักชำระหนี้ ซึ่งหากกระทรวงการคลังรับเรื่องก็จะทำให้ภาระรายจ่ายค่าดอกเบี้ยที่ ขสมก. ต้องจ่ายเดือนละ 250 ล้านบาทจะหมดไป และจะทำให้ ขสมก. มีกำไรภายใน 6 ปี