'I Am Art' เสื้อยืดลายปัก ถักทอฝันธุรกิจผู้พิการ
I Am Art คือธุรกิจของคนพิการ ที่หลีกหนีทุกข้อจำกัดทางร่างกาย มาสร้างกิจการคูลๆ มอบชีวิตใหม่ให้ผู้พิการ
“ศุภวรรณ เฉยศิริ” ผู้ก่อตั้งเสื้อยืดลายปักทำมือ แบรนด์ I Am Art บอกกับเรา แทนคำตอบในท่วงท่าเดินที่อาจดูผิดไปจากคนปกติอยู่บ้าง แต่การได้รับการดูแลมาอย่างดีตั้งแต่เด็ก เธอเลยเติบโตมาไม่ต่างจากเด็กทั่วไป มีโอกาสได้รับการศึกษา โดยจบจากคณะคหกรรมศาสตร์ สาขาวิชาผ้าและเครื่องแต่งกาย ที่เทคนิคกรุงเทพ (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ในปัจจุบัน) จากนั้นก็ไปเรียนต่อด้านการออกแบบและการตัดเย็บชั้นสูงเพิ่มเติม ก่อนเข้าทำงานในแผนกดีไซน์ของบริษัทการ์เมนท์ ที่ผลิตให้กับญี่ปุ่นและห้างเซ็นทรัล อยู่นานถึง 23 ปี
ทว่าวันหนึ่งก็มาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อเธอตัดสินใจว่า จะหันหลังให้อาชีพลูกจ้าง แล้วออกมาเป็น “ผู้ประกอบการ”
“ระหว่างทำงานอยู่มีโอกาสไปเป็นอาสาสมัครช่วยงานคนพิการช่วงวันหยุด ได้เจอกับน้องๆ ผู้พิการที่เขารวมกลุ่มกันทำกิจกรรม วันหนึ่งเกิดความรู้สึกว่า เราทำงานได้เงินเดือนก็จริง แต่ความรู้ที่มีไม่เคยได้ถ่ายทอดไปถึงคนอื่นเลย ขณะที่น้องๆ ผู้พิการ บางคนเขามีใจอยากทำงานนะ แต่ไม่มีโอกาส และไม่เคยได้รับโอกาสนั้น เลยสะกิดใจขึ้นมาในตอนนั้น”
เธอจึงเริ่มเอาวิชาความรู้ด้านการออกแบบที่ถนัด ถ่ายทอดไปยังน้องๆ ไปสอนให้ทำผลิตภัณฑ์อย่างง่ายๆ เช่น กระเป๋าผ้าลดโลกร้อนที่แต่งเติมลวดลายปักลงไปให้เก๋ๆ เสร็จแล้วก็ไปจำหน่ายดู ผลปรากฏว่า ผลงานของน้องๆ “ขายได้”
“พี่เอาเงินที่ขายได้ไปให้เขา เห็นเขาน้ำตาไหล พูดแต่ว่า ตั้งแต่เกิดมา ไม่เคยมีใครมาสอนทำอะไรแบบนี้เลย นี่เป็นครั้งแรกที่ได้ค่าตอบแทนจากการทำงาน ภาพนั้นกินใจพี่มาก จนทำให้รู้สึกว่า เราคงต้องลุกมาทำอะไรสักอย่างแล้ว”
เป้าหมายใหม่ไม่ได้มีคำตอบอยู่ที่อาชีพลูกจ้าง แต่เธอหวังว่าจะทำงานที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ไม่เป็นภาระของครอบครัว ขณะเดียวกันก็ต้องช่วยสร้างโอกาสให้น้องๆ ผู้พิการด้วย คำตอบที่ว่าคือการออกมาทำธุรกิจของตัวเอง แล้วจ้างงานน้องๆ ผู้พิการ
จุดเปลี่ยนชีวิตไม่ได้เกิดขึ้นอย่างบุ่มบ่าม ศุภวรรณ เตรียมตัวอยู่ 5 ปี เริ่มจากเก็บเงินเพื่อมาเป็นทุนตั้งต้นกิจการ เวลาเดียวกันก็มองหาธุรกิจที่น่าสนใจไปด้วย จนวันหนึ่งคนสนิทป่วยเข้าโรงพยาบาล ต้องรับการรักษาอยู่หลายเดือน
ระหว่างเฝ้าไข้ เธอลองนำเสื้อยืดมาปักลวดลายแก้เหงา แรกๆ ก็กะแค่ทำเป็นงานอดิเรก แต่ปรากฏว่า ทั้ง พยาบาล ญาติคนไข้ ตลอดจนผู้ป่วย ให้ความสนใจเยอะมาก เพราะลวดลายน่ารักน่าชัง แถมยังสามารถปักชื่อเพิ่มความพิเศษได้อีกด้วย ผู้คนเลยเข้าคิวมาขอซื้อ ยอดออเดอร์สูงถึงกว่าร้อยตัว..โอกาสธุรกิจที่ฝันไว้ได้เกิดขึ้นแล้ว
นั่นคือที่มาของ I Am Art เสื้อยืดลายปักทำมือ ดีไซน์น่ารักน่าชัง ที่มีแรงงานเป็นผู้พิการทั้งหมด โดยเธอเริ่มจากเข้าไปสอนทำผ้าปักทำมือให้แก่ผู้พิการ จากนั้นก็ไปติดตามถามดูว่า ใครสนใจอยากรับเสื้อไปทำบ้าง โดยที่วัตถุดิบทั้งหมดเธอจะจัดหาให้ แถมยังไปส่งให้ทำถึงบ้านด้วย โดยคนทำจะได้รับค่าจ้างที่ตัวละ 50 บาท
“ส่วนใครจะไม่รับจากเรา แต่จะเอาไปทำขายเองที่บ้านก็ได้นะ ไม่หวงเลย ยังบอกเขาอีกว่า ไม่ใช่คุณจะปักได้เฉพาะเสื้อยืด แต่อาจเป็นกางเกงยีนส์ เป็นกระเป๋า หรืออย่างอื่นก็ได้ และถ้าทำดีๆ จะเอาแบรนด์ของเราไปใช้ยังได้เลย เพราะเป้าหมายคือ อยากให้เขามีรายได้ สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้”
เธอบอกเป้าหมายที่เริ่มจากให้วิชาความรู้ เพื่อที่ผู้พิการจะได้ไปขยายผล ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานอยู่ที่ประมาณ 7-8 คน ผลิตสินค้าได้กว่าร้อยตัวเดือน ราคาขายที่ตัวละ 250-300 บาท โดยช่องทางขายหลักยังเป็นการออกงานทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด
“เดือนหนึ่งเราออกงานประมาณ 10-15 วัน ที่เหลือก็มาผลิต แล้วจ่ายงานให้กับผู้พิการ” เธอบอกกระบวนการทำงาน
ศุภวรรณ เข้าร่วมโครงการ การพัฒนาธุรกิจคนพิการ ภายใต้โครงการต่อยอดผู้ประกอบการใหม่ และการจัดตั้งหน่วยงานจัดจำหน่ายและกระจายสินค้าคนพิการ ที่สนับสนุนโดย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สพว.) สถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ(สสพ.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เธอเอาความรู้มาพัฒนาแบรนด์ พัฒนาการตลาด เพื่อพร้อมสำหรับการเป็นผู้ประกอบการใหม่
แม้แรงงานผู้พิการ จะยังมีข้อจำกัดในการทำงาน แต่เธอยืนยันว่าจะจ้างงานคนพิการเท่านั้น และย้ำว่า แม้เป็นธุรกิจคนพิการ แต่ผลิตภัณฑ์ I Am Art ก็ขายคุณภาพ ไม่ใช่ความพิการ
“เราขายคุณภาพ ไมได้ขายความพิการ ฉะนั้นถ้าใครบอกว่า ช่วยซื้อคนพิการหน่อย พี่จะบอกเลยว่า ไม่เอานะ เพราะเราไม่ได้ขายความพิการ แต่อยากให้เขาซื้อเพราะของเราดีจริงๆ ”
ถามว่าฝันอยากเห็นธุรกิจเติบโตไปขนาดไหน คนทำบอกเราว่า ไม่ต้องการเติบโตแบบพลุแตก ขอแค่ยังมีรายได้พออยู่ได้ สามารถแบ่งปันไปให้ผู้พิการ โดยอยากให้ธุรกิจเป็นเหมือนต้นไม้ที่ค่อยๆ เติบโตขึ้นด้วยรากที่แข็งแรง และแม้วันที่เธอไม่อยู่แล้ว แต่ยังมีคนหยิบงานนี้ไปทำต่อ เพื่อสานฝันธุรกิจเพื่อผู้พิการตลอดไป
ประเทศไทยมีคนพิการมากกว่า 1.5 ล้านคน ในจำนวนนี้มีเพียงไม่กี่คนที่ผลักดันตัวเองจนกลายมาเป็น นักธุรกิจคนพิการได้ เพราะเส้นทางนี้ไม่ง่าย และยังมีอีกหลายข้อจำกัด เหมือนที่ “ธนนนทน์ พรายจันทร์” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาพื้นฐานธุรกิจ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม บอกเราว่า ปัญหาของนักธุรกิจคนพิการมีตั้งแต่ ผู้พิการไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ขณะสินค้าคนพิการที่ผลิตออกมาก็ยังมีตลาดที่แคบ ไม่สามารถกระจายออกไปได้ในวงกว้าง อีกปัญหาสำคัญก็เรื่องการใช้เงิน อย่างพอเริ่มมีเงินก็เริ่มใช้จ่ายเกินตัว พอรายได้ไม่เพียงพอ เลยเขวจากเถ้าแก่ไปทำงานเป็นลูกจ้าง กลับเข้าสู่วังวนเดิมๆ
สำหรับทางแก้ในฐานะผู้พัฒนา เขาบอกว่า ต้องให้ผู้พิการออกมาทำกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายมากขึ้น ได้พูดคุยแลกเปลี่ยน เติมเต็มความมั่นใจซึ่งกันและกัน ขณะที่ต้องสอนเรื่องระบบบัญชีและการมีวินัยทางการเงินให้แก่ผู้พิการด้วย ส่วนปัญหาด้านการตลาด จากให้คนพิการไปหาตลาดเอง ก็เปลี่ยนมาจับคู่กับภาคเอกชน ให้ตลาดมาพบธุรกิจคนพิการ เพื่อบอกความต้องการ แล้วให้ผู้พิการได้ไปปรับปรุงพัฒนาสินค้าของตัวเองมาตอบสนอง
“แม้เป็นธุรกิจคนพิการ แต่สินค้าต้องมีคุณภาพและตรงตามความต้องการของตลาด ที่สำคัญต้องมีความเป็นมืออาชีพด้วย ไม่ว่าจะเรื่องการเจรจาต่อรอง การนำเสนอสินค้า กระทั่งการคิดออกแบบต่างๆ ที่ไม่ต่างจากนักธุรกิจทั่วไป นี่คือโจทย์ของนักธุรกิจคนพิการ”
เขาบอกโจทย์สำคัญที่จะผลักดันให้นักธุรกิจผู้พิการประสบความสำเร็จได้ ด้วยหัวใจที่แข็งแกร่งของพวกเขา