อาลัย ฟิล วูดส์ นักอัลโตแซ็กผู้จากไป
ผมไม่คิดว่าผมซาวด์เหมือนชาร์ลี พาร์คเกอร์ หรอกนะ มันยากเกินไป ผมมันแค่ภาพสะท้อนจางๆ ของดวงอาทิตย์ แม้กระทั่งดวงจันทร์ยังเปล่งแสงสวยงามได้เลย
ฉากและบรรยากาศของนิวยอร์กซิตี้ ที่ปรากฏเบื้องหน้า ฟิล วูดส์ (Phil Woods) ในช่วงต้นทศวรรษ 1950s ช่างเต็มไปด้วยความน่าตื่นเต้นเร้าใจ โลกดนตรีอันกว้างใหญ่ไพศาลกำลังเคลื่อนไหวอย่างไม่หยุดนิ่ง และเปี่ยมด้วยความหวัง ไม่เพียงสำเนียงดนตรีแจ๊สแบบบีบ็อพ ที่สร้างสรรค์ขึ้นโดย เบิร์ด ชาร์ลี พาร์คเกอร์ (Charlie Parker) และ ดิซซี กิลเลสปี (Dizzy Gillespie) ที่เริ่มเฟื่องฟูขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เท่านั้น แต่ทุกมิติเต็มไปด้วยบรรยากาศของความคิดสร้างสรรค์จริงๆ
“มันไม่ใช่แค่ เบิร์ด, ดิซซี และ (ธีโลเนียส) มังค์ แต่มันเป็นยุคที่ทุกอย่างรายรอบตัวเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะนิวยอร์กซิตี ผมจำได้ว่าได้ยินวงจูลลิอาร์ด สตริง ควอร์เทท กำลังซ้อมเพลงของ (เบลา) บาร์ทอค ผมอยู่ตรงนั้นพอดี ผมไปฟังการบรรยายของจอห์น เคจ และได้บัตรผ่านในฐานะนักศึกษาไปฟังรอบซ้อมคอนเสิร์ตเพลง A Rake’s Progress ของ (อิกอร์) สตราวินสกี ตอนนั้น เทนเนสซี วิลเลียมส์ และ เอ็ดเวิร์ด อัลบี กำลังเขียนบทละคร และ (เลียวนาร์ด) เบิร์นสไตน์ กำลังเขียนเพลง West Side Story ผู้คนมักปักป้ายความเป็นศิลปินบีบ็อพให้ผม แต่ที่จูลลิอาร์ดตอนนั้น ผมกำลังหัดเล่นแจ๊สในแบบ ‘ทเวลฟ์ โทน’ กับ (โปรดิวเซอร์ค่ายเพลงโคลัมเบีย) ทีโอ มาเซโร ซึ่งเป็นนักศึกษาในเวลานั้นพอดี ผมพร้อมจะไปในทิศทางไหนก็ได้ในเวลานั้น”
นักอัลโตแซ็กโซโฟน ฟิล วูดส์ ทวนความทรงจำกับทีมงานของเว็บไซต์ All About Jazz ถึงการเดินทางจากเมืองสปริงฟิลด์ รัฐแมสซาชูเส็ทท์ มายังนิวยอร์กซิตี เพื่อเรียนดนตรีที่สถาบันดนตรีที่มีชื่อเสียงระดับโลก อย่าง ‘จูลลิอาร์ด สกูล ออฟ มิวสิค’ ซึ่งในเวลานั้น จูลลิอาร์ด ยังไม่เปิดสอนวิชาเอกแซ็กโซโฟน เขาจึงเข้าเรียนวิชาเอกคลาริเน็ท ด้วยเหตุผลเรียบง่ายว่า อย่างน้อยๆ ทางบ้านคงไม่ว่าอะไร หากเขาจะเรียนดนตรีคลาสสิกที่นั่น ทั้งที่เป้าหมายของเขา คือ ดนตรีแจ๊ส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแจมดนตรี กับสีสันไนท์คลับยามราตรี และเหนืออื่นใด คือ เบิร์ด ชาร์ลี พาร์คเกอร์ !
เป็นเพราะเล่นเครื่องอัลโตแซ็กเหมือนกัน ฟิล วูดส์ เลยได้รับฉายานามว่าเป็น ‘นิว เบิร์ด’ ทั้งที่เขาไม่ถึงขั้นก็อปปีการเล่นของ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ เสียทีเดียว โดยที่ผ่านมา ฟิล ร่ำเรียนดนตรีมากับนักเปียโนนัยน์ตาพิการ และเป็นเจ้าสำนักตักศิลาทางวิชาการดนตรีคนสำคัญ อย่าง เลนนี ทริสตาโน ที่มีแนวทางการเลือกใช้โน้ตในการอิมโพรไวเซชั่นด้วยโครเมติกสเกล ดังนั้น จึงมีสำเนียงคล้ายคลึงกับซาวด์ของบีบ็อพตามยุคสมัยนั้น บ่อยครั้งเมื่อถูกเปรียบเทียบกับ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ เจ้าตัวเลือกจะตอบอย่างถ่อมตนว่า
“ผมไม่คิดว่าผมซาวด์เหมือน ชาร์ลี พาร์คเกอร์ หรอกนะ มันยากเกินไป” ครั้งหนึ่งเขาให้สัมภาษณ์กับ นสพ. ‘ซาน ดิเอโก ยูเนียน ทรีบูน’ “เพื่อนเอ๋ย ผมมันแค่ภาพสะท้อนจางๆ ของดวงอาทิตย์เท่านั้นแหละ แม้กระทั่งดวงจันทร์ยังเปล่งแสงสวยงามได้เลย”
จะด้วยเหตุบังเอิญหรือไม่ก็ตาม หลังการเสียชีวิตของ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ในปี ค.ศ. 1955 ฟิล แต่งงานกับ ชาน ภริยาม่ายของเบิร์ด ในอีก 2 ปีถัดมา ทั้งคู่มีโอกาสใช้ชีวิตร่วมกันในยุโรป ก่อนจะลงเอยด้วยการหย่าร้างในที่สุด หลายปีผ่านไป จนกระทั่ง ฟิล มาพบรักใหม่และแต่งงานอีกครั้ง กับ จิลล์ กูดวิน พี่สาวของ บิลล์ กูดวิน มือกลองในวงดนตรีของเขานั่นเอง
ฟิล วูดส์ ไม่เพียงเป็นนักอัลโตแซ็กที่มีฝีมือฉกาจฉกรรจ์ แต่เขายังเป็นนักประพันธ์ดนตรี และผู้นำวงที่โดดเด่น ธรรมเนียมประการหนึ่งในวงการแจ๊ส คือการหมุนเวียนสลับเปลี่ยนนักดนตรีสมาชิกวงอยู่เสมอๆ แต่ ฟิล กลับเลือกใช้ มือเบส อย่าง สตีฟ กิลมอร์ และมือกลอง บิลล์ กูดวิน ที่ทำงานร่วมกันมา 30 ปี นับจากต้นทศวรรษ 1970s เป็นต้นมา เช่นเดียวกันกับนักดนตรีคนอื่น อาทิ บิลล์ ชาร์แลป มือเปียโน (10 ปี) ทอม ฮาร์เรลล์ มือทรัมเป็ต (6 ปี) เป็นต้น
“ผมคิดว่าน่าจะมาจากทัศนคติของผม ที่ว่า ‘ถ้าอะไรไม่เสีย ก็อย่าไปซ่อม’ สำหรับพวกเรา การเล่นดนตรีด้วยกันก็แค่ความรู้สึกที่ใช่ พวกเราเป็นเพื่อนรักกัน และเราไปด้วยกันได้ดี และเหนืออื่นใด พวกเขาเล่นเก่งมาก!”
“ผมเติบโตมากับสิ่งที่ดีที่สุด หัวหน้าวงแรกของผมคือ ชาร์ลี บาร์เน็ท และผมก็ทำงานกับดิซซี กิลเลสปี ซึ่งเป็นคนที่ยอดเยี่ยมมาก และเบนนี กูดแมน ที่สุดยอดเช่นกัน ดังนั้น ผมจึงเรียนรู้สิ่งที่พึงทำ และสิ่งที่ไม่พึงทำ เมื่อตอนเริ่มต้นวงดนตรีของผมเอง ผมรู้ถึงหลุมพรางทั้งหลาย เรียนรู้ที่จะถามคำถามที่เหมาะควรในช่วงเวลาที่เหมาะสม ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุดหรอกนะ”
ในปี ค.ศ.1956 ควินซี โจนส์ เห็นศักยภาพของ ฟิล วูดส์ จึงชวนออกทัวร์ทั่วโลกกับวงบิ๊กแบนด์ของ ดิซซี กิลเลสปี ในโครงการที่สนับสนุนโดยรัฐบาลอเมริกัน ตามด้วยการทัวร์ยุโรปกับวงของควินซี โจนส์ เอง ในปี ค.ศ.1959 จากนั้น ในปี ค.ศ.1962 ฟิล ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในวงของ เบนนี กูดแมน ที่มีโอกาสเปิดการแสดงในสหภาพโซเวียต
แม้จะมีการฟอร์มวงและเล่นแจ๊สในช่วงทศวรรษ 1970s แต่ชื่อเสียงของ ฟิล วูดส์ ยังเป็นที่รู้จักในแวดวงดนตรีป๊อป ดังปรากฏสำเนียงแซ็กของเขาในเพลง Just The Way You Are ของ บิลลี โจเอล หรือจะเป็น Have A Good Time ของ พอล ไซมอน ที่เขาบรรเลงแซ็กในไลน์บีบ็อพอย่างสุดแรงเหวี่ยงในช่วงโคดาของบทเพลง ซึ่งเป็นเสียงแซ็กโซโฟนที่ทำให้ผู้ฟังวงกว้างจดจำเขาได้
ฟิล วูด ได้รับการยกย่องอย่างสูงจากประชาคมแจ๊ส เขาติดโพลล์ต้นๆ จากการสำรวจของนิตยสาร ดาวน์บีท สื่อดนตรีแจ๊สที่มีอิทธิพลทั่วโลก นอกจากนี้ ยังได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลแกรมมี่ 7 ครั้ง โดยได้รับรางวัล 4 ครั้ง จากอัลบั้ม Images (1975) ; Live from the Show Boat (1977) ; More Live (1982) และ At the Vanguard (1983)
เช่นเดียวกันนักดนตรีแจ๊สทุกคน ฟิล วูดส์ เล่นดนตรีจนใกล้วาระสุดท้ายของชีวิต คอนเสิร์ตหลังสุดของเขามีขึ้นเมื่อต้นเดือนกันยายน ซึ่งมีข่าวว่า เขาต้องใช้ถังอ็อกซิเจนเพื่อช่วยประคับประคองการแสดง โดยที่เจ้าตัวยังเรียกติดตลกว่า ถังอ็อกซิเจน ก็คือ ‘แอมปลิฟายด์’ ดีๆ ของเขานั่นเอง ในที่สุด ฟิล วูดส์ เสียชีวิตลงเมื่อวันอังคารที่ 29 กันยายน ที่ผ่านมา จากอาการโรคปอดเรื้อรัง ด้วยวัย 83 ปี
ควินซี โจนส์ กล่าวถึงการจากไปของ ฟิล วูดส์ ว่า มีความผูกพันกันมานาน โดยพิจารณาได้จากผลงานอัลบั้มของควินซีเกือบทุกชุด นับจากปี ค.ศ.1956 เป็นต้นมา เขาเลือกใช้ ฟิล วูดส์ เป็นมืออัลโตแซ็กเสมอมา ในฐานะนักอัลโตแซ็กโซโฟนที่ดีที่สุดคนหนึ่งของโลก.