'อุตตม'ขอคลื่น2300ทีโอที คนร.แนะเลิกแข่งเอกชน

'อุตตม'ขอคลื่น2300ทีโอที คนร.แนะเลิกแข่งเอกชน

"อุตตม" เจรจากสทช. ขอคลื่น 2300 ให้ทีโอทีทำธุรกิจ ด้านคนร.สั่งทีโอทีถอย หลังให้บริการ3จีบนคลื่น 2.1 แข่งเอกชนไม่ได้มีลูกค้า 7 หมื่นราย

วานนี้ (16 ต.ค.) นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้เดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) เพื่อหารือกับคณะกรรมการกสทช.เพื่อขอคลื่นความถี่ย่าน 2300 เมกะเฮิรตซ์ ให้บมจ.ทีโอที ดำเนินธุรกิจต่อ 

ภายหลังการหารือ นายอุตตม ระบุว่า ทีโอที อยู่ระหว่างการทำแผนเพื่อปรับปรุงองค์กรไปสู่ความยั่งยืน โดยเพื่อใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การหารือวานนี้จึงพูดถึงคลื่นความถี่ย่าน 2300 เมกะเฮิรตซ์ โดยทีโอทีต้องการอัพเกรดการใช้คลื่นความถี่ไปให้บริการบรอดแบนด์ 

ทั้งนี้ บริษัททีโอทีซึ่งถือครองคลื่นอยู่ยังสามารถนำคลื่นไปใช้งานได้ถึงปี 2568 ซึ่ง กสทช. ได้ให้ความมั่นใจเพื่อให้บริษัททีโอทีสามารถดำเนินการได้

“เรื่องการใช้คลื่นความถี่ 2300 มาใช้ประโยชน์บริษัททีโอที จึงมาเพื่อพูดคุยให้เป็นไปได้ว่าเรียบร้อย” นายอุตตมกล่าว

กสทช.ที่ปรึกษาช่วยทีโอที

พ.อ.เศรษฐพงษ์ มะลิสุวรรณ รองประธานกสทช. กล่าวว่า กระทรวงไอซีที มีนโยบายให้บริษัททีโอที นำคลื่นความถี่ย่าน 2300 เมกะเฮิรตซ์ มาปรับปรุงเพื่อให้บริการ เบื้องต้น กสทช.ได้พิจารณาข้อกฎหมายแล้ว เห็นว่าไม่มีปัญหา กสทช.จึงจะเป็นที่ปรึกษาช่วยทีโอที โดยจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.)พิจารณาสัปดาห์หน้า เพื่อพิจารณารายละเอียดต่อไป

นายบรรยง พงษ์พานิช คณะกรรมการนโยบายกำกับดูแล (คนร.) กล่าวถึงบทบาทของรัฐวิสาหกิจที่จะปรับตัวให้สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล อย่าง บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ว่ารัฐวิสาหกิจไม่ใช่หลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล แต่รัฐวิสาหกิจจะต้องทำอย่างไรให้องค์กรอยู่รอดได้ 

ทั้งนี้ ทีโอที กับ กสท. มีอยู่ 2-3 ประเด็น คือ 1.ทำอย่างไรให้องค์กรประสบความสำเร็จ ยั่งยืนและเห็นผลในระยะยาว 2. ทำอย่างไรให้ทรัพย์สินของทั้ง 2 องค์กร สามารถนำมาให้ประโยชน์และเป็นรากฐานโครงสร้างอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

คนร.แนะทีโอทีให้บริการโครงข่าย

ในประเด็นนี้เข้าใจว่าสินทรัพย์ทั้งหมดของทีโอทีและ กสท มีปัญหาข้อพิพาทกับเอกชนที่เคยได้รับสัมปทาน เกี่ยวกับการโอนทรัพย์สินทั้งหมด ในอนาคตจะให้โอนไปอยู่ภายใต้การบริหารบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ หรือซูเปอร์โฮลดิ้ง เพื่อให้บริการธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรักเจอร์) โดยทีโอทีมีคลื่น 2.1 กิกะเฮิรตซ์ให้บริการ 3จี มีการลงทุนมาก่อนเอกชน แต่ทีโอที ก็มีลูกค้าแค่ 70,000 ราย สะท้อนให้เห็นทีโอทีต้องถอยออกไป และไม่ควรมาแข่งขันกับเอกชน

ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจากทีโอที ระบุว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการ (บอร์ด) ทีโอทีชุดที่มี พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์เป็นประธานนั้น การบริหารที่ผ่านมา นโยบายของบอร์ดเดินมาผิดทางตั้งแต่เริ่มต้นการเข้ามาบริหารงาน 

แหล่งข่าว กล่าวให้เหตุผลความผิดพลาดว่า เนื่องจากบอร์ดได้ยุบโครงสร้างสายงานโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยการยุบโครงสร้างดังกล่าวเนื่องจากเกิดการขาดทุนเมื่อได้ลงทุน 3จีดังกล่าวไปด้วยงบประมาณถึง 20,000 ล้านบาท เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นและไม่แก้ปัญหาที่เกิด ดังนั้น จะสะท้อนให้ ผู้ที่ออกนโยบายเห็นว่า องค์กรทีโอทีจะสอดคล้องกับความต้องการที่จะให้ทีโอที เป็นผู้ให้บริการอินฟราสตรักเจอร์อย่างเดียว

"อยากให้ช่วยเสนอผู้บริหารประเทศรัฐบาล รัฐมนตรีเจ้ากระทรวง คนร. บังคับหรือล้างไพ่ ข้อพิพาททั้งหมดของทีโอที ด้วยมาตรา 44 ทั้งหมดของคู่สัญญา ไม่ว่าจะเป็น ทีโอที กับบมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอไอเอส) แล้วมาจัดระเบียบใหม่ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ ทีโอที ยินดีที่จะโอนถ่ายเสาโทรคมนาคม ทั้งหมดเพื่อให้บริการอินฟราสตรักเจอร์” แหล่งข่าว กล่าว

กสทตั้งทีมเจรจาทรู-ยุติพิพาทดีแทค

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท โทรคมนาคม กล่าวถึงความคืบหน้าในการเจรจายุติข้อพิพาทเรื่องเสาโทรคมนาคมประมาณ 10,000 ต้น ระหว่าง กสท โทรคมนาคม และกลุ่มทรูว่า ขณะนี้เพิ่งตั้งทีมเจรจาจากตัวแทนของทั้ง 2 บริษัท เพื่อเจรจากันทุกๆ สัปดาห์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปี 2558

ส่วนเรื่องการเจรจายุติข้อพิพาทกับบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ซึ่งได้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่อยู่ในข้อพิพาท ทั้งเรื่องเสาโทรคมนาคม และสายไฟเบอร์ออพติกเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทั้ง 2 บริษัทจะนำทรัพย์สินมาทำธุรกิจในรูปแบบของการร่วมลงทุน (จอยซ์ เวนเจอร์) โดย กสท โทรคมนาคม จะถือหุ้น 49% และดีแทค ถือหุ้น 51% ด้วยการตั้ง 2 บริษัทใหม่ แบ่งเป็นบริษัทที่ดูเรื่องเสาโทรคมนาคม และบริษัทที่ดูเรื่องไฟเบอร์ออพติก เพื่อในอนาคตจะสะดวกต่อการนำโครงข่ายไปดำเนินการร่วมกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ต้องการนำทรัพยากรด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมมาใช้ร่วมกัน

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอคนร. พิจารณา รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะกรรมการกำกับดูแลตามมาตรา 43 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กระทรวงการคลัง และเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ จากนั้นจะดำเนินการแก้ไขสัญญาสัมปทานกับดีแทค คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จภายในสิ้นปีนี้ และจะเซ็นสัญญาตั้ง 2 บริษัทดังกล่าว และดำเนินธุรกิจได้ภายในต้นปีหน้า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอบรรจุในวาระการประชุมให้คนร.เห็นชอบ

"แต่เดิมการเจรจาเรื่องประเมินมูลค่าทรัพย์สินเราตั้งใจให้เสร็จในเดือน มิ.ย. แต่แม้ว่าจะล่าช้าออกไปแต่ก็ถือว่าเป็นงานที่ประสบความสำเร็จ ส่วนเรื่องคดีต่างๆ ทั้ง 2 ฝ่ายที่มีอยู่ประมาณ 13-14 คดี ก็จะยุติต่อกัน เสาทั้ง 8,000 ต้น และไฟเบอร์ออพติกทั้งหมด จะถูกโอนเป็นทรัพย์สินของ 2 บริษัท และเมื่อตั้งบริษัทเรียบร้อยทั้ง 2 บริษัทก็จะเดินหน้าทำธุรกิจร่วมกัน” พ.อ.สรรพชัย กล่าว