กนอ.เล็งตั้งนิคมฯเขตเศรษฐกิจพิเศษ'ตาก-สระแก้ว'
กนอ. รับลูก "สมคิด" เดินหน้าตั้งนิคมอุตสาหกรรมเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตาก - จ.สระแก้ว คาดศึกษาออกแบบภายใน 6 เดือน
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ขณะนี้กนอ.ได้เร่งศึกษาออกแบบสร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดสระแก้ว และพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้มอบหมายระหว่างการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เมื่อเร็ว ๆ นี้ คาดว่า จะเร่งรัดการศึกษาออกแบบ ให้เสร็จภายใน 6 เดือน ก่อนดำเนินการตามขั้นตอนการลงทุนต่อไป เพื่อเป็นการนำร่องให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวได้เกิดขึ้น
สำหรับการผลักดันเรื่องดังกล่าว นายสมคิด ได้ให้แนวนโยบายว่าให้ กนอ. เดินหน้าการลงทุนตามขั้นตอนโดยไม่ต้องกังวลเรื่องของที่ดินที่ต้องเช่าที่ราชพัสดุแต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องราคาค่าเช่า โดยรองนายกรัฐมนตรีรับจะไปหาข้อสรุปกับกระทรวงการคลัง ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้การลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 2 พื้นที่เป็นรูปธรรมภายในปลายปี 59 แต่ในขั้นตอนการลงทุนที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของ กนอ. ซึ่งเป็นรัฐวสาหกิจนั้นมีขั้นตอนค่อนข้างมาก เช่น การศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งคงต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของนายกรัฐมนตรีว่าจะมีการใช้กฎหมายพิเศษเข้ามาลดขั้นตอนในส่วนใดเพื่อให้เกิดการลงทุนได้เร็วขึ้นและเป็นไปตามกรอบเวลาที่ต้องการหรือไม่
ทั้งนี้ งบประมาณเพื่อลงทุนในนิคมฯ แต่ละแห่งจะใช้งบประมาณของ กนอ. เอง ซึ่งงบประมาณการพัฒนาจะอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านบาทต่อไร่ โดยพื้นที่จะลงทุนตั้งนิคมฯ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตาก อยู่ใน ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด พื้นที่ 774.74 ไร่ ซึ่งห่างจากทางหลวง เอเอช1, เส้นทางเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจตะวันตกและตะวันออก ประมาณ 7 กิโลเมตร ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย- เมียนมา แห่งที่ 1ประมาณ 8 กิโลเมตร มีแหล่งน้ำติดกับแม่น้ำเมย ระบบไฟฟ้าเข้าถึงพื้นที่ ซึ่งในการลงทุนพื้นที่นี้มี อุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ การให้บริการโลจิสติกส์ ได้แก่ คลังสินค้า ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและยานพาหนะ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น อุตสาหกรรม ชิ้นส่วนยานยนต์ อัญมณี
ขณะที่พื้นที่นิคมฯ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.สระแก้ว อยู่ที่ต.บ้านไร่ อ.อรัญประเทศ พื้นที่ 654.79ไร่ ตั้งอยู่ติดกับถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3397 ห่างจากพรมแดนไทย-กัมพูชา 5 กิโลเมตร มีระบบไฟฟ้าพร้อม มีอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ บริการโลจิสติกส์และศูนย์กระจายสินค้า แปรรูปสินค้าเกษตรและอาหาร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม พลังงานทดแทน