ครม. รับข้อเสนอ 'ปปช.' จัดระเบียบร้านเกม
ครม. รับข้อเสนอ ป.ป.ช. ดันวธ.นำทัพจัดระเบียบร้านเกม ตั้งคกก.ระดับชาติ-จังหวัด ให้อำนาจจัดเซ็นเซอร์-จัดเรทติ้งเกม
และกำหนดโซนนิ่งตั้งร้าน พร้อมแนะให้บังคับใช้และแก้กม.ด้วยการเพิ่มโทษ
รายงานข่าวแจ้งว่าเมื่อวันอังคารที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติรับทราบข้อเสนอแนะการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจร้านเกมและอินเตอร์เน็ตของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว
โดยเรื่องนี้ ป.ป.ช. รายงานว่าได้รับเรื่องกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่หลายจังหวัดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือกระทำการโดยทุจริต ปล่อยปละละเลยให้เด็กนักเรียนมั่วสุมหลังเลิกเรียนในร้านเกมและอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและอาจก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมาในอนาคต พร้อมกันนี้ป.ป.ช.ได้ศึกษาผลสืบเนื่องจากเรื่องดังกล่าวพบว่ามีร้านเกมและอินเตอร์เน็ตจำนวนมากไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ให้บริการเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าไปมั่วสุมในร้านเกมนอกเหนือเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยปราศจากการตรวจสอบ กำกับดูแลและดำเนินการอย่างเข้มงวด จากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นป.ป.ช.จึงเห็นสมควรมีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจร้านเกมและอินเตอร์เน็ตต่อครม. โดยข้อเสนอของป.ป.ช. แบ่งเป็นข้อเสนอใน 5 ด้าน 1.การบังคับใช้กฎหมาย 2.การมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ 3.การดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 4.ที่เกี่ยวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ.2551 5.การปรับปรุงกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ทันต่อสถานการณ์
โดยข้อเสนอในการบังคับใช้กฎหมาย ป.ป.ช.เสนอว่า ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กพ.ศ.2556 รับผิดชอบในการตรวจตรา สอดส่อง ดูแลเด็กและเยาวชนที่เข้าไปใช้บริการให้เป็นไปตามเวลาที่กฎหมายกำหนด และกำหนดช่องทางการแจ้งเบาะแสหรือแจ้งเหตุให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลเด็กและเยาวชน รวมทั้งเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมการประกอบธุรกิจร้านเกมและอินเตอร์เน็ตในระดับชาติ โดยมีปลัดกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธาน มีกรรมการจากกระทรวงมหาดไทย(มท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) และอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม โดยมีอำนาจหน้าที่ในการวางนโยบายควบคุม กำกับดูแลการประกอบธุรกิจร้านเกมและอินเตอร์เน็ต และ เสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการควบคุมการประกอบธุรกิจร้านเกมและอินเตอร์เน็ตในเขตกรุงเทพมหานครที่มีอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรมเป็นประธานและผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการในเขตจังหวัดอื่น มีอำนาจหน้าที่ในการวางแนวทางในการปฏิบัติเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจร้านเกมและอินเตอร์เน็ตตลอดจนควบคุม กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมระดับชาติและตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551
ส่วนข้อเสนอในการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ป.ป.ช.เสนอให้กระทรวงมหาดไทย กำหนดยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสังคมโดยเฉพาะปัญหาการประกอบธุรกิจร้านเกมและอินเตอร์เน็ต และมอบหมายให้สำนักงานเขต เมืองพัทยา เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบลในการจัดให้มีการเพิ่มบทบาทจากภาคประชาชนในท้องถิ่นในการมีส่วนร่วมสังเกตการณ์สอดส่องร้านเกมและอินเตอร์เน็ต โดยจัดให้มีสายด่วนภายในชุมชนเพื่อรับแจ้งปัญหา และนอกจากนี้เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการส่งเสริมให้สถานศึกษาจัดกิจกรรมเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน โดยการพัฒนาทักษะชีวิตและสร้างความตระหนักถึงการเล่นเกมและอินเตอร์เน็ตให้เหมาะสม รวมทั้งกำหนดนโยบายให้สถานศึกษาเข้าไปมีส่วนร่วมแก้ปัญหาร้านฯที่ให้บริการบริเวณใกล้เคียงกับสถานศึกษา ส่งเสริมให้ครูอาจารย์ร่วมกับผู้ปกครองในการออกตรวจตราและกำหนดให้มีจุดประสานงานตรงไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551
สำหรับข้อเสนอในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 นั้น ป.ป.ช. เสนอให้คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ วางนโยบายที่ให้ความสำคัญในการคุ้มครองเด็กที่เข้าใช้บริการ ให้คณะกรรมการคุ้มครองเด็กกรุงเทพมหานครและจังหวัด วางแนวทางในการปฏิบัติในการคุ้มครองเด็กที่เข้าใช้บริการฯให้ชัดเจนเป็นเฉพาะ ตลอดจนควบคุม กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ และเสนอให้พม.กำหนดยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาและแนวทางเยียวยาเด็กที่มีปัญหาติดเกมและอินเตอร์เน็ต และหากพบเด็กติดเกมและอินเตอร์เน็ตและนอกเวลาที่กฎหมายกำหนดที่ผิดตามนิยามในพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯมาตรา 4 และอาจบังคับใช้มาตรการปรับพฤติกรรมตามมาตรา 44 โดยเรียกผู้ปกครองมาทำความตกลงในกาคุ้มครองดูแลตามที่กำหนดไว้ได้
ส่วนข้อเสนอเกี่ยวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 เสนอให้แก้ไขประกาศกระทรวงวัฒนธรรม เรื่อง แต่งตั้งนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ โดยให้แต่งตั้งพนักงานและเจ้าหน้าที่ฯเพิ่มเติม โดยในเขตกทม.ให้เพิ่มข้าราชการในสังกัดสำนักงานเขต ตามที่ผู้อำนวยการเขตมอบหมาย เพิ่มพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียน-นักศึกษา ส่วนในเขตจังหวัดอื่นให้เพิ่มปลัดจังหวัดและข้าราชการตามที่ปลัดจังหวัดมอบหมาย พนักงานเทศบาลตามที่ปลัดเทศบาลมอบหมาย พนักงานสังกัดอบต.ตามที่ปลัดอบต.มอบหมาย พนักงานสังกัดเมืองพัทยาตามที่ปลัดเมืองพัทยามอบหมาย และเพิ่มพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียน-นักศึกษา
และข้อเสนอในการปรับปรุงกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ทันต่อสถานการณ์ ป.ป.ช. เสนอให้กระทรวงวัฒนธรรมแก้ไขกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตและการประกอบกิจการร้านวิดีทัศน์ พ.ศ. 2552 โดยกำหนดเวลาปิด-เปิดร้านฯให้มีความเหมาะสม โดยให้กำหนดนิยามของเกมให้ครอบคลุมดังนั้น “เกม หมายถึง เกมการเล่นที่มีการประมวลผลโปรแกรม ข้อมูลโดยใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ โดยการสุ่มโปรแกรมข้อมูลตามแต่ผู้เล่นที่จะเลือกเล่นตามความรู้ความสามารถหรือที่ผู้เล่นอื่นซึ่งเป็นผู้เล่นร่วมเป็นผู้กำหนด” “ร้านเกมและอินเตอร์เน็ต หมายถึง ร้านที่มีวัสดุ อุปกรณ์ จอภาพ ไว้ให้บริการเล่นเกมและอินเตอร์เน็ตเป็นปกติโดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับผลประโยชน์ตอบแทน” และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อให้มีการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมบทลงโทษทางอาญาในการกระทำความผิดเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจร้านเกมและอินเตอร์เน็ตกรณีที่เกี่ยวข้องกับการเข้าใช้บริการของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ รวมทั้งในกรณีการเปิดให้บริการโดยไม่ได้รับอนุญาต
“นอกจากนี้ในประเด็นการเผยแพร่เกมและเกมออนไลน์ที่ให้บริการในประเทศไทยต้องได้รับอนุญาตตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ฯ ก่อนที่จะให้บริการ หากวธ.พิจารณาแล้วเห็นว่าเกมดังกล่าวเป็นเกมที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมก็มีหน้าที่แจ้งให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานกสทช. และผู้ให้บริการ(ISP) ทำการปิดกั้น รวมทั้งเสนอให้วธ.ศึกษาถึงแนวคิด รูปแบบ ประโยชน์ และความเหมาะสมในการจัดระดับเนื้อหาความรุนแรงของเกม(Game Rating) และให้ศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ในการกำหนดเขต(โซนนิ่ง)ร้านเกมและอินเตอร์เน็ตด้วย”