'คณิน' ยก7เหตุผล! ประเทศไทยไม่ต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ
อดีต ส.ส.ร. ปี40 ยก7เหตุผล ชี้ประเทศไทยไม่ต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ
นายคณิน บุญสุวรรณ อดีต ส.ส.ร. ปี 40 ได้กล่าวถึงกรณีที่ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ คิดจะเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญในการดับวิกฤต และผ่าทางตันของประเทศ แทนที่ คปป. ตามร่าง ฉบับนายบวรศักดิ์ ฯ ว่าเท่าที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจ และใช้อำนาจ ระหว่างการใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็นับว่ามาก เสียจนกลายเป็น “Super Court” ไปแล้ว ยังไม่พออีกหรือ? จะเพิ่มอำนาจกันไปถึงไหน? และที่อ้างว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีบทบาทในการดับวิกฤตและผ่าทางตันของประเทศนั้นน่ะ เอาเข้าจริงศาลรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจแบบไม่ระมัดระวังนั่นแหละ จะเป็นชนวนให้เกิดวิกฤตและความขัดแย้งเสียเอง อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งหลายหนในระหว่างที่ใช้รัฐธรรมนูญปี 2550
นายคณิน กล่าวว่า ส่วนที่อ้างว่าถ้าให้ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่นี้ต่อไปทหารจะได้ไม่ปฏิวัติอีกนั้น ก็คงเป็นข้ออ้างเดียวกันกับที่เมื่อตอนยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ ฯ ที่ให้ผู้บัญชาการสี่เหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญในนามของ คปป. นั่นแหละคือพูดแบบ “ขอไปที” เพราะความจริงก็รู้ๆ กันอยู่ว่าจะร่างรัฐธรรมนูญแบบไหนก็ไม่มีทางป้องกันการปฏิวัติได้ นายมีชัยฯ เอง ก็ร่างรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายฉบับ ก็ไม่เห็นว่าจะมีฉบับไหนที่ป้องกันการปฏิวัติได้ เพราะฉะนั้น อย่ามา หลอกกันเสียให้ยากเลยว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันการปฏิวัติ
นายคณิน ยังกล่าวต่อไปด้วยว่า ความจริงประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมีศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ เพราะประเทศที่มีศาลรัฐธรรมนูญนั้น ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นสาธารณรัฐ เช่น สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สาธารณรัฐฝรั่งเศส สาธารณรัฐออสเตรีย และสาธารณรัฐเกาหลี เป็นต้น ซึ่งเขามีความจำเป็นต้องควบคุมร่างกฎหมายของรัฐหรือแคว้นต่างๆ มิให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐหรือของสหพันธ์ แต่สำหรับประเทศที่เป็น “รัฐเดี่ยว” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่เป็นราชอาณาจักร อย่างเช่นประเทศไทยนั้นไม่จำเป็นต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญทุกฉบับจะบัญญัติไว้ว่า
“ร่างพระราชบัญญัติจะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้ ก็แต่โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา” ซึ่งหมายความว่า เมื่อร่างพระราชบัญญัติได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ก็ต้องนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า จะทรงเห็นชอบด้วยหรือจะทรงพระราชทานคืนมา ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีองค์กร คณะบุคคล หรือแม้แต่ศาลมาคั่นกลาง เพราะเป็นเรื่องที่พระมหากษัตริย์ ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา
นอกจากนั้น นายคณิน ยังได้กล่าวถึงศาลรัฐธรรมนูญอีกว่า ถึงเวลาแล้วที่ กรธ. ชุดที่มี นายมีชัย ฯ เป็นประธาน จะทบทวนและไตร่ตรองดูให้ดีว่าประเทศไทยสมควรที่จะมีศาลรัฐธรรมนูญต่อไปหรือไม่ ?
ประการแรกนั้น ในประเทศไทย ศาลปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นศาลการเมือง ซึ่งตัดสินเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง ดังนั้น การมีศาลรัฐธรรมนูญ จะเท่ากับเป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มาเกี่ยวข้องพัวพันกับความขัดแย้งทางการเมืองโดยใช่เหตุหรือเปล่า?
ประการที่สอง ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว และเป็นราชอาณาจักร ไม่มีความจำเป็นต้องมีศาลรัฐธรรมนูญมาคั่นกลาง ระหว่าง รัฐสภากับพระมหากษัตริย์แต่ประการใด
ประการที่สาม การมีศาลรัฐธรรมนูญมาพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ของร่างพระราชบัญญัติ ที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว เป็นการขัดแย้งกับบทบัญญัติมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา เพราะถ้าไม่เป็นเช่นนั้นก็จะกลายเป็นว่าให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางศาลรัฐธรรมนูญ
ประการที่สี่ ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้วขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญและเป็นสาระสำคัญ มีผลทำให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นตกไปทั้งฉบับ ก็จะกลายเป็นว่า “ร่างพระราชบัญญัติที่ถึงแม้จะได้รับคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาแล้ว จะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายไม่ได้ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่ยินยอม” ซึ่งจะทำให้ระบบการเมืองของไทยผิดเพี้ยนไป ทั้งจากหลักประชาธิปไตย และทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจ
ประการที่ห้า ถ้าให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประมุขของฝ่ายบริหาร และประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ ย่อมขัดแย้งกับหลักการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกันระหว่างอำนาจอธิปไตยสามฝ่าย อย่างชัดเจน
ประการที่หก ถ้าให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจวินิจฉัยว่าการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารเป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่ จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นฝ่ายตุลาการมีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
และประการที่เจ็ด ถ้าให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยว่า สิ่งที่ไม่มีบัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 7 หรือไม่ ก็จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นองค์กรเหนือรัฐธรรมนูญไปโดยปริยาย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น รัฐธรรมนูญทั้งฉบับก็ไม่มีความหมาย