'วิลาศ'แฉกทม.ล็อกสเป็กซื้อเครื่องดนตรี
"วิลาศ"แฉ"กทม." ล็อกสเป็กซื้อเครื่องดนตรีให้โรงเรียนในสังกัด ชี้ซื้อแพงกว่าร้านขายปลีก จี้รัฐบาลงัดพ.ร.บ.รับผิดทางละเมิด สั่งชดใช้ค่าเสียหาย
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงความไม่ชอบมาพากลของกรุงเทพมหานคร(กทม.)ในการจัดซื้อเครื่องดนตรีให้กับโรงเรียนในสังกัดมูลค่ารวมทั้งหมดกว่า 1.3 พันล้านบาทว่า โครงการเพิ่มทักษะทางด้านดนตรีแก่นักเรียนในโรงเรียนสังกัดกทม.เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ2551 โดยกทม.นำร่องโครงการกับ10โรงเรียนที่มีความพร้อม ซึ่งใช้งบไปราว14ล้านบาท ประกอบด้วยเปียโนโรงเรียนละ1หลัง คีย์บอร์ด 15ตัว กีตาร์คลาสสิค 30ตัว ในปีถัดมาก็ได้จัดซื้อให้กับอีก90โรงเรียน มูลค่า250ล้านบาท กระทั่งเมื่อปี2557 ที่ถือว่าจัดซื้อจัดจ้างอย่างดุเดือด มูลค่าถึง585 ล้านบาทให้กับ197 โรง ซึ่งในจำนวน 187โรงนั้น ไม่เคยมีเครื่องดนตรีมาก่อน อีกทั้งยังปรากฎว่าในปีเดียวกันมีการตั้งงบโครงการเพิ่มประสิทธิภาพความรู้ด้านดนตรีแก่ครูผู้สอน มูลค่า 114 ล้านบาท จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า การจัดซื้อเครื่องดนตรีในปี2555 ทั้งที่ยังไม่มีครูสอนเล่นเครื่องดนตรีให้กับนักเรียน แล้วจะซื้อเครื่องดนตรีเหล่านั้นมาเพื่ออะไร นอกจากนั้นแต่ละโรงเรียนยังได้งบประมาณแห่งละกว่า 3.3แสนล้านบาท เป็นค่าลิขสิทธิตำราหลักสูตรสอนดนตรีด้วย
นายวิลาศ กล่าวว่า โครงการนี้จึงมีปัญหาในเรื่องความเหมาะสม ในเมื่อโรงเรียนในสังกัดกทม.เกินครึ่งไม่มีครูดนตรี เมื่อซื้อมาแล้วใครจะสอน ทั้งยังไม่มีการสำรวจหรือให้แต่ละโรงเรียนเสนอว่าต้องการเครื่องดนตรีนั้นๆหรือไม่ รวมถึงหลายโรงเรียนยังไม่มีความพร้อมเรื่องสถานที่ เช่นห้องดนตรีเพื่อใช้จัดเก็บ แล้วยังมีการจัดซื้อแบบเหมาจ่าย โดยเฉพาะในปี2557 ซึ่งมีโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า200คนถึง 69โรง และบางโรงเรียนก็มีนักเรียนป.5-ป.6 เพียงไม่กี่คน แต่มีการซื้อเครื่องดนตรีให้40ชิ้น แล้วผู้เกี่ยวข้องมาอ้างว่าใช้งานจริง อีกทั้งเมื่อแต่ละโรงเรียนรับมอบเครื่องดนตรีแล้ว ทุกปีจะมีงบบำรุงรักษาโรงเรียนละ 2หมื่นบาท ซึ่งขั้นตอนนี้ทุจริตชัดเจน คือเมื่อโรงเรียนรับเงินไปแล้วก็จะเรียกบริษัทที่ขายให้มาตรวจสภาพ ทั้งที่ยังไม่ได้ใช้งาน ก็มาเขียนบอกว่าซ่อมไปแล้ว
นายวิลาศ กล่าวว่า เครื่องดนตรีที่จัดซื้อมานั้น ไม่ทราบว่ามีเจตนาล็อกสเป็กหรือไม่ แต่เมื่อมีการซื้อเปียโนก็มีเหตุผลความโง่เกิดขึ้น คือ เปียโนเมื่อตั้งที่ใดแล้วย้ายไม่ได้ เพราะต้องจูนเครื่องใหม่ หลายที่จึงตั้งไว้เฉยๆเป็นจำนวนมาก ตนยืนยันจากข้อมูลที่มีว่าเปียโนที่ซื้อมาทั้งหมด 437 หลัง ใช้งานจริงไม่เกิน 10เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคนคิดโครงการนี้ไม่ได้ประเมินเลยว่าโรงเรียนในสังกัดกทม.ซึ่งมีจำนวนลดลงทุกปีนับตั้งแต่ปี2556 และถ้าโครงการจัดซื้อนี้ที่มีมาเป็นลำดับมีเจตนาบริสุทธิ์ ไม่หวังเงินทอนก็ควรประเมินว่าการจัดซื้อแต่ละครั้งที่ผ่านมาคุ้มค่าและควรซื้อในปีต่อไปหรือไม่
“โครงการนี้ส่อทุจริต เพราะตอนประมูลผอ.สำนักการศึกษา บอกว่าใช้วิธี อี-อ็อกชั่น วิธีนี้มักโกง รัฐบาลนี้ถึงยกเลิก แล้วยังมีการล็อกสเป็ก ในขั้นตอนเขียน ทีโออาร์ เพื่อใช้ในการเปิดประมูล เขียนไว้เลยว่าจะเอาอะไรบ้าง เมื่อเขียนเช่นนี้เลยทำให้ไม่มีคู่แข่ง เลยมีบริษัทที่ยื่นซองประมูลเพียง3ราย เพราะบริษัทอื่นโดนล็อกไว้หมด และยังล็อกสเป็กเครื่องดนตรี เช่น เปียโน คีย์บอร์ด โดยระบุขนาดเอาไว้อย่างละเอียดโดยไม่มีเหตุผล เหมือนไปดูสินค้าของบริษัทมาแล้วกลับมาเขียนล็อกสป็กไว้ จึงขอท้าผู้บริหารกทม.ออกมาชี้แจง ถึงการจัดซื้อดังกล่าว ว่าดีจริงหรือไม่ เพื่อให้สังคมตัดสิน” นายวิลาศ กล่าวเเละว่า ดังนั้น เรื่องนี้จึงพูดอย่างอื่นไม่ได้ นอกจาก"โคตรโกง โคตรโง่ โคตรบ้า" ซึ่งตนลองเปรียบเทียบราคากลองชุดไฟฟ้ายี่ห้อเดียวกันกับที่กทม.จัดซื้อชุดละ 6.5หมื่นบาท ปรากฎว่าร้านขายปลีกราคาเพียง 3.8หมื่นบาท จึงขอเรียกร้องรัฐบาลให้ใช้ม.44 ของรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว บังคับใช้พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 สั่งชดใช้เงินส่วนนี้ที่เสียหาย
นายวิลาศ กล่าวว่า ตนจะนำหลักฐานยื่นต่อป.ป.ช.และสตง.เพื่อดำเนินการตรวจสอบให้เป็นคดีตัวอย่างกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นและขอเรียกร้องถึงข้าราชการกทม.ให้ใจกล้าเปิดเผยข้อเท็จจริง เพราะกฎหมายป.ป.ช. มาตรา 103/6 ระบุว่า การให้การเป็นประโยชน์ต่อการสอบสวน ป.ป.ช.สามารถกันไว้เป็นพยานได้