คสช.สางปมทุจริตจ่อฟัน100ขรก.-มาเฟีย

คสช.สางปมทุจริตจ่อฟัน100ขรก.-มาเฟีย

เผยเหตุนายกฯ ใช้ ม.44 พักงาน ข้าราชการรัฐ และท้องถิ่น 59 ราย เพื่อเปิดทางสอบปมทุจริต จับตาอีก 1 เดือนขึ้นบัญชีเชือดขรก.-มาเฟีย ร่วม100 ราย

แม้ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะบอกถึงสาเหตุการออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อระงับการปฏิบัติราชการ ของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่อยู่ระหว่างถูกตรวจสอบ รวม 59 คน ว่า บุคคลทั้งหมดยังไม่พบความผิด แต่เป็นการส่งข้อมูลรายชื่อ มาจากคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ เพื่อเปิดให้มีความสะดวกในการตรวจสอบเพิ่มเติม

แต่ “ชั่วโมงที่26” ได้รับข้อมูลจากศูนย์ดำรงธรรม ของ คสช. ที่ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย ว่า ได้ทำหนังสือไปถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นเพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและส่งผลการดำเนินการดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบ ทั้งในส่วนของ สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสํานักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ที่มี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธาน คตช.

การขึ้นบัญชีพักงานข้าราชการและนายกฯองค์กรท้องถิ่น มีขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดยกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น ในจังหวัดมหาสารคาม เป็นที่น่าจับตามองมากที่สุด เพราะการสั่งระงับการปฏิบัติงานของ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทุกตำบลใน อ.เมือง จ.มหาสารคาม มากถึง 32 ราย

โดยข้อมูลส่วนใหญ่ มีผู้ร้องเรียน มายัง คสช. จังหวัดมหาสารคาม ผ่านศูนย์ดำรงธรรม ถึงการสอบแข่งขันบรรจุแต่งตั้งพนักงานส่วนตำบลขององค์การบริหารส่วนตำบล จังหวัดมหาสารคาม ที่มีการเปิดสอบ 31 แห่ง 207 อัตรา ว่ามีการทุจริต พร้อมทั้งพบข้อมูลว่า มีการใช้อำนาจหน้าที่และอิทธิพลในการเข้าแทรกแซงการดำเนินการดังกล่าว จนทำให้เกิดความไม่โปร่งใสและเป็นธรรม

“ชั่วโมงที่ 26” ยังได้รับข้อมูลจาก นายทหารระดับสูงใน คสช. ด้วยว่า อีก 1เดือน ข้างหน้า คณะกรรมการปราบปรามผู้มีอิทธิพลทั่วประเทศ ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน เตรียมจะแถลงข้อมูลผลการตรวจสอบข้าราชการและผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ อีกเช่นกัน

โดยคณะกรรมการ ของพล.อ.ประวิตร ได้ส่งเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจลงพื้นที่ทั่วประเทศ ตามนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพล 16 กลุ่ม พบว่า มีข้าราชการทางการเมืองท้องถิ่น ร่วม 50 ราย ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพลเรียกรับผลประโยชน์ ข้าราชการบางรายวางตัวไม่เป็นกลางทางการเมือง เป็นหัวคะแนนให้พรรคการเมือง จึง จึงมีความจำเป็นต้องสั่งระงับการปฏิบัติงานไว้ก่อน

ในส่วนของผู้มีอิทธิพลทั่วประเทศ รัฐบาลได้รวบรวมรายชื่อได้ถึง 50 ราย โดยเป็นผู้มีอิทธิพล ที่มีฐานความผิดเข้าข่ายพฤติการณ์ที่สำคัญ 15 ข้อ เช่นพ่อค้ายาเสพติด กลุ่มฮั้วประมูล กลุ่มเรียกรับผลประโยชน์ กลุ่มลักลอบขนของเถื่อน กลุ่มค้าประเวณี กลุ่มค้าอาวุธ และมือปืนรับจ้าง