นายกฯสั่ง8กระทรวงใช้งบช่วยรับซื้อยางฯ
"ประยุทธ์" สั่ง8กระทรวงใช้งบช่วยรับซื้อยาง ส่งออเดอร์มาที่สำนักเลขาครม.–ตรวจสอบผู้รับซื้อผิดข้อตกลง กดราคารับซื้อโดนกฎหมายเล่นงาน
เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงปัญหาราคายางพาราตกต่ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีความเป็นห่วงเรื่องปัญหายาง และได้ติดตามปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมามีการประชุมกันกับตัวแทนทุกฝ่ายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้ข้อยุติที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่าเป็นแนวทางที่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างชัดเจน แม้อาจไม่ทำให้เป็นที่ถูกใจทั้งหมดได้ แต่ถือว่าช่วยทำให้ปัญหาทั้งหลายผ่อนจากหนักเป็นเบา ซึ่งข้อยุติในวันนั้นคือ ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับซื้อยางตกลงกันจะซื้อยางไม่ให้ราคาต่ำกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งปัจจุบันราคายางแผ่นดิบชั้น 3 อยู่ที่กิโลกรัมละ 34 บาท โดยจะยังไม่พูดถึงข้อกฎหมาย และจะยกระดับราคาให้สูงขึ้นเท่าที่ทำได้ในเวลาที่เหมาะสม ขณะเดียวกัน จากวันนี้ถึงวันที่ปิดกรีดยางคือ อีก 3 เดือน ประมาณการณ์กันว่าจะมียางออกสู่ตลาดประมาณ 8 แสนตัน ซึ่งกลุ่มที่ซื้อยางทุกส่วนยอมรับในกฎกติกาว่าจะแบ่งสันปันส่วนกันซื้อยางให้หมด ไม่ให้มียางตกค้าง นอกจากนี้ ในส่วนของ 16 มาตรการของรัฐบาลชุดนี้จะยังดำเนินต่อไป แล้วเรามั่นใจว่าทุกส่วนที่เกี่ยวข้องจะนำเรื่องนี้ไปชี้แจงให้เกษตรกรที่เกี่ยวข้องรับทราบ
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า การยกราคาให้สูงตามที่มีการเรียกร้องกันนั้นยาก เพราะทุกคนทราบดีว่าราคายางโลกตก ปริมาณล้นตลาด จึงอยากให้คุยด้วยเหตุผล ไม่อยากเห็นการกดดันรัฐบาลแล้วทำผิดกฎหมาย เพราะปัจจุบันการชุมนุมกระทำไม่ได้ แต่รัฐบาลไม่อยากพูดเรื่องกฎหมายเพราะมันเป็นยาแรง เกษตรกรกำลังเดือดร้อนอยู่ จะบั่นทอนความรู้สึกเขา แต่เรียนไว้ว่าไม่อยากให้ทำเลย หากจะรวมกันประชุมเพื่อสรุปข้อมูลทั้งหลายแล้วรายงานมาให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐเรายินดีรับฟัง แต่หากจะปิดถนน เดินขบวน มากทม. ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง ทั้งนี้ สำหรับความคืบหน้าที่นายกฯได้ติดตามและฝากคือ เรื่องบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่ขณะนี้ยังไม่เสร็จ นายกฯสั่งการเร่งรัดให้ส่วนที่เกี่ยวข้องให้เอาเข้าที่ประชุมครม.ให้ได้ หากวันที่ 12 ม.ค.ไม่ทันก็นำเข้าสัปดาห์หน้า ซึ่งถ้าบอร์ดเรียบร้อยกลไกทั้งหลายจะเดินไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ หลังจากตกลงกันแล้วเมื่อวันที่ 7 ม.ค.จะมีส่วนต่างๆ ไปไล่ตรวจสอบว่ามีผู้รับซื้อคนใดไม่ปฏิบัติตามกติกาหรือไม่ ถ้ามีจะติดต่อเป็นรายบุคคลเป็นการเตือน ถ้ายังประพฤติอยู่ต้องว่ากันด้วยกฎหมาย แต่จะยังไม่พูดถึงมาตรา44เพราะยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องควบคุมอยู่ คือพ.ร.บ.ควบคุมยาง พ.ศ.2542 กับกฎหมายควบคุมสินค้า ทั้งนี้ เชื่อว่าอย่างน้อยมาตรการดังกล่าวจะไม่ทำให้ราคายางตกไปกว่านี้
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า นายกฯ มีคำสั่งไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คมนาคม มหาดไทย ศึกษาธิการ สาธารณสุข กลาโหม อุตสาหกรรม พาณิชย์ เกษตรและสหกรณ์ จากนั้นจะต้องรวบรวมความต้องการว่าจะช่วยรับซื้อยางในความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวงอย่างไร ให้กับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แล้วส่งสำเนามาให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รวบรวมภายในเวลา 12.00 น.วันที่ 11 ม.ค.นี้ โดยนายกฯให้แต่ละกระทรวงใช้งบประมาณตัวเองในการรับซื้อ และมีความเป็นไปได้ว่าจะรายงานเข้าที่ประชุมครม.วันที่ 12 ม.ค.นี้เลย ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และวิงวอนว่าอย่าทำในลักษณะที่กดดันรัฐบาล เพราะการกดดันไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หากคุยด้วยเหตุผลยอมรับว่าราคาไปแค่ไหนอย่างไร ทำอย่างไรไม่ให้ราคาทรุดไปกว่านี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีอะไรเป็นหลักประกันว่าราคาจะไม่ตกกว่านี้ พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ความจริงใจ รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาทุกเรื่อง เกษตรกรทุกกลุ่มรัฐบาลรับมาหมด อะไรที่เป็นปัญหาของเกษตรกรเราพยายามลงไปให้ถึงต้นตอจริงๆ รับฟังว่ามันทำได้แค่ไหน หากอุดหนุนแค่พึงพอใจประเดี๋ยวประด๋าวถือว่าไม่ถูกต้อง