ปตท.นำเข้า 'แอลเอ็นจี' เพิ่มหลังราคาดิ่ง
"ปตท." ปรับแผนนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีเพิ่ม หลังราคายังดิ่งต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้าเจรจาปิโตรนาสขอร่วมทุนแหล่งใกล้ไทย
นายปิติพันธ์ เทพปฎิมากรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บมจ. ปตท. กล่าวว่า แอลเอ็นจีราคาตลาดจร (สป็อต) ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 4.6 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล นับว่าเป็นราคาต่ำมาก ซึ่งนโยบายของกระทรวงพลังงานต้องการให้นำเข้ามาใช้เพื่อยืดอายุปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยให้นานที่สุด ซึ่งขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างการปรับแผนการนำเข้าเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันจากนโยบายของกระทรวงฯ ที่ให้เจรจาทบทวนข้อตกลงทางสัญญาการซื้อขายแอลเอ็นจีกับเชลล์และบีพี ทาง ปตท.จะเจรจาและจะมีการลงนามให้เสร็จสิ้นปี 2559 รวมทั้งเจรจากับรายอื่นเพื่อทำสัญญาระยะยาวเพิ่ม เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานและคลังแอลเอ็นจีระยะ 2 ส่วนขยายอีก 5 ล้านตันก็จะก่อสร้างเสร็จสิ้นปี 2560 ทำให้ ปตท.สามารถรองรับนำเข้าแอลเอ็นจีรวม 10 ล้านตัน ล่าสุดทาง ปตท.ได้หารือกับทางปิโตรนาสแห่งมาเลเซีย สำหรับความร่วมมือในการซื้อขายแอลเอ็นจี และหากมีโอกาสทาง ปตท.ก็พร้อมที่จะเข้าไปร่วมลงทุนในแหล่งแอลเอ็นจี ของแหล่งของปิโตรนาสบริเวณใกล้อ่าวไทยมากที่สุด รวมทั้ง ปตท. พร้อมที่จะร่วมลงทุนในแหล่งแอลเอ็นจีในประเทศอื่น ๆ เพราะในช่วงราคาต่ำก็เป็นโอกาสของการลงทุน
สำหรับการทบทวนสัญญาระยะยาวสำหรับการนำเข้าแอลเอ็นจี จาก Shell Eastern Trading (PTE) LTD และ บริษัท BP Singapore PTE. Limited ในปริมาณรายละ 1 ล้านตัน/ปี รวม 2 ล้านตัน/ปี เบื้องต้นจะใช้สูตรราคาอิงกับราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะแตกต่างจากสัญญาของการ์ต้า 2 ล้านตัน/ปี ที่เป็นสูตรที่อิงกับราคาน้ำมัน โดยสูตรของเชลล์ และบีพีนั้น กำลังเจรจาเปลี่ยนแปลงจากสูตรอิงราคา spot และสัญญาระยะยาว ประเภทละร้อยละ 50 จากเดิมอิง spot ร้อยละ 30 และสัญญาระยะยาวร้อยละ 70 ซึ่งสูตรอิงราคาเช่นนี้จะยืดหยุ่นจะเปลี่ยนแปลงได้ช่วง 3-5 ปี ทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค
นายปิติพันธ์ เสนอด้วยว่า กระทรวงพลังงานควรเร่งตัดสินใจก่อสร้างคลังแอลเอ็นจี แห่งที่ 2 ขนาด 7.5 ล้านตัน/ปีในช่วงนี้ เนื่องจากมูลค่าก่อสร้างค่อนข้างถูก ตลาดเป็นของผู้ซื้อ ผู้ลงทุน โดยจะเห็นได้จากท่อก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 5 ที่ ปตท.กำลังจะเปิดประมูลก่อสร้าง ราคาจะลดลงประมาณร้อยละ 30 เหลือประมาณ 70,000 ล้านบาท จากเดิทประเมินที่ประมาณ 100,000 ล้านบาท และคลังแอลเอ็นจีแห่งใหม่ควรจะจัดตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง เพราะเป็นแหล่งต้นทางในการรับก๊าซฯ ทั้งจากอ่าวไทยและแอลเอ็นจี เพื่อที่จะได้ควบคุมคุณภาพก๊าซฯได้ก่อนจะจัดส่งให้กับลูกค้าผ่านทางระบบท่อที่ ปตท.ได้เตรียมก่อสร้างเพื่อรองรับให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่ฝั่งตะวันออกและตะวันตกของประเทศ อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างคลังแห่งใหม่คงต้องรอนโยบายจากกระทรวงพลังงานว่าจะให้ลงทุนอย่างไร โดย ปตท.พร้อมทั้งลงทุนเองทั้งหมด และร่วมลงทุนกับรายอื่น ๆ เช่น ร่วมลงทุนกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งการร่วมทุนจะดีกว่าการที่ กฟผ.จะก่อสร้างคลัง FSRU ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ทำให้ควบคุมระบบความมั่นคงได้ยาก