หน้างอ รอรักษ์

หน้างอ รอรักษ์

อุณหภูมิน้ำทะเลที่พุ่งสูงขึ้นส่งผลให้ปลาหลายชนิด รวมถึง ‘ปลาทู’ ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติ ซ้ำเติมจากการลดลงเพราะการประมงที่เกินขนาด

โบราณว่า...“น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย” แต่ท่ามกลางภาวะโลกร้อนที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่า อุณหภูมิของน้ำทะเลในเขตร้อนจะสูงขึ้น 1.5 และ 3 องศาเซลเซียส ภายในปี คศ.2050 และ 2100 ตามลําดับ คือสภาพการณ์ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อปลา สัตว์เลือดเย็นที่อุณหภูมิในร่างกายเปลี่ยนแปลงตามอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม

จากการศึกษาวิจัยในต่างประเทศพบว่า ภาวะโลกร้อนไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์ของปลา โดยปลาจะมีขนาดเล็กลง ถึงวัยเจริญพันธุ์ขณะที่ยังมีขนาดเล็กและมีอัตราการตายสูง แหล่งที่อยู่อาศัยของปลายังอาจเปลี่ยนแปลงและสูญหายไป ซึ่งส่งผลให้ปลามีปริมาณและจํานวนชนิดลดลง นอกจากนี้ปริมาณแพลงก์ตอนซึ่งเป็นอาหารของพวกมันก็ลดลงด้วย ทำให้ปลาบางชนิดอาจสูญพันธุ์ไปในที่สุด

สถานการณ์เช่นนี้เริ่มปรากฏให้เห็นไม่เว้นแม้ปลาทูเจ้าถิ่นอ่าวไทย (ชื่อสามัญ : Short-bodied mackerel) หรือ “ปลาสั้น” ที่พ่อค้าแม่ค้าแถบแม่กลองมักนำไปนึ่งใส่เข่งในสภาพ “หน้างอคอหัก” ปัจจุบันปลาตัวหนาเนื้อนิ่มเริ่มหายากและมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยมีปลาทูจากน่านน้ำอื่นที่ตัวยาวกว่ามาแทนที่ ไม่ว่าจะเป็น ปลารัง ปลายาว ปลาอินโด ฯลฯ จนน่าเป็นห่วงว่าอนาคตปลาสั้นอาจกลายเป็นแค่ปลาทูในตำนาน

อ่าวไทยในสถานการณ์ร้อน

“เมื่อก่อน ไต๋เรือเขาจะสังเกตสีน้ำทะเล ซึ่งมองลงไปจะเห็นหลังปลาทูสะท้อนเป็นเงาใต้น้ำว่ายวนเป็นฝูงและขึ้นมามากหากอุณหภูมิประมาณ 29 องศา แต่ถ้า 30 องศาขึ้นไปจะขึ้นมาน้อย” คำบอกเล่าจากประสบการณ์

ในการออกเรือหาปลามากว่าครึ่งชีวิตของ สุชาติ มากมี ผู้ประกอบการธุรกิจเรือประมงพาณิชย์ (ไต๋เรือ) จ.ประจวบคีรีขันธ์ สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของอุณหภูมิน้ำกับจำนวนประชากรปลาทูได้เป็นอย่างดี

ขณะที่คนรักแม่กลองอย่าง สุรจิต ชิรเวทย์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสมุทรสงคราม ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากสภาพแวดล้อมบนฝั่งที่เชื่อมโยงกัน

"สภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องข้อเท็จจริง เรารู้สึกได้ สัมผัสได้ ธรรมชาติรุนแรงกว่าเดิม แล้วการจัดการน้ำในแผ่นดิน การเพิ่มขึ้นของประชากร ชุมชน มลภาวะจากเกษตรเคมีหรืออุตสาหกรรม เหล่านี้มีผลแน่นอน โดยเฉพาะในอ่าว ก.ไก่ ซึ่งมีปากแม่น้ำ 5 สายมาออก น้ำเสียน้ำไม่ดีมีผลมาก อย่างปีที่เกิดมหาอุทกภัย แล้วเราไปต่อสู้ไปหน่วงไว้ 4 เดือน พอผลักน้ำเสียออกทะเลมา ปีนั้นอ่าว ก.ไก่ ชั้นในสุดปลาทูก็ไม่เข้ามา เพราะฉะนั้นการจัดการน้ำในแผ่นดิน ภัยแล้งหรือน้ำท่วม การควบคุมน้ำเสียก็มีผลกระทบ เพราะสารอาหารมันถูกส่งออกไปอย่างนั้น"

แม้จะไม่ใช่ปลาที่อ่อนไหวขนาดจะอำลาอ่าวไทยไปง่ายๆ แบบถาวร แต่เมื่อสภาวะโลกร้อนมาผนวกรวมกับสถานการณ์ร้อนๆ ในอ่าวไทย ไม่ว่าจะเป็น การทำประมงที่ไม่เหมาะสม หรือการออกกฎระเบียบโดยไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง อ่าวไทยก็อาจไม่ใช่บ้านที่น่าอยู่อีกต่อไป

ไต๋เรือคนเดิมเล่าว่า สมัยก่อนไม่มีเครื่องมือในการจับปลาที่ทันสมัยเช่นทุกวันนี้ก็อาศัยการสังเกตพระอาทิตย์ อุณหภูมิน้ำ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลของเรือประมงแต่ละลำว่าเจอปลาบริเวณไหน เป็นการทำงานเป็นเครือข่าย ต่างกับปัจจุบันที่ชาวประมงบางคนบางกลุ่มใช้เครื่องมือทันสมัยที่สามารถหาฝูงปลาทูผ่านจอเรดาร์ และคิดหาทางจับสัตว์น้ำให้ได้มากที่สุด เท่าที่เวลา น้ำมัน แรงงาน หรือศักยภาพของเรือประมงพาณิชย์จะทำได้

“การกระทำที่ว่าทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากร กลายเป็นการทำประมงที่ไม่สามารถควบคุมได้ กระทั่งรัฐบาลต้องออกมาตรการในการควบคุม โดยการประกาศปิดอ่าว ช่วง 15 ก.พ.-15 .พ.ค.ของทุกปี เพราะการจับในช่วงเวลาดังกล่าวจะได้ปลาขนาดเล็กจำนวนมหาศาล เป็นการตัดโอกาสในการเจริญเติบโตของลูกปลาและส่งผลเชื่อมโยงต่อจำนวนประชากรปลาของอนาคต"

เรื่องนี้อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสมุทรสงคราม ก็เฝ้าติดตามสถานการณ์ด้วยความเป็นห่วงเช่นเดียวกัน

"ในภาพรวมปลาทูแม่กลองเรามีขนาดเล็กลง ส่วนจำนวนถ้าคิดย้อนหลัง 30-40 ปี ใช่...มันลดลง เพราะเมื่อก่อนนี้เรามีแต่เครื่องมือ(จับปลาทู)ประจำที่ กับกึ่งเคลื่อนที่ คือ โป๊ะ อวนล้อม อวนติด อวนดำ อะไรอย่างนี้ แล้วพอมาถึงยุคตังเก ยุคอวนลาก เครื่องมือเคลื่อนที่มันเพิ่มมากขึ้น จำนวนเรือมันเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผลผลิตโดยรวมมันลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่ที่เรารู้สึกได้ชัดเจนก็คือขนาด ผมคิดว่านอกจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป การใช้เครื่องมือประมงที่มากเกินกว่าที่ธรรมชาติจะให้เราได้มีผลมาก"

ที่ผ่านมาแม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการหลายอย่างเพื่อรักษาทรัพยากรปลาทูไว้ ไม่ว่าจะเป็น การปิดอ่าว หรือการห้ามใช้เครื่องมือประมงบางประเภทในการทำประมงในเขตพื้นที่ผสมพันธุ์วางไข่และอนุบาลลูกปลาทู เพื่อเปิดโอกาสให้ประชากรปลาทูมีเพิ่มมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่านอกจากจะยังไม่สามารถคืนความอุดมสมบูรณ์ให้อ่าวไทยได้อย่างแท้จริง ยังสร้างเงื่อนไขที่ทำให้ประมงพื้นบ้านอยู่ยากขึ้นทุกวัน ขณะที่ประมงผิดกฎหมายกลับมีช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์จากทะเลไทยอยู่นั่นเอง

“ปัญหาของเราก็คือ ข้อมูลที่มีอยู่มันไม่เป็นปัจจุบันมีแต่ข้อมูลย้อนหลัง อย่างมาตรการปิดอ่าว 15 ก.พ. ถึง 15 พ.ค.เนี่ยมันได้ผลมั้ย เราก็ทำอย่างนี้มา 20-30 ปีแล้วนะ ต้องถามตัวเอง” สุรจิต เปิดประเด็น

คลี่ปมปลาทูหาย

​เพราะปลาทูไม่ใช่แค่พันธุ์สัตว์น้ำที่หาได้ทั่วไป แต่ยังเป็นโปรตีนชั้นดีคู่ครัวไทยมานาน ปัญหาการลดลงของปลาทูจึงกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมถึงวิถีชีวิตของผู้คน ทว่าด้วยเงื่อนปมที่ผูกทับลงไปตั้งแต่การประมงที่เกินขนาด สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และมาตรการทางกฎหมายที่ยังไม่ตอบโจทย์ การแก้ไขจึงแต่ต้องคลี่ปมต่างๆ ไปพร้อมกัน

“หลักการเบื้องต้นก็คือว่า จับอย่างไรให้เหลือ กินอย่างไรให้เหลือ เพื่อความสมดุลยั่งยืนของมัน เพราะฉะนั้นมาตรการจำกัดจำนวนเรือหรืออะไรต่อมิอะไร มันต้องควบคู่ไปกับการอนุรักษ์” สุรจิต ย้ำ

ในมุมมองของนักวิชาการประมง ผศ.สมหมาย เจนกิจการ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยืนยันว่าเห็นด้วยกับมาตรการการปิดอ่าวของรัฐบาล แต่ในเรื่องของระยะเวลาที่เหมาะสมควรมีการศึกษาให้มากกว่านี้

"ตอนนี้เท่าที่พบ คือการวางไข่ช่วงเดือนพฤษภาคม ถือเป็นการวางไข่นอกฤดูกาล ทั้งนี้มีความเป็นไปได้สูงว่า นอกจากการจับปลาทูมากเกินควร และการจับในช่วงที่ปลาทูยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ โดยเครื่องมือการทำประมงบางชนิด เช่น อวนล้อมจับ อวนล้อมปั่นไฟ การเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมของธรรมชาติ ก็มีผลต่อจำนวนประชากรปลาทูไทย"

อ.สมหมาย อธิบายเพิ่มเติมว่า "ตามปกติปลาทูจะไข่ทุกเดือน แต่ในช่วงปิดอ่าว พบว่าเปอร์เซ็นต์ในการไข่ของปลาทูจะน้อยกว่าใกล้ๆ เปิด ซึ่งเป็นผลมาจากการที่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงทำให้ไข่ดีเลย์ออกไป นอกจากนี้ยังพบว่าปลายๆ ปิดอ่าว พบตัวที่มีไข่ 80 - 90 % แต่หลังจากนั้นจะลดลงเหลือ 40 - 50 % สรุปได้ว่ามีไข่ แต่ความพีคที่ว่ามากๆ จะลดลง"

นี่คือข้อมูลเบื้องต้นที่ชี้ว่าจำเป็นจะต้องมีการศึกษาวิจัยให้ชัดเจนลงไปถึงช่วงระยะเวลาปิดอ่าว 3 เดือนว่ายังใช้ได้หรือไม่ หรือควรมีการขยับเดือนรวมถึงพื้นที่ปิดอ่าวออกไปอย่างไร เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้รัฐนำไปกำหนดเป็นนโยบายต่อไป

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง อดีต ส.ว.สมุทรสงครามตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุที่มากกว่าระยะเวลาที่เหมาะสมในการปิดอ่าวว่า "ที่มันไม่ได้ผล เพราะเราไปเน้นการกำกับดูแลโดยคน ก็คือต่อเรือตรวจของกรมประมง ของตำรวจน้ำ แต่เราไม่ใช้มาตราการสนับสนุนอื่นๆ เช่น ใช้ปะการังเทียม หรือการให้ชุมชนมีส่วนร่วม"

"แต่ก่อนเคยมีการคิดกันว่าถ้าทิ้งปะการังเทียมเป็นฉากออกไปจากฝั่งในระยะที่ไม่สามารถทิ้งอวนแล้วกู้อวนขึ้นได้ ก็จะเป็นเหมือนเครื่องมือกีดขวางอวนลาก แล้วก็ใช้ปะการังเทียมเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยหลบภัยของปลาได้ด้วย โดยภายในรัศมี 3 กิโลเมตร หรือ 3 ไมล์ ถ้ามีเครื่องมือเหล่านี้เป็นระยะๆ ก็น่าจะช่วยได้ แต่มันต้องใช้งบประมาณเยอะแล้วก็ทำต่อเนื่องยาวนาน รัฐไทยก็เลยไปเลือกวิธีใช้เรือตรวจไง ทีนี้พอมันไปแขวนอยู่กับคน บางคนก็สุจริตบ้างไม่สุจริตบ้าง ก็คือถ้าเสียอะไรให้เขา ก็ไปลากได้ไปจับได้ ในช่วงที่ปิดอ่าวนั่นเอง เหมือนว่า...แกเข้ามาตรงนี้ ฉันก็ไปตรวจอีกทางนึง"

อย่างไรก็ตาม พร้อมๆ ไปกับการควบคุมการทำประมงให้สมดุลกับการขยายพันธุ์ปลาทูในธรรมชาติ การฟื้นฟูทะเลก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญ ผศ.สมหมาย เจนกิจการ บอกว่าเรื่องนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชนเพื่อให้ปลาทูได้อยู่คู่กับทะเลไทยต่อไป

"เราเองอาจไม่คิดว่าน้ำทิ้งจากบ้านเราที่ไหลลงสู่แม่น้ำและทะเลมีผลกระทบไปยังปลา ส่งผลไปยังฮอร์โมนปลา ทำให้มีช่วงเวลาสืบพันธุ์ได้น้อยลง การเพิ่มขึ้นของปลาจึงน้อยลง ดังนั้นเรื่องของการบำบัดน้ำเสียก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะชุมชนริมทะเล เป็นเมืองที่ปล่อยน้ำเสียปีละหลาย 10 ตัน" 

คำถามก็คือ ปัญหามากมายไล่ตั้งแต่บนดินถึงในทะเลอย่างนี้ เราจะเริ่มต้นแก้กันตรงไหน

กู้วิกฤตด้วยงานวิจัย

จำนวนปลาทูที่ลดลงสวนทางกับราคาที่พุ่งสูงขึ้นคือผลกระทบที่ผู้บริโภคสัมผัสได้ แต่จะแก้ไขกันอย่างไรคงต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำไม่ใช่แค่การคาดการณ์เหมือนที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ ผศ.เมธี แก้วเนิน นักวิชาการประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ร่วมกับนักวิจัยจำนวนหนึ่งศึกษา “การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมมีผลต่ออุณหภูมิและแพลงก์ตอนพืชซึ่งเป็นอาหารของปลาทู” ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อปูทางสู่การกู้วิกฤตปลาทู

"ในอดีตกรมประมงได้เคยมีการศึกษามาบ้างแล้ว แต่ข้อมูลนั้นค่อนข้างนานไม่มีการอัพเดท ในส่วนของการออกมาตรการปิดอ่าว เพื่อคุ้มครองการแพร่พันธุ์ปลาทูและให้โอกาสลูกปลาทูเจริญเติบโตก็ยังขาดข้อมูลเชิงลึกว่ามาตรการตรงนี้ยังจะใช้ได้อยู่หรือไม่ หมายถึงสถานที่และระยะเวลาที่กำหนดว่าช่วงไหนบริเวณใดที่ควรปิดอ่าว"

ดังนั้นในภาพรวมของโครงการจะมีการทำงานใน 3 ส่วนหลักๆ คือ หนึ่ง ศึกษาว่าบริเวณใดมีแพลงก์ตอนพืช-อาหารของปลาทูอยู่ โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมย้อนหลัง 10 ปีที่ดูตัวคลอโรฟิลด์ A หลังจากนั้นจะมีการเก็บข้อมูลภาคสนามเก็บตัวอย่างลูกปลาทูในระยะเวลาต่างๆ เก็บตัวอย่างแพลงก์ตอนพืชที่มีอยู่จริงในทะเล เก็บตัวอย่างคุณภาพน้ำว่าทั้งหมดนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร หากหาเจอก็สามารถคาดเดาได้ว่าบริเวณใดมีลูกปลาทูอยู่ ซึ่งจะทำให้ในอนาคตสามารถบริหารจัดการการจับปลาทูได้ดีขึ้น

สอง คือการเก็บตัวอย่างปลาทูจากเรือประมง โดยการผ่าท้องดูรังไข่ อัณฑะ และดูความสัมพันธ์กับฤดูปิดอ่าว ซึ่งเป็นช่วงที่คาดว่าเป็นฤดูวางไข่ ศึกษาเวลาเดิมของการปิดอ่าวว่ายังใช้ได้หรือไม่ อาหารที่พบเป็นแพลงก์ตอนพืชชนิดใด ในส่วนนี้จะมีการใช้ข้อมูลที่กรมประมงเก็บไว้แล้วมาเชื่อมโยงกับข้อมูลที่เก็บมาใหม่

สาม การสำรวจข้อมูลทางเศรษฐกิจ สังคม ความคิดเห็นของชาวประมง แม่ค้า แพปลา ว่าสถานการณ์การค้าปลาทูเป็นอย่างไรบ้าง จับได้มากน้อยแค่ไหน กลไกการตลาดเป็นอย่างไร

“เราพยายามหาคุณค่าทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไปให้ได้ เช่น ถ้าจับแต่ตัวเล็กจะสูญเสียแค่ไหน จะได้เป็นข้อมูลพื้นฐานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ได้” ผศ.เมธี กล่าว

ส่วนคำถามที่ว่าปลาทูจะกลับมาเป็นสัตว์เศรษฐกิจหรือสินค้าทางวัฒนธรรมได้หรือไม่ คงไม่ได้อยู่ที่ดินฟ้าอากาศเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจัง โดยเฉพาะจากคนที่ยังเห็นค่าของปลาทู

"จริงๆ แล้วปลาทูเคยเป็นอาหารโปรตีนที่มีราคาถูกที่สุด แถมยังมีโอเมก้า 3 ซึ่งการได้รับไอโอดีนจากปลาทู ปลาทะเล มีผลต่อพัฒนาการของสมอง แล้วมันก็อยู่ในสำรับอาหารหลักของคนไทยแทบทั้งประเทศ เพียงแต่ถ้าอยู่ไกลก็เป็นปลานึ่ง ปลาเค็มไป ที่อยู่ใกล้ก็กินกันเป็นปลาสด ถือเป็นความโชคดีของคนไทย แต่ตอนนี้น่าเสียดายที่ีสัดส่วนประมงทะเลซึ่งเคยมีถึง 80% กำลังจะเปลี่ยนเป็นปลาจากการเพาะเลี้ยง พูดตรงๆ ก็คือการเพาะเลี้ยงของอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ ความหลากหลายทางชีวภาพมันกำลังหายไป ยิ่งถ้ามันมีสายพันธุ์ที่ด้อยแล้วลงไปปะปนกับในธรรมชาติมันก็จะพากันด้อยหมด" 

ในมุมนี้การอนุรักษ์ทะเล อนุรักษ์ปลาทูในธรรมชาติ จึงหมายถึงความมั่นคงทางอาหารอย่างหนึ่งด้วย

"ในส่วนของวัฒนธรรมอาหาร เมนูปลาทูอย่างเดียวก็ 50 ชนิดแล้ว เพราะฉะนั้นมันสำคัญมากหากว่าปริมาณปลาทูที่จับได้ลดลงหรือไม่ยั่งยืนก็จะกระทบต่อคุณภาพชีวิตเราด้วย” คนรักแม่กลองทิ้งท้ายให้คิดก่อนอ่าวไทยจะไร้ปลาทู