“BLIX POP” ความสนุกในโลกมืด
“BLIX POP”ของเล่นเสริมพัฒนาการน้องๆ ผู้พิการทางสายตา จากของเล่นเพื่อคนในโลกมืด สู่ความสนุกที่เล่นด้วยกันได้ของเด็กๆ ทุกคน
ตัวต่อเสริมจินตนาการ ประกอบเป็นทางเดิน เนินเขา สนามหญ้า ลาดเอียง สูง ต่ำ ไปตามความคิดสร้างสรรค์ของน้องๆ นี่คือ “BLIX POP” (บลิกซ์ พ็อพ) ของเล่นเสริมพัฒนาการน้องๆ ผู้พิการทางสายตา และเด็กทั่วไป วัยตั้งแต่ 5-10 ขวบ ตามสโลแกน “Playground for All” พื้นที่แห่งความสนุกสำหรับ “เด็กทุกคน”
คนเบื้องหลัง ที่สร้างสรรค์ความสนุกในโลกมืด คือ นักออกแบบรุ่นใหม่ วัย 29 ปี “กี้-ณัชชา โรจน์วิโรจน์” ประธานกรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง บริษัท บลิกซ์ พ็อพ จำกัด ผลงานสร้างสรรค์ เกิดขึ้นระหว่างทำธีสิสจบปริญญาโท ในสาขาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (Industrial Design) ที่ Academy of Art University,San Francisco สหรัฐอเมริกา
เธอเลือกทำโปรเจคออกแบบของเล่นให้น้องๆ ผู้พิการทางสายตา โดยได้แรงบันดาลใจมาจากตอนไปเป็นอาสาสมัคร สอนน้องๆ ที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ระหว่างกลับมาประเทศไทย
โจทย์ที่ได้จากการไปสอบถามอาจารย์ในโรงเรียนสอนคนตาบอด และศาสตราจารย์ในต่างประเทศ รวมถึงการสำรวจวิจัยเบื้องต้น พบว่า ไม่ว่าจะเด็กพิการหรือเด็กปกติทั่วไป ต่างต้องการของเล่นที่เสริมสร้าง “กล้ามเนื้อมัดใหญ่” เพื่อที่จะได้ทรงตัวได้ดี ไม่เป็นเด็กปวกเปียก ขณะที่ของเล่นทั่วไปที่มีอยู่ตามโรงเรียนนั้น ล้วนถูกออกแบบมาให้เด็กตาดีเล่น ซึ่งน้องๆ ที่ตาบอดสนิท ทั้งเล่นได้ยาก และไม่ปลอดภัยสำหรับพวกเขา
เธอเลยมาออกแบบเป็นตัวต่อสนามเด็กเล่นในร่ม ซึ่งมีอยู่ 4 รูปแบบ และใน 1 ชุด มี 40 ชิ้น โดยสามารถนำทุกชิ้นมาต่อประกอบกันได้หมด และเด็กๆ รับรู้ความแตกต่างของแต่ละชิ้นได้ด้วยการสัมผัส จึงไม่เป็นอุปสรรคสำหรับน้องๆ ในโลกมืด เลยเป็น การออกแบบที่ตอบโจทย์ “เด็กทุกคนเล่นได้” อย่างแท้จริง
2 ปี ที่ใช้ไปกับการทำวิจัย บินไปๆ กลับๆ ระหว่างเมืองไทยกับเมืองนอก กี้บอกว่า เหมือนได้เข้าไปอยู่ในอีกโลกหนึ่ง ไม่ใช่โลกของคนตาดี แต่เป็นโลกใบเดียวกับน้องๆ ตาบอด เธอเลยเข้าใจ และอิ่มใจทุกครั้งที่ได้เห็นน้องๆ มีพัฒนาการที่ดีขึ้นจากของเล่นชิ้นนี้ เลยไม่อยากให้จบแค่ผลงานธีสิส แต่อยากให้เป็นของเล่นจริงๆ ที่เสิร์ฟความสนุกสู่เด็กๆ ทั่วโลก
“เห็นโอกาสเลยว่า เด็กๆ มีความต้องการของเล่นชิ้นนี้ และตลาดกว้างมาก ไม่ใช่แค่ในไทย แต่คือเด็กทั่วโลก แม้จะพรีเซนต์ว่า นี่เป็นของเล่นสำหรับเด็กตาบอด แต่เด็กทุกคนสามารถเล่นได้”
หลังเรียนจบเมื่อต้นปี 2558 เธอเลยเปิดตัว “BLIX POP” ขึ้น โดยที่มาของชื่อ เป็นการเล่นคำกับคำว่า “BRICK” ที่แปลว่า อิฐ ส่วน POP คือการดึงขึ้นมาแล้วไปใส่ตรงโน้น ตรงนี้ สะท้อนถึงจุดเริ่มต้นที่ใช้อิฐก่อสร้างมาเล่นกับความเป็นดีไซน์ จนกลายเป็นของเล่นคูลๆ อย่าง BLIX POP ในวันนี้
จากนั้นก็ทดสอบความเป็นไปได้ของผลิตภัณฑ์ ด้วยการนำไปให้น้องๆ ในโรงเรียนสอนคนตาบอดได้ลองเล่น แต่ด้วยทุนที่ไม่ได้มากมายนัก จึงเริ่มจากทำโครงการเปิดระดมทุนจากบุคคลทั่วไป ผ่าน Facebook ชื่อ BLIX POP "ไม่เห็น ก็เล่นได้" ในเดือนธันวาคม เพื่อระดมทุน 5 แสนบาทแรก ไปทำสินค้าจำนวน 30 ชุด แล้วมอบให้กับโรงเรียนสอนคนตาบอดทั่วประเทศ รวม 17 แห่ง
“เราอยากทดสอบโพรดักส์ และอยากได้ฟีดแบคจากผู้ใช้จริง ก่อนที่จะเอาออกไปขาย หรือไปทำในเชิงพาณิชย์ เพราะอยากมั่นใจว่า ทุกอย่างดีแล้วจริงๆ ผู้รับ รับไปต้องมั่นใจว่า มีคุณภาพแน่” เธอบอก
และไม่แค่ในไทย ที่ผ่านมายังมีโอกาสไปออกงานต่างประเทศด้วย โดยร่วมงาน International Convention for Rehabilitation Engineering & Assistive Technology (iCREATe 2015) ที่สิงคโปร์ ด้วยการสนับสนุนของ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค (NECTEC ) ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานอย่างดียิ่ง
หลังทดสอบตลาดจนแน่ใจ จึงเริ่มมาวางแผนธุรกิจ เธอบอกว่า โมเดลในการหารายได้ จะร่วมกับโครงการซีเอสอาร์ของบริษัทต่างๆ โดยให้บริษัทเข้ามาสนับสนุนสินค้า เพื่อนำไปบริจาคให้กับเด็กๆ ที่ขาดโอกาส เพื่อตอบโจทย์เด็กตาบอดเล่น “ฟรี” คนมีกำลังก็จ่าย จากนั้นก็ทำตลาดไปยัง โรงเรียนสอนศิลปะ สถาบันเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก กระทั่งโรงเรียนสอนดนตรี ที่อยากทำเป็นเพลย์โซนเล็กๆ ให้เด็กเล่น รวมไปถึง เนอสเซอรี่ สถานรับเลี้ยงเด็กที่มีอยู่ทั่วไปด้วย
“ได้เจอกับอาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านบอกว่า สินค้าของเราเป็นแนวกายภาพเด็ก ซึ่งปัจจุบันมีพวกศูนย์กายภาพเด็กอยู่เยอะมาก ยิ่งเด็กที่มีความพิการด้วยแล้ว ส่วนใหญ่ของที่มีในศูนย์ก็จะเป็นพวก Tool เป็น เครื่องมือ ไม่ใช่ Toy ของเล่น แต่ของเราเป็น Toy ที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาได้ด้วย ฉะนั้นตลาดยังมีอยู่เยอะมาก” เธอบอกโอกาส
โจทย์ในวันนี้ก็แค่ต้อง “หาตลาด” และเจาะไปยังกลุ่มเป้าหมายที่ใช่ให้ได้ พร้อมพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากทำตลาดออนไลน์ ผ่านทั้ง อินสตาแกรม, ทวิตเตอร์, ไลน์ และ Facebook และอนาคตเธอว่า ต้องทำให้คนทั่วไปเข้าถึงสินค้าได้มากขึ้น อย่าง ไปจัดตามศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนสอนคนตาบอด รวมถึงทำตลาดส่งออกด้วย
ปัจจุบัน BLIX POP ใช้โรงงานผลิตในประเทศไทย เน้นวัสดุที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ไม่มีสารพิษ มีมาตรฐาน มอก.รับรอง โดยใน 1 ชุด มีจำนวน 7 กล่อง รวม 40 ชิ้น ขายที่ราคาชุดละ 29,000 บาท
ณัชชา เรียนจบมาทางด้านการออกแบบ และวันนี้เธอก็เป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ที่ยังคงทำงานที่รักอย่างมุ่งมั่น เธอว่า การที่ดีไซเนอร์จะดีไซน์ผลงานอะไรออกมา ควรมาจาก “แรงบันดาลใจ” ที่อยากทำ เพราะจะเป็นพลังให้เราสร้างสรรค์ผลงานดีๆ ออกมาได้
“เหมือนกี้เอง ถ้าให้ไปทำอย่างอื่น หรือบอกให้ไปดีไซน์เฟอร์นิเจอร์สักตัวหนึ่ง ก็ทำได้นะ แต่ยังเฉยๆ อยู่ แต่พอบอกว่าทำให้เด็ก เพื่อช่วยให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะรู้สึกอินมาก ฉะนั้นเราต้องหาสิ่งที่เราอินก่อน เพราะมันสำคัญสุดในการออกแบบ” เธอบอก
ณัชชา ไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศตั้งแต่เด็ก โดยในวัย 17 ปี เธอไปเรียนต่อมัธยมที่ประเทศ แคนนาดา ก่อนย้ายมาเรียนปริญญาตรี ด้าน Interior Design และโท Industrial Design ที่ Academy of Art University สหรัฐอเมริกา และเพิ่งจะได้กลับมาอยู่ประเทศไทยแบบถาวรก็หลังเรียนจบเมื่อปีก่อน เธอว่า ตอนแรกก็อยากไปหางานทำตามประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ก็ไปเป็นดีไซเนอร์ตามสตูดิโอใหญ่ๆ เหมือนฝันของนักออกแบบทั่วไป ทว่าพอเริ่มโปรเจค BLIX POP มา เธอกลับพบความฝันก้อนใหม่ และดูท่าจะไม่อยากทิ้งฝันนี้ไปง่ายๆ ด้วย
“อยากเห็นว่า เด็กๆ ได้เล่น BLIX POP และมี BLIX POP อยู่ทุกที่”เธอบอกความตั้งมั่น
สองมือเล็กๆ หยิบจับ ความมุ่งมั่น และศรัทธาในสิ่งที่ทำ นำมาต่อประกอบเป็นบันไดเพื่อไปสู่ความสำเร็จ โดยเริ่มจากตัวต่อชิ้นเล็กๆ ที่ชื่อ BLIX POP ซึ่งเธอสร้างสรรค์ขึ้นในวันนี้