“Listen by Heart” สื่อสารภาษาอังกฤษในโลกเงียบ
รู้ภาษาอังกฤษก็หมดอุปสรรคในการสื่อสาร แถมยังเป็น“แต้มต่อ”ช่วยยกระดับหน้าที่การงานให้ดีขึ้นได้ไม่แค่กับคนทั่วไปแต่ยังรวมถึงผู้พิการหูหนวกด้วย
“ภาษามือ” ไม่ใช่ภาษาสากลที่ใช้เหมือนกันทั้งโลก แม้แต่อยู่กันคนละภูมิภาค ก็ยังสื่อสารต่างกันแล้ว นั่นคือเหตุผลที่ “Listen by Heart” ผู้ผลิตวิดีโอและสื่อภาพสอนภาษามือ “ภาษาอเมริกันกลาง” สำหรับผู้พิการทางการได้ยิน ถือกำเนิดขึ้น เพื่อเป็นผู้ช่วยเสริมทักษะด้านภาษาอังกฤษให้กับคนหูหนวก เปิดโลกการเรียนรู้ และการสื่อสารสู่ระดับสากล พร้อมเป็น “แรงงานคุณภาพ” ที่ต้องการของตลาดงาน ในโลกไร้พรมแดนอย่างวันนี้
เราได้รู้จักกิจการเพื่อสังคมน้องใหม่ หลังการพูดคุยกับ “โปสเตอร์-วริศรุตา ไม้สังข์” และ “นลิน-กมลนลิน กมลนาวิน” ตัวแทนจากทีม Listen by Heart หนึ่งในผู้เข้ารอบ 10 ทีม จากโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมปีที่ 6 (Banpu Champions for Change: BC6C) ที่ได้เงินทุนสนับสนุนก้อนแรก 5 หมื่นบาท มาสานต่อความมุ่งมั่น
โปสเตอร์ เล่าให้ฟังว่า เธอและสมาชิกร่วมทีม “มิลค์-วิชยาดา ปราบนอก”, “แต๊ป-ศศลักษณ์ รังพัชรายุธ” และ “เอก-สมพล รุ่งยุคันต์” ทำงานด้วยกันที่ Minute videos บริษัทผลิตวิดีโอวาดมือ ซึ่งปกติก็ชอบรวมตัวกันทำวิดีโอสอนความรู้ต่างๆ อย่าง เรื่องอาเซียน สอนฝรั่งฝึกเขียน ก.-ฮ. และทำนิทานสอนจริยธรรม ฯลฯ เพื่อ “แจกฟรี” บนยูทูปกันอยู่แล้ว
“เราคิดและทำกันเอง โดยไม่ได้ต้องการหาเงินอะไร ก็แค่อยากให้คนดูแล้วได้ประโยชน์ และแชร์ต่อไปเท่านั้น”
ขณะที่ นลิน ทำงานที่ Sprouts school โรงเรียนออนไลน์ เธอเชื่อในความสำคัญของการศึกษา และเชื่อว่าทุกคนควรเข้าถึงความรู้ได้อย่างเท่าเทียม พอได้มาเจอกับ โปสเตอร์ เลยสนใจที่จะร่วมทำโครงการนี้ด้วย เช่นเดียวกับ “อ๊อฟ-ธงชัย โพธ์เทศ” ผู้ช่วยช่างภาพแห่งทีวีบูรพา หนึ่งคนหัวใจอาสา ที่พร้อมร่วมต่อจิ๊กซอว์ให้ Listen by Heart เป็นรูปเป็นร่างขึ้น
ทำไมคนหูหนวกต้องรู้ภาษาอังกฤษ พวกเธอให้คำตอบว่า ก็เพื่อขยายพรมแดนในการติดต่อสื่อสารให้กว้างขึ้น เด็กหูหนวกจะได้ไปเปิดโลกกว้างได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป ที่สำคัญยังมีโอกาสเลือกทำงานดีๆ เช่น ในเมืองนอกที่คนหูหนวกสามารถทำงานได้หลากหลาย อย่าง นักเคมี นักบำบัด เป็นช่างภาพ ทำคอมพิวเตอร์กราฟฟิค แม้แต่เป็นล่ามในโรงพยาบาล หรือไกด์นำทัวร์นักท่องเที่ยวหูหนวกด้วยกัน ก็ยังสามารถทำได้
“เราอยากสนับสนุนให้เด็กหูหนวกจบมาแล้วมีงานทำ แต่ถ้าเขาไม่มีสกิลที่แตกต่าง สุดท้ายบริษัทก็เลือกคนหูดีอยู่ดี ไม่ก็แค่จ้างตามค่าแรงขั้นต่ำ เลยมองว่า ถ้าเขารู้ภาษาอังกฤษ อย่างน้อยก็น่าจะมีโอกาสในการหางานได้มากขึ้น เช่น ไปเป็นพนักงานโรงแรม เพราะปัจจุบันคนหูหนวกทั่วโลกก็อยากมาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น จะได้มีคนที่สื่อสารภาษาเดียวกับเขาได้”
มีความตั้งใจดี แต่ความยากตั้งแต่เริ่ม คือ เมืองไทยสื่อการสอนสำหรับคนหูหนวกยังน้อยนิด ยิ่งภาษาอังกฤษด้วยแล้ว “แทบไม่มีให้เห็น” ภาษาอังกฤษไม่ได้ถูกบรรจุลงหลักสูตรสำหรับเด็กหูหนวก ขณะผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ก็ยังมีน้อยด้วย พวกเขาเลยต้องอาศัยปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศ คุยกับอาจารย์ในโรงเรียนสอนคนหูหนวก อย่าง โรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ และไปทดสอบกับเด็กๆ ผู้พิการทางการได้ยิน เพื่อดูประสิทธิผลของสื่อที่ทำขึ้น
จากฝันในอากาศ ค่อยๆ ก่อประกอบเป็นรูปร่างขึ้น เมื่อวิดีโอชุดแรกทยอยออกมาได้สำเร็จ เริ่มจากสอน A-Z และคำศัพท์ง่ายๆ โดยทำเป็นวิดีโอขนาดสั้น เรียงตามตัวอักษร คนทำยอมรับว่าใช้เวลาทำค่อนข้างนาน เพราะการวาดมือสื่อความหมายนั้น ถ้าวาดผิดองศา ความหมายก็อาจผิดเพี้ยนได้ เลยต้องใส่ใจในการทำเอามากๆ
สื่อการสอนสุดสนุกมีทั้งบทพูดภาษาอังกฤษจากเจ้าของภาษา ภาษามือภาษาไทย ภาษามือภาษาอังกฤษ และภาพวาดการ์ตูนสวยๆ เปิดกว้างให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ผ่านโลกออนไลน์ ทั้งสองให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันผู้พิการทางหูที่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทยมีประมาณ 3 แสนคน รวมกับนอกระบบด้วยก็เชื่อว่าน่าจะมีอยู่ประมาณ 7 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นเด็กที่เข้าสู่ระบบการศึกษาเพียงประมาณ 7 พันคนเท่านั้น แต่ที่น่าสนใจคือ เกือบทั้งหมด เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ สมาร์ทโฟนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารที่สำคัญของคนในโลกเงียบ และยิ่งสมาร์ทโฟนถูกลงเท่าไร โลกของคนหูหนวกก็เปิดกว้างขึ้นเท่านั้น
สื่อการสอนออนไลน์ เลยไม่เป็นอุปสรรคสำหรับเด็กหูหนวก และแม้แต่คนหูดี ก็ยังสามารถมาเรียนรู้ภาษามือได้ง่ายๆ เพื่อเก่งทั้ง ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และภาษามือ เพิ่มแวลู่ให้ตัวเองได้อีกเพียบ ขณะที่ในอนาคตพวกเขายังเตรียมพัฒนาแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ เพื่อช่วยให้คนหูหนวกสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนการสื่อสารกันข้ามชาติได้อีกด้วย
การทำกิจการเพื่อสังคม มีโจทย์ใหญ่คือความอยู่รอดในเชิงธุรกิจ สมาชิกทุกคนยอมรับว่า โมเดลในการหาเงินเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขา เพราะคิดเสมอว่า การศึกษาควรต้องฟรี ไม่มีใครควรเสียเงินเพื่อการศึกษา
“ที่ผ่านมาเราไม่เคยคิดเรื่องเงินเลย คิดแค่ว่า มีกำลังก็ทำไป เพราะสิ่งที่พวกเราต้องการก็แค่ อยากให้คนได้ใช้ ไม่เคยคิดเรื่องต้นทุนด้วยซ้ำ แต่พอเข้าโครงการบ้านปูฯ พี่ๆ ก็ช่วยโค้ชให้ว่า ถ้าอยากอยู่ได้ด้วยตัวเอง โมเดลธุรกิจต้องชัดด้วย”
นั่นคือที่มาของการเริ่มคิดโมเดลหาเงิน ตั้งแต่ การผลิตสื่อการสอนเพื่อขายให้กับลูกค้าที่มีกำลังซื้อ เช่น โรงเรียนหรือองค์กรต่างๆ ที่ซื้อไปเพื่อทำการสอน หรือเพื่อพัฒนาบุคลากรในองค์กร เปิดหลักสูตรอบรมภาษามือภาษาอังกฤษทั้งกับคนหูดีและหูหนวก ตลอดจนจัดแคมป์สำหรับคนหูหนวก เป็นต้น รวมถึงไอเดียทำ “สติกเกอร์ไลน์ภาษามือ” ที่คนหูหนวกและหูดี สามารถสื่อสารถึงกันได้ เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนมาผลิตสื่อและขยายฐานผู้ใช้ให้มากขึ้น ตอบความยั่งยืนทั้ง ธุรกิจและสังคม
“ในอนาคตเราอยากเป็นเหมือน British Council ที่สอนภาษาอังกฤษสำหรับคนหูหนวกโดยเฉพาะ โดยจะเน้นเรื่องการแลกเปลี่ยน คือให้เขาได้พบกับฝรั่งจริงๆ และมีกิจกรรมร่วมกัน เช่น ทำแคมป์สำหรับคนหูหนวกโดยเฉพาะ” พวกเธอบอก
เป้าหมายที่ไกลกว่านั้น คือการเปิด “Silent Café” คาเฟ่เงียบ ที่พนักงานในร้านจะเป็นคนหูหนวกทั้งหมด ของที่ขายก็จะเป็นผลงานของคนหูหนวก รวมถึงสินค้ารักษ์โลก และผลิตภัณฑ์น้ำดีจากเหล่ากิจการเพื่อสังคมต่างๆ ด้วย
“ถ้าไอเดียนี้ประสบความสำเร็จ มองว่า ต้องมีคนอยากทำตามแน่นอน และถ้ามีคนเอาโมเดลนี้ไปขยายผลมากขึ้น คนหูหนวกในพื้นที่ต่างๆ ก็จะมีงานทำมากขึ้นด้วย เมื่อก่อนต่อให้เราผลิตคนแบบไหนออกมา ก็ยังไม่รู้ว่าเขาจะไปทำอะไรต่อได้ แต่ถ้ามีตรงนี้ เขาจะสามารถมาทำงาน หรือได้ไอเดียไปต่อยอดอาชีพของเขาเองได้”
แล้ว Listen by Heart อยากเป็นอะไร น้องๆ บอกแค่ ‘เป็นโลกไร้พรมแดนของคนหูหนวก และสร้างอาชีพให้กับเขาได้’
“เราอยากสร้างกลไกให้เขาสามารถไปต่อได้ ไม่ใช่แค่ให้การศึกษา แต่ต้องเห็นอนาคตด้วยว่า จากนี้เขาจะมีอาชีพที่ดี และมีความมั่นคงได้เหมือนคนทั่วไป ขณะที่คนหูดีก็สามารถสื่อสารกับคนหูหนวกได้อย่างไร้พรมแดนด้วย” น้องๆ บอกความหวัง
ทั้งสองคนเป็นตัวอย่างของเด็กไทย ที่มีทางเลือกมากมายในชีวิต ทว่ายังแบ่งเวลามาทำเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยที่เรื่องเงินไม่ได้อยู่ในความคิดด้วยซ้ำ น้องๆ บอกความเชื่อแค่ว่า ถ้าสังคมดี ทุกคนก็จะดีไปด้วย
“ถ้าเราได้ดีคนเดียว ในขณะที่สังคมรอบข้างไม่ดี ต่อให้เราทำของดีขึ้นมาขาย แต่คนรอบข้างไม่มีกำลังซื้อ ธุรกิจก็อยู่ไม่ได้ ในทางกลับกัน ถ้าเราโต แล้วรอบข้างดีไปพร้อมกับเราด้วย เราก็อยู่ได้ สังคมก็อยู่ได้ด้วย”
ในวันนี้ ช่องว่างที่เคยกว้างระหว่างคนหูดีและหูหนวก จะค่อยๆ แคบลง ด้วยการสื่อสารไร้พรมแดน จากผู้ก่อการดีที่ชื่อ..Listen by Heart