'บีอาร์ที' ไปไม่รอด! ขาดทุนพันล้าน
"บีอาร์ที" ไปไม่รอด! ขาดทุนพันล้าน กทม. เตรียมเปลี่ยนใช้รถรางไฟฟ้าหลังหมดสัญญา เม.ย.ปี 60 พบยอดผู้โดยสารไม่เข้าเป้า 3 หมื่นคนต่อวัน
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(กทม.) มีรายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้สำนักการจราจรและขนส่ง(สจส.) อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบระบบรถรางไฟฟ้า (แทรม) ทั้งข้อดีและข้อเสีย รวมทั้งการพัฒนาเส้นทาง เพื่อทดแทนโครงการรถโดยสารด่วนพิเศษ(บีอาร์ที) สายสาทร-ราชพฤกษ์ เนื่องจากเป็นรูปแบบที่ดีกว่า เพราะในเดือนเม.ย.2560 จะสิ้นสุดสัญญาโครงการและจะยกเลิกโครงการทันที
“ในเบื้องต้นระบบรถรางไฟฟ้า จะใช้แบตเตอรี่และโซลาร์เซลล์สามารถชาร์จไฟที่สถานีได้ ส่วนแนวเส้นทางจะปรับให้เชื่อมกับรถไฟฟ้าบีทีเอสต่อไป ส่วนรถเมล์บีอาร์ทีจะนำไปใช้งานในหน่วยงานของกทม. อาทิ สวัสดิการให้กับข้าราชการและบุคลากรของกทม.หรือรับส่งนักเรียนโรงเรียนในสังกัดกทม.” รายงานข่าวเผย
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ขณะเดียวกันตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบันมีผู้โดยสารทั้งสิ้น 33,741,471 เที่ยวต่อคน ปริมาณโดยสารเฉลี่ย 2.3 หมื่นเที่ยวคนต่อวัน ซึ่งไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้คือ 3 หมื่นเที่ยวคนต่อวัน นอกจากนี้ตั้งแต่เปิดให้บริการประชาชนก็พบว่า ขาดทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งกทม.ต้องใช้งบประมาณในการสนับสนุนปีละประมาณ200ล้านบาททุกปีทำให้เสียงบประมาณอย่างไรก็ตามกทม.ได้เริ่มให้บริการรถโดยสารด่วนพิเศษ(บีอาร์ที)เส้นทางช่องนนทรี-ราชพฤกษ์ระยะทาง15.9กิโลเมตรเมื่อวันที่23พ.ค.2553ด้วยงบลงทุน 2,009,700,000 บาทตามนโยบายของผู้ว่าฯกทม.เพื่อพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนที่มีในปัจจุบันให้สมบูรณ์แต่ไม่ได้ออกแบบให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนแต่เป็นการสร้างต้นแบบการเดินทางในเมืองให้มีความปลอดภัยมากที่สุดเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนใช้บริการระบบขนส่งมวลชนแทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเป็นระบบขนส่งที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าให้ประชาชนเดินทางเข้าสู่ระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว
“สำหรับสถิติผู้โดยสารตั้งแต่เริ่มดำเนินการจนถึงวันที่31พ.ค.2559 มีผู้โดยสารทั้งสิ้น 33,741,471 เที่ยวต่อคน ปริมาณโดยสารเฉลี่ย 2.3 หมื่นเที่ยวต่อคนต่อวัน และปริมาณโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 2.8 หมื่นเที่ยวต่อคนต่อวัน โดยช่วงที่1 ตั้งแต่วันที่ 29พ.ค.– 31ส.ค.2553 ไม่เก็บค่าโดยสารมีปริมาณผู้โดยสาร 1,423,428 เที่ยวต่อคน ช่วงที่2 ตั้งแต่1ก.ย.53 – 14เม.ย.2556 เก็บค่าโดยสารในอัตรา 10 บาท มีปริมาณผู้โดยสาร 11,894,347เที่ยวต่อคน และช่วงที่3 ตั้งแต่ 15เม.ย. 56 – 31พ.ค.2559 เก็บค่าโดยสารในอัตรา5บาท มีปริมาณผู้โดยสาร20,423,696เที่ยวต่อคน” รายงานข่าวระบุ