ตามหา “เมตตาธรรม”
การแบ่งแยกและเกลียดชัง” โดยไม่มีสาเหตุรูปธรรมส่วนตัว เริ่มกลายเป็นประเด็นที่ชาวโลกและสังคมไทยต้องหันมาพิจารณาไตร่ตรอง
“การแบ่งแยกและเกลียดชัง” โดยไม่มีสาเหตุรูปธรรมส่วนตัว เริ่มกลายเป็นประเด็นที่ชาวโลกและสังคมไทยต้องหันมาพิจารณาไตร่ตรอง หลังเกิดเหตุรุนแรงสะเทือนขวัญสลดใจนับครั้งไม่ถ้วน ล่าสุดคือการบุกเดี่ยวเข้าไปรัวปืนกลกราดยิงผู้คนในบาร์เกย์ที่เมืองออร์แลนโด สหรัฐอเมริกา จนมีผู้เสียชีวิตในคราเดียวถึง 50 ราย
เรื่องใหญ่ก็เป็นข่าวใหญ่ แต่ยังมีเรื่องเล็กที่ไม่เป็นข่าวอีกมากมาย การประทุษร้ายด้วยวจีกรรมโดยไม่ต้องรู้จักกัน แม้ไม่เจ็บตัวถึงตาย ก็อาจก่อความเสียหายทุกข์ร้อน และดึงดูดสังคมลงสู่หลุมดำแห่งความถ่อยเถื่อนรุนแรงในที่สุด หลายครั้งที่เราได้เห็นเรื่องที่ควรโต้เถียงอภิปรายด้วยหลักการและเหตุผลอย่างสร้างสรรค์ กลับกลายเป็นการแบ่งค่ายป้ายสี ด่าทออาฆาตมาดร้ายต่อกันอย่างไร้สติ
ศัพท์บางคำที่เราคุ้นเคยกันดีเมื่อสิบยี่สิบปีก่อน ดูจะเลือนหายไปจากสำนึกของสังคมไทย เดี๋ยวนี้ไม่มีใครเอ่ยคำว่า “เมตตา-กรุณา-ปรานี” ทั้งที่แต่ก่อนเราเคยท่องจำขึ้นใจว่า สามคำนี้มีข้อแตกต่างกันอย่างไรและควรเลือกใช้ในกรณีไหน กระทั่งคำตำหนิติเตียนว่าใคร “ใจร้าย-ใจจืด-ใจดำ”ก็เลิกใช้กันเพราะมันกลายเป็นเรื่องปกติสามัญไปแล้ว หรือถ้าใครพยายามมองโลกและผู้อื่นในแง่ดีบ้าง ก็จะโดนเย้ยหยันว่าเป็นพวก “โลกสวย”... นี่ยังไม่ต้องพูดถึงการใช้ทุรวาจาถ้อยคำรุนแรงที่เป็นกระแสนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
ถ้าหากศัพท์แสงภาษาคือดัชนีชี้วัดค่านิยมและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในสังคม โลกออนไลน์ก็คือแหล่งผลิตคนปากร้าย ใจร้าย (และผู้ก่อการร้าย) ในปริมาณสูงสุด ด้วยต้นทุนต่ำสุด และไร้ความรับผิดชอบมากที่สุด
ปิดหน้าจอ หลีกหนีสังคมสมมุติโลก ไปตามหาถ้อยคำที่หายไปดีกว่า.. ---------
ทุกครั้งที่ได้ไปเยือนประเทศแถบหิมาลัย เราจะสะดุดตากับเทวรูปต่างๆ ที่ให้ความสำคัญกับเพศหญิงมากกว่าศาสนาพุทธนิกายเถรวาทบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพราหมณ์(ฮินดู) พุทธนิกายวัชรยาน หรือมหายาน และยังเป็นที่เคารพบูชาในระดับสูงสุดอีกด้วย นั่นทำให้นึกถึงเจ้าแม่กวนอิมของชาวพุทธในจีน และเทพีเอลิออสของกรีก.. จะศาสนาใด ต่างต้องมี”ผู้หญิง”เป็นสัญญลักษณ์ของเมตตาธรรม !
“พระแม่ตารา” พระโพธิสัตว์ฝ่ายหญิงของพุทธวัชรยาน (ทิเบต เนปาล สิกขิม อินเดียเหนือ) ซึ่งถือกันว่าเป็นองค์เดียวกับเจ้าแม่กวนอิมของจีนมหายาน มีเรื่องราวชาดกที่แสนสะเทือนใจ..
“เมื่อพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเสด็จประทับเหนือขุนเขา ทรงนึกถึงปวงสัตว์โลกที่เวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร ทนทุกข์ทรมาน โหยหิว ส่งเสียงคร่ำครวญเป็นที่น่าเวทนาไม่รู้จบสิ้น พระองค์รู้สึกสงสารมวลมนุษย์ จนน้ำพระเนตรหลั่งลงเกิดเป็นทะเลสาบใหญ่ และมีดอกบัวผุดขึ้นในทะเลสาบ ในดอกบัวสองดอกมีพระนางตาราสององค์สถิตอยู่ องค์หนึ่งขาว องค์หนึ่งเขียว แม้กำเนิดเป็นผู้รู้แจ้ง หลุดพ้นจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง แต่พระนางทรงตั้งปณิธานว่าจะไม่ละจากสังสารวัฏไปสู่นิพพาน จนกว่าจะช่วยให้สัตว์โลกทั้งปวงหลุดพ้นจากทุกข์และเข้าถึงการตรัสรู้ และต่อมาทั้งสองพระนางได้อวตารเป็นธรรมทูตนำศาสนาพุทธมาประดิษฐานในทิเบต”
ตำนานพระโพธิสัตว์ปางนี้ทำให้ซาบซึ้งในพุทธธรรมคำสอนที่ว่า “เมตตาธรรมค้ำจุนโลก” ต่อให้เป็นเรื่องศรัทธาจินตนาการของศาสนิกชนคนโบราณ เราก็ยังจับประเด็นได้ว่า เมตตาจิตนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการเยียวยาบรรเทาทุกข์ของทั้งสังคม
ทางศาสนาฮินดูก็มี”พระแม่อุมาเทวี” ชายาพระศิวะและมารดาพระพิฆเณศ ทรงมีรูปโฉมงดงาม เปี่ยมด้วยความเมตตา เป็นมารดาแห่งสรรพชีวิต ทรงเสือเป็นพาหนะ-หมายถึงพลังอำนาจ ความยิ่งใหญ่ และความสง่างาม พระแม่อุมาเทวียังมีอวตารอีกหลายปาง ที่สำคัญคือปางพระแม่ทุรคาและปางพระแม่กาลี อันเป็นภาค”เข้มแข็งเด็ดเดี่ยว”และ ”ดุร้าย” ของเพศหญิง
ชาวไทยพุทธมักเข้าใจผิดคิดไปว่า เพราะเจ้าแม่กาลีโหดร้ายน่ากลัว ชาวฮินดูจึงต้องกราบไหว้บูชาให้พ้นภัย จริงๆ แล้วมีตำนานว่า พระแม่กาลีได้ปกป้องเหล่าทวยเทพด้วยการต่อสู้กับ“อสูรทารุณ”ซึ่งมีชีวิตเป็นอมตะ หากเลือดอสูรตนนี้ตกถึงพื้นดินจะเกิดเป็นอสูรอีกมากมายไม่สิ้นสุด พระนางจึงตัดหัวและดื่มเลือดอสูรทุกครั้งก่อนตกถึงพื้น จนสามารถพิชิตได้ในที่สุด แม้วรกายพระนางชุ่มโชกโลหิต พุงกางด้วยความอิ่ม และในมือถือหัวอสูรที่ร้อยเป็นพวง จนดูน่าสะพรึงกลัว แต่เแท้จริงแล้ว พระแม่กาลีคือวีรสตรีผู้เสียสละปกป้องสังคมเทพ เฉกเช่นเดียวกับแม่ที่สู้ยิบตาเพื่อปกป้องลูกน้อย
ตำนานพระแม่อุมา-กาลี ของฮินดู ก็นำเราไปสู่ข้อสรุปเดียวกันกับเรื่องของพระแม่ตาราแห่งทิเบต...
ความเมตตา คือความรักความปรารถนาดี ที่ทำให้รู้จักอดทน กล้าหาญ เสียสละ เพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่นและสังคมโดยรวม
หวังว่า ความเมตตาจะไม่กลายเป็นเพียง “คุณธรรมในตำนาน” ในสังคมยุค “คุณน่ะทำ”