พนง.อัครา จี้สธ.เร่งพิสูจน์โลหะหนัก-สุขภาพปชช.

พนง.อัครา จี้สธ.เร่งพิสูจน์โลหะหนัก-สุขภาพปชช.

พนง.อัครา จี้สธ.เร่งพิสูจน์โลหะหนัก เผยแพร่ข้อมูลผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชนรอบเหมืองแร่

นายยุทธ ศรีทองสุข ตัวแทนเครือข่ายพนักงาน บมจ. อัครา รีซอร์สเซส และบริษัท โลตัสออล วิศวกรรมเหมืองแร่และก่อสร้างจำกัด กว่า 40 คน เดินทางมายื่นจดหมายเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชนรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี ซึ่งข้อมูลหลายชุดนั้นเป็นข้อมูลการตรวจสอบจากหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุขเอง พร้อมวิงวอนให้สื่อมวลชนช่วยเป็นสื่อกลางในการกระจายข้อเท็จจริงและข้อมูลที่ถูกต้องให้ประชาชนในพื้นที่โดยรอบเหมืองฯ ตลอดจนประชาชนและสังคมโดยทั่วไปมีความรู้ ความเข้าใจมากขึ้น หวังช่วยคลายความวิตกกังวลในการใช้ชีวิตประจำวันอันเกิดมาจากข้อมูลเท็จและข่าวลือจากกลุ่มผู้ไม่ประสงค์ดี

นายยุทธ กล่าวว่าวัตถุประสงค์ของการเดินทางมาที่กระทรวงสาธารณสุขในวันนี้ว่า เนื่องจากในปัจจุบัน มีการนำข้อมูลเท็จซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริงจากหลายแหล่งที่มา มาใช้กระจายทั้งในชุมชนและในสื่อหลายช่องทางซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจผิด สร้างความวิตกกังวลในสังคม ทางเครือข่ายฯ เห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขในฐานะหน่วยงานราชการที่เป็นกลาง มีความรู้ มีความน่าเชื่อถือ และมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องสาธารณสุขของประเทศ ควรนำข้อมูลที่ถูกต้องด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมตามหลักวิชาการและเป็นวิทยาศาสตร์มาเผยแพร่แก่ประชาชนให้ได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง

ซึ่งที่ผ่านมาหลายหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขได้มีการลงพื้นที่เก็บตัวอย่างคุณภาพน้ำประปา ปริมาณสารต่างๆ ในพืชผัก ดิน ฝุ่น อย่างต่อเนื่อง โดยผลการตรวจสอบกลับไม่พบการปนเปื้อนของสารหนูและโลหะมีพิษในน้ำประปา และพืชผักแต่อย่างใด ยกเว้นเหล็กและแมงกานีส ซึ่งสามารถพบได้ทั่วไปในหลายพื้นที่ของประเทศ แต่กลับไม่มีการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในชุมชน และประชาชนทั่วไปได้รับทราบทั่วกัน ในขณะเดียวกันกลับมีบุคคลภายนอกพื้นที่บางกลุ่มพยายามโฆษณาถึงพิษภัยจากสิ่งแวดล้อมและพืชผักในพื้นที่ ซึ่งไม่เป็นความจริงทำให้เกิดความวิตกกังวล หรือหวาดกลัวเกินเหตุ ส่งผลกระทบทั้งต่อการค้าขายพืชผักในพื้นที่ด้วย

นายยุทธ กล่าวต่อไปอีกว่าจึงขอเร่งรัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลการตรวจวัดทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น คุณภาพน้ำประปา ปริมาณสารต่างๆ ในพืชผัก ดิน ฝุ่น ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข ให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ได้รับทราบข้อเท็จจริงทางวิชาการ จะได้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องคลายความกังวล และสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปรกติ นอกจากนั้นยังเพื่อให้บริษัทฯและหน่วยงานรัฐอื่นๆ สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปดำเนินการให้เกิดประโยชน์ในงานต่างๆ เช่น เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชาวบ้านในชุมชนรอบเหมืองต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เครือข่ายพนักงาน บมจ. อัครา รีซอร์สเซส และบริษัท โลตัสออล วิศวกรรมเหมืองแร่และก่อสร้าง จำกัด ยังตั้งข้อสังเกตและเรียกร้องขอให้มีการเร่งดำเนินการพิสูจน์ทราบโดยเร็วว่าการที่ชาวบ้านมีสารหนูและแมงกานีสในร่างกายเกินเกณฑ์มาตรฐานนั้นเกิดจากสาเหตุใด แตกต่างอย่างไรจากพื้นที่อื่นๆที่อยู่ไกลจากพื้นที่เหมืองแร่ทองคำชาตรี เนื่องจากข้อมูลที่สามารถสืบค้นได้ตามเว็ปไซต์ต่างๆ ของทางราชการ เช่น กรมอนามัย แสดงให้เห็นว่าเคยมีการตรวจหาสารโลหะหนักในร่างกายของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่อื่นๆในอดีตมากพอที่จะสรุปได้ว่า มีค่าเฉลี่ยของสารโลหะหนัก หรือสัดส่วนของผู้ที่มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานไม่แตกต่างจากชาวบ้านในพื้นที่รอบเหมืองแต่อย่างใด อีกทั้งขอให้มีการเร่งพิสูจน์ทราบและให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชนกรณีมีกลุ่มบุคคลอ้างว่า มีผู้เสียชีวิตเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการประกอบการของเหมือง ซึ่งสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของบริษัทฯ และสร้างความตื่นตระหนกต่อประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้นำข้อมูลการตรวจสุขภาพตามมาตรการรายงานผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (อีเอชไอเอ ) ที่ทาง บมจ. อัครา รีซอร์สเซส จัดตรวจให้กับประชาชนรอบเหมืองโดยโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล และมีการนำส่งผลการตรวจเลือดและปัสสาวะจากห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์จากโรงพยาบาลรามาธิบดีมาใช้พิจารณา ในคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ปัญหาข้อขัดแย้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ ทั้ง 2 ชุด ร่วมกับผลการตรวจของกระทรวงสาธารณสุขและของมหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อให้เกิดการพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้าน โปร่งใส และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย