‘จ้างงานคนพิการ’ พันธกิจร่วมใจ “รัฐ-เอกชน-สังคม”
วันนี้ประตูแห่งโอกาสเปิดกว้างสำหรับผู้พิการ เมื่อ รัฐ เอกชน และประชาสังคม ประกาศจ้างงานคนพิการ 10,000 อัตรา เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ 1,000 ล้าน!
ตลอด 2 ปี ของความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ในการสนับสนุนการประกอบอาชีพคนพิการ ด้วยการจ้างงานคนพิการให้เป็นพนักงานปฏิบัติงานเพื่อชุมชน หรือทำงานสาธารณะประโยชน์ในท้องถิ่นใกล้ๆ บ้าน ทดแทนการว่าจ้างผู้พิการเป็นพนักงานในสถานประกอบการ ตามมาตรา 33 สร้างโอกาสและทางเลือกใหม่ ให้กับผู้พิการที่ต้องการใช้ศักยภาพของตนเองในการสร้างงานและสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น
หนึ่งภาพสะท้อนความสำเร็จ คือการขยายผลการสร้างเครือข่ายภาคี โดยมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ร่วมผลักดันโครงการกันมาตั้งแต่ปี 2557
ซึ่งในปี 2559 นี้ทุกภาคส่วนทั้ง รัฐ เอกชน และประชาสังคม ได้ร่วมกันตั้งเป้าหมายที่ท้าทายขึ้น ผ่านหัวเรือใหญ่ 6 องค์กรวิชาชีพ ได้แก่ หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และบริษัทเอกชนกว่า 200 องค์กร พวกเขาร่วมประกาศเจตจำนงผ่านโครงการ “สานพลังสู่มิติใหม่ สร้างงาน สร้างอาชีพคนพิการ 10,000 อัตรา” ซึ่งได้แรงผลักดันจากภาคนโยบายสองกระทรวงหลัก คือ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยคาดหวังเป้าหมายร่วมกันว่า จะเกิดโอกาสการจ้างงานและส่งเสริมอาชีพคนพิการได้ครบ 10,000 อัตรา ภายในสิ้นปีนี้
อภิชาติ การุณกรสกุล ประธานกรรมการมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม บอกเราว่า ตลอดสองปีที่ผ่านมา มี 88 องค์กรเอกชน ที่สามารถจ้างงานคนพิการและส่งเสริมอาชีพ กว่า 1,277 คน จากที่เงินก้อนเดิมซึ่งเคยถูกนำส่งกองทุนฯ ปีละกว่า 2,000 ล้านบาท (ม.34 ทดแทนการจ้างงานคนพิการ) ได้เปลี่ยนไปสร้างโอกาสให้คนพิการมีงานทำใกล้บ้านมากขึ้น และประกอบอาชีพอิสระ พึ่งพาตนเองได้อย่างมีเกียรติศักดิ์ทัดเทียมบุคคลอื่นในสังคม
ซึ่งหากคำนวณตามกฎหมายกำหนดให้สถานประกอบการรับคนพิการเข้าทำงานในอัตราส่วนลูกจ้างต่อคนพิการ 100:1 ทำให้มีจำนวนคนพิการที่สถานประกอบการต้องจ้างรวม 55,283 ตำแหน่ง ซึ่งปัจจุบันพบว่า สถานประกอบการสามารถจ้างงานคนพิการได้เพียง 34,383 ตำแหน่ง หรือคิดเป็น 62% เท่านั้น และหากสถานประกอบการใดไม่สามารถจ้างคนพิการได้ครบก็จะต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในอัตรา 109,500 บาทต่อคนต่อปี ดังนั้นถ้าสามารถร่วมมือกันขับเคลื่อนการจ้างงานคนพิการให้ได้ตามเป้าหมาย 10,000 อัตราในปีนี้ เท่ากับสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากถึง 1,000 ล้านบาท!
ด้านตัวแทนภาคเอกชนอย่าง คมกริช นาคะลักษณ์ ผู้อำนวยการด้านบริหารธุรการสัมพันธ์ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด หนึ่งใน 20 บริษัทแรก ที่ร่วมนำร่องการจ้างงานผู้พิการทำงานในชุมชน เมื่อปี 2557 ได้เล่าให้ฟังว่า หลังจากได้รับรู้โครงการจ้างผู้พิการทำงานพัฒนาชุมชน จึงเกิดความสนใจในไอเดีย แม้ในตอนนั้นจะติดเงื่อนไขที่กฎหมายยังตีความเรื่องดังกล่าวไม่ชัดเจนนัก แต่บริษัทก็ตัดสินใจเลือกที่จะเดินหน้าในเรื่องนี้ โดยการเปิดให้ชุมชนเป็นคนคัดเลือกพนักงานเอง เพราะเชื่อว่า ชุมชนย่อมรู้ดีว่าใครมีศักยภาพแค่ไหน ซึ่งปีแรกมิตรผลสามารถจ้างงานผู้พิการได้ครบตามเป้าหมาย โดยทั้ง 35 คน ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ในโรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และเป็นผู้ช่วยด้านพัฒนาชุมชน โดยให้กรรมการในชุมชนเป็นผู้ประเมินผลการทำงานพนักงานแต่ละคนเองว่าทำงานได้เหมาะสมหรือไม่
“หลังจากทราบว่า วิธีการจ้างงานแบบนี้ยังสามารถหักภาษีได้ถึงสองเท่า จากที่เราจ่ายค่าจ้างปีละ 6 ล้านบาท จึงได้คืนอีก 20% ผมเลยไปขออนุญาตทางบอร์ดบริหารว่า เงินจำนวนกว่าล้านบาทที่ได้คืนมานี้ จะขอจ้างงานผู้พิการเพิ่มให้เต็มอัตรา สรุปว่า ปี 2558-2559 บริษัทเราสามารถจ้างงานผู้พิการได้เพิ่มเป็นกว่า 70 คน” เขาบอก
สำหรับพนักงานผู้พิการที่โรงงานจ้างจะแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่มีศักยภาพ จะให้ไปช่วยงานในไร่อ้อย ส่วนกลุ่มที่ยังขาดศักยภาพหรือไม่มีประสบการณ์ความรู้ โรงงานจะส่งเสริมให้รวมกลุ่มกันและรับจ้างปลูกผักส่งให้กับโรงครัวของบริษัท ผลจากการสร้างโอกาสใหม่ให้ผู้พิการ พบว่า ชุมชนหลายแห่งเริ่มเห็นผู้พิการเป็นบุคคลมีตัวตนขึ้น จึงเริ่มหันมาให้การสนับสนุนผู้พิการในชุมชนมากขึ้น บางแห่งมีการจัดสรรพื้นที่สาธารณะให้กับผู้พิการเพื่อปลูกผักสร้างรายได้ บางแห่งเมื่อรวมกลุ่มแล้วยังทำให้ค้นพบผู้พิการที่มีภาวะผู้นำ เช่นที่ ชุมชนด่านช้าง
ส่วนผลพลอยได้ที่บริษัทได้รับโดยไม่คาดคิดก็คือ ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับชุมชน
“เราได้รับความร่วมมือจากชุมชนมากขึ้น มีอะไรก็คุยกันง่ายขึ้น หลายคนอาจสงสัยว่า ยุ่งยากไหมกับการทำเรื่องนี้ ไม่ยากเลย วิธีง่ายสุด คือ โรงงานของเราตั้งอยู่พื้นที่ไหน ก็แค่เดินเข้าไปในชุมชนนั้น รับรองว่าไม่มีใครไม่ยินดีต้อนรับแน่” เขาย้ำ
ด้าน นพ.อดินันท์ กิตติรัตนไพบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช ในฐานะสถานพยาบาลที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมผู้พิการและครอบครัว บอกเราว่า ยังมีผู้พิการบางกลุ่มที่อาจยังไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ซึ่งต้องพึ่งพาครอบครัวให้การดูแลอย่างใกล้ชิดและเต็มเวลา ทางโรงพยาบาลจึงได้พัฒนาโครงการสร้างงานให้กับครอบครัวผู้พิการ เช่น สนับสนุนให้ผู้พิการ และครอบครัว ช่วยกันทำตุ๊กตามาสคอตของโรงพยาบาล เพื่อให้มีรายได้เกิดขึ้น
นอกจากนี้ยังเชิญทีมแพทย์ที่มีความรู้ มาช่วยกันออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยเหลือผู้พิการให้เคลื่อนไหวได้อย่างถูกสรีระ และสร้างหมอนที่ช่วยประคองคอผู้พิการหรือผู้ป่วย เพื่อเป็นการกระตุ้นพัฒนาการผู้พิการเหล่านี้อีกด้วย
“เราพยายามให้แพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ได้มีส่วนร่วมกับน้องๆ ผู้พิการเหล่านี้ โดยใช้ศิลปะบำบัด ส่วนผลงานที่น้องๆ ผลิตออกมาก็นำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด โดยนำผลิตภัณฑ์ที่ได้ไปวางขายที่โรงพยาบาลด้วย ซึ่งมองว่าจะช่วยให้โครงการนี้เกิดความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง” เขาบอก
วรวัจน์ สุวคนธ์ ผู้บริหารสูงสุดทรัพยากรบุคคล บมจ.ไทยพาณิชย์ บอกเราว่า ที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์ ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนเฉลี่ยปีละกว่า 20 ล้านบาท แต่หลังจากปลายปีที่แล้วมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมได้เข้ามานำเสนอเกี่ยวกับการจ้างงานตามมาตรา 35 พวกเขาได้กลายเป็นองค์กรที่ให้การสนับสนุนการจ้างงานผู้พิการมากที่สุด!
“เราได้เห็นประโยชน์ ทำให้ตัดสินใจอย่างรวดเร็วในการจ้างงานคนพิการได้ครบ 213 คน ครอบคลุม 40 จังหวัดทั่วประเทศ มองว่า นอกจากได้สร้างโอกาสให้คนพิการแล้ว ยังทำให้คนในองค์กรเราเปิดมุมมองใหม่ในการมองผู้พิการ ว่า จริงๆ แล้วเขาเหล่านี้ก็เป็นเพื่อนมนุษย์เราคนหนึ่งที่ยังสามารถสร้างคุณูปการให้กับสังคมและประเทศชาติได้อีกมาก”
ปิดท้ายกับ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกว่า สสส. โดยแผนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะได้สนับสนุนแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแบบครบวงจร ภายใต้มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม โดยได้ริเริ่มและเชื่อมประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนจนเกิดการจ้างงานและส่งเสริมอาชีพคนพิการในรูปแบบดังกล่าว ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ในการจ้างงานและสร้างอาชีพแก่คนพิการ ทำให้ผู้พิการเข้าถึงโอกาสในการทำงานได้เพิ่มมากขึ้น
ด้วยพลังของ ภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ร่วมเปลี่ยนโลกการทำงานให้กับผู้พิการได้อย่างแท้จริง