'แอร์เอเชีย' รุกลงทุนดอนเมือง

'แอร์เอเชีย' รุกลงทุนดอนเมือง

"แอร์เอเชีย" ขอร่วมลงทุนพัฒนาสนามบินดอนเมือง “สมคิด” เปิดทางเจรจา ยึดประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก พร้อมสั่งทอท.พัฒนาสนามบินในภูมิภาค

แอร์เอเชียขอร่วมลงทุนพัฒนาสนามบินดอนเมือง “สมคิด”เปิดทางทอท.เจรจา ระบุยึดประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก พร้อมสั่งทอท.เจรจาพัฒนาสนามบินในภูมิภาค ด้านบอร์ดทอท.รับพิจารณาข้อเสนอ พร้อมเปิดเอกชนรายอื่นยื่นข้อเสนอ ขณะกรมท่าอากาศยานเปิดทางเอกชนร่วมพัฒนาสนามบินภูมิภาค
กลุ่มแอร์เอเชียยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนเป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทการท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือทอท. ในการพัฒนาสนามบินดอนเมือง โดยเตรียมเจรจากับทอท.ในเร็วนี้

การแสดงความสนใจลงทุนในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่นายวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ เข้าถือหุ้นใหญ่ในบมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น(AAV) โดยซื้อหุ้นจากนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา แต่ยังคงให้นายธรรศพลฐ์บริหารงานเช่นเดิม

ทั้งนี้ กลุ่มของนายวิชัยถือหุ้น 39.83% ในบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น หลังจากครบกำหนดการทำขอเสนอซื้อหลักทรัพย์ที่เหลือทั้งหมด แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้ถือหุ้นรายอื่นขายออกมา เนื่องจากการเสนอซื้อราคาต่ำกว่าราคาในตลาดหุ้น ทำให้กลุ่มแอร์เอเชียของมาเลเซียยังคงถือหุ้นใน“เอเอวี”
ความสนใจเข้าร่วมทุนในการพัฒนาสนามบินดอนเมืองในครั้งนี้ นายธรรศพลฐ์ เป็นผู้พานายโทนี่ เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มแอร์เอเชีย เข้าพบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

นายสมคิด กล่าวว่าได้หารือกับทางประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอของสายการบินแอร์เอเชียของมาเลเซีย ซึ่งเป็นสายการบินราคาประหยัด โดยแอร์เอเชียได้แสดงความสนใจร่วมลงทุนพัฒนาเป็นพาร์ทเนอร์กับทอท.ในการพัฒนาสนามบินดอนเมือง ซึ่งเข้าใจว่าการที่ไทยมุ่งไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค ทำให้เขาต้องการมาเชื่อมโยงการบินกับไทย แต่รายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น ก็ให้เจรจากับทาง ทอท.

“หากนักลงทุนต่างประเทศรายอื่นแสดงความสนใจเข้ามาขอร่วมลงทุนเหมือนกับแอร์เอเชียนั้น เราก็ต้องดูว่า เขามีศักยภาพพอหรือไม่ หากศักยภาพไม่พอก็ไม่ให้มาอยู่แล้ว เพราะประเทศไทยโดยธรรมชาติ เป็นฮับของภูมิภาค ย่อมเป็นที่สนใจของนักลงทุนอยู่แล้ว”

นายสมคิด กล่าวว่ายังมีนโยบายให้ ทอท.ไปบริหารสนามบินในภูมิภาคที่มีศักยภาพ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในการกำกับดูแลของกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม แต่กรมท่าฯไม่ได้สนใจลงทุน เพราะอาจจะติดขัดเรื่องแหล่งเงินทุน

“ก็ให้ทอท.ไปเจรจาขอร่วมพัฒนากับทางกระทรวงคมนาคม ตามยุทธศาสตร์ปั้นดินให้เป็นดาว”

ทอท.พร้อมพิจารณาข้อเสนอ

ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ ประธานคณะกรรมการ ทอท.กล่าวว่าขณะนี้ยังไม่มีการหารือถึงรายละเอียดว่าทางแอร์เอเชียต้องการเข้ามาพัฒนาส่วนใดของท่าอากาศยานดอนเมือง หรือท่าอากาศยานอื่นๆของทอท. ซึ่งเป็นเพียงการแสดงความสนใจเท่านั้น

นายประสงค์ กล่าวว่าทางทอท.ก็ยอมรับว่าหลังจากนี้จะพิจารณาข้อเสนอ และดูความพร้อมของเอกชน หากส่วนใดเป็นสิ่งดีที่จะเข้ามาช่วยให้การพัฒนาประเทศสามารถเดินหน้าได้ดี โดยทอท.พร้อมร่วมมือ

“ตอนนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดของแอร์เอเชียว่าต้องการเข้ามาลงทุนในส่วนใด แต่ถ้าจะขอเข้ามาบริหารท่าอากาศยานหรือเข้ามาร่วมพัฒนา ทอท.ก็คงจะต้องรับไว้พิจารณาแล้วไตร่ตรองว่าแนวทางใดที่จะทำให้งานเดินหน้าได้เร็วกว่ากัน เนื่องจากการลงทุนโดยภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมก็จะต้องเข้าพ.ร.บ.ร่วมทุน ซึ่งคิดว่าจะต้องใช้เวลา ในขณะที่แผนพัฒนาของทอท.ในส่วนของดอนเมืองระยะที่สามเองก็ผ่านบอร์ดไปแล้ว มีความชัดเจน และเราเองก็พร้อมลงทุน ดังนั้นหากแอร์เอเชียจะเข้ามาบริหารตอนนี้ก็ยังไม่มีเหตุ แต่อย่างไรก็จะรับทุกข้อเสนอของภาคเอกชนไว้พิจารณา”

เปิดแผนพัฒนาดอนเมืองเฟส3

ทั้งนี้ สำหรับแผนพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง จะใช้งบประมาณรวม 2.7 หมื่นล้าน แบ่งเป็นแผนระยะ 3.1 จะมีการก่อสร้างขยายลานจอดอากาศยานด้านทิศเหนือ งานปรับปรุงหลุมจอดด้านทิศเหนือ และทิศใต้ ขยายจากปัจจุบันที่มี101หลุมจอด เพิ่มขึ้นเป็น148 หลุมจอด พร้อมทั้งพัฒนากลุ่มงานอาคารผู้โดยสารและอาคารสนับสนุน เช่น งานก่อสร้างขยายอาคารเทียบเครื่องบินด้านทิศเหนือพร้อมติดตั้งสะพานเทียบ3ชุด งานปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังเดิม (อาคาร1) และก่อสร้างอาคารจังก์ชั่นเทอร์มินัล และอาคารจอดรถผู้โดยสาร ขยายศักยภาพจากรองรับจอดรถ3พันคัน เป็น8พันคัน ก่อนที่จะขยายเป็น1หมื่นคันในปี2565

ส่วนการขยายขีดความสามารถในระยะ 3.2 จะเป็นการลงทุนทางด้านอาคารสำนักงานสายการบิน การก่อสร้างอาคารจอดรถระยะยาวด้านทิศใต้ การก่อสร้างทางเชื่อมสำนักงานใหญ่ท่าอากาศยานดอนเมืองและอาคารผู้โดยสาร รวมถึงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนขนาดเบา หรือ โมโนเรล เพื่อเชื่อมต่อภายในท่าอากาศยานที่จะเชื่อมต่อจากทิศเหนือไปยังทิศใต้บริเวณคลังสินค้า และอาคารจอดรถใต้

นอกจากนี้จะมีการปรับปรุงและก่อสร้างอาคารสำนักงานสายการบิน งานก่อสร้างลานจอดเพิ่มการรองรับอีก 2 พันคัน ทางด้านทิศใต้ของสนามบินบริเวณคลังสินค้าที่ไม่ได้ใช้งาน

ทอท.ชี้เอกชนร่วมลงทุนช่วยพัฒนาเร็วขึ้น

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.กล่าวว่าในรายละเอียดคงจะต้องหารือร่วมกันก่อนว่าจะเข้ามาลงทุนในส่วนใด เพราะขณะนี้ ทอท.ได้จัดทำแผนการขยายสนามบินทั้งอาคารผู้โดยสารอาคาร1และอาคาร2หมดแล้ว ส่วนความเป็นไปได้ที่แอร์เอเชียหรือเอกชนรายอื่นจะเข้ามาร่วมลงทุนก็เป็นแนวทางที่ดีที่จะทำให้การดำเนินโครงการต่างๆ ทำได้เร็วยิ่งขึ้น และเอกชนมีเงินลงทุนมาช่วยเสริมมากขึ้นด้วย

“แต่รายละเอียดและแผนดำเนินการในส่วนใดบ้างคงต้องหารือร่วมกันก่อน”

“ธรรศพลฐ์”ชี้ขยายดอนเมืองล่าช้า

ด้านนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริการสายการบินไทย แอร์เอเชีย กล่าวว่าการเข้าไปหารือร่วมระหว่างนายโทนี่ กับนายสมคิด เป็นการแสดงความพร้อมที่จะเข้าไปสนับสนุนโครงการของรัฐบาล อีกทั้งยังได้เสนอว่าปัจจุบันสายการบินต้นทุนต่ำมีอัตราการเติบโตที่สูงมาก แต่แผนการขยายขีดความสามารถของสนามบินดอนเมืองค่อนข้างช้า จึงต้องการเร่งรัดให้ดำเนินการได้เร็วขึ้น

นายธรรศพลฐ์ กล่าวว่าแอร์เอเชียจึงเสนอถึงความพร้อมที่จะเข้าไปช่วยสนับสนุนหรือเข้าไปร่วมลงทุนกับ ทอท. เพื่อเร่งรัดผลักดันในโครงการนี้หรือจะให้เข้าไปร่วมลงทุนในรูปแบบใดก็มีความยินดี เพราะเข้าใจว่าการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจอาจมีข้อจำกัดต่างๆ และหวังว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมก็เพื่อไม่ให้ปัญหาเรื่องความแออัดของสนามบินเป็นข้อจำกัดในการดึงดูดและส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย

กรมท่าฯพร้อมเปิดเอกชนร่วมทุน

สำหรับแผนเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยาน ของกรมท่าอากาศยาน นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.)ระบุว่ามีทั้งสิ้น 28 แห่ง พร้อมทั้งจะพิจารณาหากพบว่าท่าอากาศยานใดมีศักยภาพเพียงพอจะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน

“นอกจากแผนที่จะเปิดให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาท่าอากาศยานแล้ว ยังมีแผนที่จะเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนพัฒนาพื้นที่ภายในท่าอากาศยาน เช่น อาคารจอดรถ พื้นที่เชิงพาณิชย์โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐหรือใช้เงินงบประมาณซึ่งมีข้อจำกัด อีกทั้งการร่วมงานกับภาคเอกชนก็พบว่ามีปัจจัยบวกในด้านการดำเนินงานได้รวดเร็ว และสอดคล้องกับการเติบโตธุรกิจการบินด้วย”

นายจุฬา ยังกล่าวอีกว่า ส่วนที่ ทอท.สนใจเข้ามาร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาท่าอากาศยาน เช่น ท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอน และท่าอากาศยานแม่สอด จ.ตาก ซึ่งในรายละเอียดคงจะต้องมีการหารือทั้งเรื่องของรูปแบบและแนวทางการลงทุนแต่ทั้ง2สนามบินนี้อยู่ในกลุ่มมีศักยภาพหรือเกรดบี และขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงและขยายท่าอากาศย่านแม่สอดด้วย จึงมีความเป็นไปได้ที่จะบริหารจัดการเอง