'พีอีเอ'เล็งผุดสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า 74จังหวัดในปี62
ผู้ว่าพีอีเอมอบนโยบายลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้ครบ 74 จังหวัดภายในปี 2562 โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำแผนลงทุนระยะยาว ส่วนปีนี้จะลงทุน 20-30
นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) ได้ให้นโยบายเมื่อปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาว่า พีอีเอจะลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ในพื้นที่ของพีอีเอให้ครบทั้ง 74 จังหวัด ภายในปี 2562 เพื่อตอบสนองนโยบายสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของรัฐบาล โดยปัจจุบันพีอีเอกำลังศึกษาเส้นทางและสถานที่เพื่อจัดทำแผนระยะยาว แต่การลงทุนจะเป็นอย่างไรคงขึ้นอยู่กับปริมาณยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เพราะพีอีเอมีพื้นที่ให้บริการถึง 74 จังหวัดจึงมีศักยภาพในการลงทุน
นอกจากนี้ พีอีเอได้จัดทำโครงการนำร่องเพื่อทดสอบรถโดยสารไฟฟ้า (EV) เส้นทางระยะไกล รองรับนักท่องเที่ยวระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิและพัทยา โครงการนำร่องดังกล่าวมีการติดตั้งสถานีอัดประจุ 4 แห่ง ประกอบด้วยที่สนามบินสุวรรณภูมิ พัทยา และจุดแวะพักบนมอร์เตอร์เวย์ทั้ง 2 ฝั่ง รวมถึงมีรถโดยสารร่วมทดสอบ 1 คัน ล่าสุดพีอีเอมีแผนจะเพิ่มสถานีอัดประจุไฟฟ้าเป็น 11 แห่งภายในปีนี้
"พีอีเอตั้งเป้าจะเพิ่มสถาอัดประจุไฟฟ้าอีก 7 แห่งภายในปีนี้ โดยจะติดตั้งตามห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล แหล่งท่องเที่ยว รวมถึงหัวเมืองใหญ่อย่างโคราช และอาจซื้อยานยนต์ไฟฟ้ามาทดสอบเพิ่ม เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณราว 20-30 ล้านบาท" แหล่งข่าวกล่าว
การลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้ายังเน้นซื้ออุปกรณ์มาติดตั้ง แต่พีอีเอก็เริ่มศึกษาและวิจัยเทคโนโลยีสถานีอัดประจุไฟฟ้าเมื่อ 1 ปีก่อนและปัจจุบันอยู่ในขั้นพัฒนาและต่อยอด เนื่องจากพีอีเอต้องการเป็นผู้ให้บริการในด้านนี้ อย่างไรก็ตาม การลงทุนในปัจจุบันยังให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่ามากนัก เนื่องจากราคาเครื่องอัดประจุไฟฟ้ายังอยู่ในระดับสูง ถ้าเป็นเครื่องอัดประจุแบบธรรมดา (Normal) จะอยู่ที่ 6 แสนบาท และถ้าเป็นแบบรวดเร็ว (Quick Charge) จะอยู่ที่ 1.5 ล้านบาทต่อเครื่อง ขณะเดียวกันพบว่าต้องมีรถยนต์มาเติมไฟฟ้า 24 คันต่อวันถึงคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
สำหรับเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบธรรมดาจะใช้เวลาชาร์จราว 8 ชั่วโมง ส่วนแบบรวดเร็วใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง โดยหากใช้เวลิ 15-30 นาที จะชาร์จได้ 80% ของความจุดแบตเตอร์รี่ และการชาร์จ 1 ครั้งจะต้องมีค่าใช้จ่ายราว 280 บาท