โรงงานได้รง.4 แจ้งประกอบการแล้ว 75%
"อุตสาหกรรม" เผยโรงงานได้รง.4 แจ้งประกอบการแล้ว 75% เงินลงทุน 1.3 ล้านล้าน ส่วนผู้ที่ยังไม่เปิดกิจการ มาจากเศรษฐกิจชะลอ-หาตลาดยาก
นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าผู้ประกอบการที่ได้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) มีบางส่วนยังไม่แจ้งประกอบกิจการ โดยส่วนใหญ่มาจากภาวะเศรษฐกิจ
ยอดโรงงานที่ได้ใบ ร.ง.4 แล้ว ล่าสุดตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค.2559 มีผู้ที่ได้ใบ ร.ง.4 ทั้งสิ้น 13,225 โรง เงินลงทุน 1.85 ล้านล้านบาท มีแรงงาน 5.91 แสนคน แจ้งประกอบกิจการแล้ว 9,916 โรง คิดเป็น 75% เงินลงทุน 1.3 ล้านล้านบาท แรงงาน 4.56 แสนคน และมีโรงงานที่ยังไม่แจ้งประกอบกิจการ 3,309 โรง คิดเป็น 25%เงินลงทุน 5.49 แสนล้านบาท แรงงาน 1.34 แสนคน
ทั้งนี้ โรงงานที่ยังไม่แจ้งประกอบกิจการ 3,309 โรง นั้น มีอยู่ 1,692 โรง ยังไม่ครบกำหนดแจ้งประกอบกิจการ และมีอยู่ 1,617 โรง ที่ครบกำหนดแล้วแต่ยังไม่แจ้งประกอบกิจการ
ในจำนวนที่ยังไม่แจ้งประกอบกิจการ ส่วนใหญ่มาจากปัญหาสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ขาดตลาดรองรับมากที่สุด รองลงมาเป็นการก่อสร้างโรงงานล่าช้ากว่ากำหนด , เงินทุนไม่พออยู่ระหว่างหาแหล่งเงินทุนหรือผู้ร่วมทุน , ติดปัญหานำเข้าเครื่องจักรไม่เป็นไปตามแผน และติดกฎหมายอื่นๆ เช่น อีไอเอ ป่าไม้ พลังงาน เป็นต้น
สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างโรงงานที่ครบกำหนดแล้วแต่ยังไม่แจ้งประกอบกิจการ ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และปรับปรุงอาคารโรงงาน 45% รองลงมายังไม่ได้ก่อสร้างโรงงาน 27% อยู่ระหว่างติดตั้งและทดลองเครื่องจักร 26%ไม่ระบุอีก 2% ซึ่งโรงงานเหล่านี้ ส่วนใหญ่ต้องการเงินทุนสนับสนุนสินเชื่อจากสถาบันการเงิน 47.5% รองลงมาขอขยายเวลา 9% สนับสนุนด้านตลาดเพื่อรองรับสินค้า 4% และอื่นๆ 36%
สั่งอุตฯจังหวัดทำข้อมูลเชิงลึก
นายสมชาย กล่าวว่า ได้กำชับให้อุตสาหกรรมจังหวัดทำข้อมูลภาคอุตสาหกรรมเชิงลึก เพื่อรองรับการลงทุนที่จะไหลเข้าสู่ภูมิภาคอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการมีฐานข้อมูลที่ละเอียดและถูกต้องจึงสำคัญในการวางแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมในแต่ละจังหวัด
การพัฒนาระบบข้อมูลเชิงลึกด้านเศรษฐกิจ เพื่อเตือนภัยการตัดสินใจการลงทุน ถือเป็นอีกภารกิจหนึ่งของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ในฐานะตัวแทนของกระทรวงฯในส่วนภูมิภาค ต้องศึกษา วิเคราะห์สภาวะการลงทุนอุตสาหกรรม อัตราการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตแต่ละประเภท รวมทั้งแนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ระดับจังหวัด เพื่อนำไปจัดทำนโยบายและแผนยุทธศาสตร์และนำไปใช้ปฏิบัติได้
รวมถึงรายงานการชี้นำเตือนภัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในระดับจังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นรายเดือน และไตรมาสให้ถูกต้องแม่นยำ สอดคล้องกับฐานข้อมูลรายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด ซึ่งระบบข้อมูลเชิงลึกด้านเศรษฐกิจนี้จะเป็นตัวชี้วัดภาวะเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด สำหรับให้บริการแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ผู้ผลิตอุตสาหกรรมชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ได้นำไปใช้ประโยชน์
“อุตสาหกรรมจังหวัดจะต้องเห็นโครงสร้างอุตสาหกรรมในจังหวัดของตัวเองให้ชัดเจน ต้องทราบการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมีข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งจะต้องอัพเดททุกเดือน เพื่อทีส่วนกลางจะได้รู้ และวางแผนแก้ไขปัญหาในแต่ละจังหวัดอย่างทันท่วงที เช่น อุตสาหกรรมบางจังหวัดใช้วัตถุดิบทางเกษตรกรรมในพื้นที่ จึงต้องมีข้อมูลผลผลิตการเกษตรที่ชัดเจน ให้โรงงานวางแผนการผลิตได้ถูกต้อง จัดหาวัตถุดิบนอกพื้นที่มาป้อนโรงงาน ป้องกันการลดกำลังการผลิตและการเลิกจ้างงานในช่วงขาดแคลนวัตถุดิบ” นายสมชาย กล่าว