ออมสินปิดตู้เอทีเอ็ม 3 พันเครื่องใน 6 จังหวัด

ออมสินปิดตู้เอทีเอ็ม 3 พันเครื่องใน 6 จังหวัด

ธนาคารออมสิน ปิดตู้เอทีเอ็ม ยี่ห้อเอ็นซีอาร์กว่า 3 พันเครื่อง ใน 6 จังหวัดใหญ่ หลังถูกแก๊งต่างชาติโจรกรรมเงิน 21 ตู้ สูญกว่า 12 ล้านบาท

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปิดให้บริการตู้เอทีเอ็มของธนาคารเป็นการชั่วคราวจำนวนกว่า 3 พันเครื่อง หลังตรวจสอบพบว่า มีการโจรกรรมเงินจากตู้เอทีเอ็ม 21 เครื่อง เป็นเงินประมาณ 12.29 ล้านบาท โดยตู้เอทีเอ็มที่ปิดไปทั้งหมดเป็นยี่ห้อNCR ซึ่งเป็นยี่ห้อที่มีการโจรกรรมทั้งหมด

“เราได้ปิดให้บริการตู้เอทีเอ็มยี่ห้อNCRบางส่วนเป็นการชั่วคราว หลังพบเงินของธนาคารที่ใส่ในเครื่องเอทีเอ็มนั้นหายไป ระหว่างวันที่ 1-8 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่เงินที่หายไป ไม่ใช่เงินของลูกค้า จึงไม่กระทบบัญชีของลูกค้า ส่วนจะเปิดให้บริการตู้เอทีเอ็มที่ปิดไปเมื่อใด ต้องขึ้นอยู่กับการแก้ไขระบบของผู้ผลิต”

ทั้งนี้ ธนาคารได้ทำการตรวจสอบพบว่า เครื่องเอทีเอ็ม 1 ใน 3 ยี่ห้อที่ธนาคารใช้อยู่ มีเงินในเครื่องหายไป โดยเริ่มแรกพบว่า มีจำนวน 5 เครื่อง ที่เงินหายไป 9.6 แสนบาท จึงได้ตัดสินใจปิดเครื่องยี่ห้อนี้ทุกเครื่อง เพื่อสำรวจเงินทั้งหมดร่วมกับเจ้าของเครื่องและตรวจสอบวิเคราะห์สาเหตุที่เกิดขึ้น

เผยใช้โปรแกรมมัลแวร์โจรกรรมเงิน

ล่าสุดได้รับแจ้งจากบริษัทเจ้าของเครื่อง ซึ่งอยู่ในประเทศสกอตแลนด์ ว่า เป็นลักษณะการโจรกรรมเงินในกล่องเงินเครื่องเอทีเอ็ม เฉพาะที่ติดตั้งนอกสถานที่ (Stand Alone) โดยใช้โปรแกรม Malware ซึ่งธนาคารอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขให้เครื่องมีความปลอดภัยก่อนเปิดให้บริการ และ ระหว่างนี้ ธนาคารได้เปิดบริการในจุดติดตั้งที่มีความปลอดภัยเครื่อง เช่น ในบริเวณสาขาของธนาคารและในห้างสรรพสินค้า โดยมีตู้เอทีเอ็มโดยรวมที่เปิดให้บริการประมาณ 4 พันเครื่อง

แจ้งตร.เงินในตู้หาย 6 จังหวัดใหญ่

ธนาคารได้เข้าแจ้งความกับตำรวจในทุกพื้นที่ที่พบว่า มีเงินในเครื่องเอทีเอ็มหายไป ประกอบด้วย ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต 6 ตู้ จ.สุราษฎร์ธานีจำนวน 4 ตู้ จ.ชุมพรจำนวน 2 ตู้ จ.ประจวบคีรีขันธ์ 2 ตู้ จ.เพชรบุรี2 ตู้ และ กรุงเทพมหานครจำนวน 5 ตู้ เบื้องต้นทางตำรวจแจ้งว่า ผู้ที่เข้าทำการโจรกรรมเป็นชาวต่างชาติจากยุโรปตะวันออกมีลักษณะเหมือนแขกขาว โดยจะสืบต่อว่า เป็นแก๊งเดียวกันกับแก๊งที่เคยโจรกรรมในไต้หวันและญี่ปุ่นหรือไม่

สำหรับขั้นตอนการโจรกรรม เบื้องต้นพบว่า กลุ่มคนร้ายได้ทำการเจาะข้อมูลเข้าไปในตัวเครื่องเอทีเอ็ม และ ใช้บัตรเอทีเอ็มของตนเองใส่เข้าไปตู้ เพื่อทำการถอนเงินออกจากตู้ โดยสามารถเข้าไปเชื่อมต่อระบบและสั่งให้เครื่องเอทีเอ็มจ่ายเงินได้ถึงครั้งละ 4 หมื่นบาท แม้ว่า ธนาคารจะตั้งระบบให้จ่ายเงินได้ครั้งละ 2 หมื่นบาทก็ตาม

อย่างไรก็ดี ความชัดเจนในทางเทคนิคนั้น ธนาคารอยู่ระหว่างตรวจสอบกับผู้ผลิตเครื่องเอทีเอ็มดังกล่าว

ส่วนสาเหตุที่สันนิษฐานว่า เหตุใดกลุ่มโจรกรรมดังกล่าวจึงเจาะจงเฉพาะตู้เอทีเอ็มของออมสิน เข้าใจว่า เนื่องจาก ธนาคารเองเป็นผู้ใช้บริการตู้เอทีเอ็มยี่ห้อนี้ถึง 4 พันตู้ จาก 1 หมื่นตู้ทั่วประเทศ ซึ่งถือว่า ธนาคารใช้ตู้เอทีเอ็มยี่ห้อนี้จำนวนมากกว่าแบงก์อื่นๆ

จี้เจ้าของเครื่องต้องทำระบบป้องกันขู่เลิกใช้บริการ

ด้านความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น กำลังเจรจากับเจ้าของตู้ในเรื่องความรับผิดชอบดังกล่าว เนื่องจาก เป็นการโจรกรรมจากระบบของตู้ ถือเป็นกรณีแรกในโลกที่มีการโจรกรรมในลักษณะนี้ ไม่เกี่ยวกับระบบของธนาคาร และหลังจากนี้ เจ้าของตู้จะต้องทำระบบป้องกัน หากทำได้ เราก็คงจะใช้บริการนี้ต่อไป และ จะต้องทำประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นไปอีกทางหนึ่งด้วย

กรณีดังกล่าวถือว่า สามารถปิดความเสียหายได้เร็ว และได้แจ้งประสานไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อแจ้งเตือนไปยังสถาบันการเงินอื่นที่ให้บริการตู้เอทีเอ็มยี่ห้อดังกล่าวที่มีอยู่อีกประมาณ 6 พันตู้ทั่วประเทศ

ระหว่างที่ปิดให้บริการตู้เอทีเอ็ม ลูกค้าสามารถใช้บริการตู้เอทีเอ็มได้ทุกธนาคารในเขตพื้นที่เดียวกัน ไม่เสียค่าธรรมเนียมตลอดเวลาที่ปิดบริการดังกล่าว

นายชาติชาย ย้ำว่า เหตุโจรกรรมดังกล่าวจะไม่กระทบความเชื่อมั่นการใช้ระบบพร้อมเพย์ เนื่องจาก เป็นคนละระบบกัน โดยพร้อมเพย์เป็นระบบการรับเงิน แต่การโจรกรรมที่เกิดขึ้น เป็นระบบการจ่ายเงินออก ไม่สามารถเจาะเข้าไประบบหลักหรือระบบฮาร์ดแวร์ของธนาคารและลูกค้าได้